อมรรัตน์ ล้อถิรธร.......รายงาน
ความแตกแยกในประเทศ ไม่เพียงเห็นได้จากการ “เลือกข้าง”ของประชาชนว่าเลือกที่จะยืนอยู่ข้างสีใด “เหลือง” หรือ “แดง” ซึ่งก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคลที่จะมีอุดมการณ์ตรงกับฝ่ายไหน และเลือกที่จะแสดงออกมากน้อยเพียงใด กล่าวเฉพาะ “นักวิชาการ” แม้มีสิทธิที่จะเลือกข้าง แต่การแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใดสีใด ย่อมต้องพึงตระหนักถึงเหตุผลและข้อเท็จจริงเป็นสำคัญด้วย หาไม่แล้ว ย่อมไร้น้ำหนัก-ขาดความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการที่ไม่กล้าเผยตัวว่าตนอยู่สีใด แต่พยายามใช้ “ความเอียงข้าง”นั้นไปดิสเครดิตคนอีกสีหนึ่ง แถมใส่ร้ายว่า “สื่อมวลชน”ไม่เป็นกลาง-เข้าข้างสีตรงข้าม ...นักวิชาการท่านนี้ ไม่เพียงส่อว่าผูกขาดการเลือกข้าง แต่ยังพาลยุให้ยุบ “คณะนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน”ทิ้ง เพื่อไม่ให้มีสื่อมวลชนที่ไม่ได้ดั่งใจตนด้วย
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ไม่ว่าสื่อมวลชนจะทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม หรือเป็นกระบอกเสียงของประชาชน หรือนำข้อเท็จจริงข่าวสารมาสู่ประชาชนก็ตาม แต่สื่อมวลชนก็เป็นวิชาชีพหนึ่งที่พึงยึดมั่นในจรรยาบรรณ และต้องพร้อมถูกตรวจสอบหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม และพึงรับฟังข้อติติงนั้นๆ หากผู้วิพากษ์วิจารณ์กระทำโดยบริสุทธิ์ใจ-ไร้อคติ
เมื่อต้นสัปดาห์ มีนักวิชาการสายนิติศาสตร์ชื่อดังท่านหนึ่ง ออกมาเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชนค่อนข้างรุนแรง แต่แฝงด้วยอคติ นักวิชาการท่านนี้ก็คือ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง โดยเฉพาะยุคที่มีทั้ง “เสื้อเหลือง-เสื้อแดง” ย่อมทราบดีว่า อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ท่านนี้ มีจุดยืนอยู่ข้างสีใด? จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า อ.สมชายไม่ใช่ผู้ที่ยืนอยู่ตรงกลางหรือไม่เลือกข้างฝ่ายใด ซึ่งก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกข้างได้ แต่ปัญหาก็คือ อ.สมชาย ได้ใช้ “ความเอียงข้าง” ในทางไม่เหมาะสม ด้วยการเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นบนพื้นฐานแห่งอคติและความเอียงข้าง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่ได้มีโอกาสชี้แจงในบทความของอาจารย์
บทความที่ว่าก็คือ “สื่อสร้างมวลชน” ที่ อ.สมชายเขียนลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเนื้อหามุ่งโจมตีการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ซึ่งอาจารย์บอกว่า ไม่ใช่เอเอสทีวีหรือดีสเตชั่น เพราะทั้งสองสถานีต่างเป็นกระบอกเสียงของแต่ละฝ่ายอยู่แล้ว แต่กำลังพูดถึง “โทรทัศน์ที่มักอวดอ้างตัวเองว่า มีความเป็นกลางและเป็นมืออาชีพ” แม้อาจารย์ไม่กล้าหาญพอที่จะบอกชื่อโทรทัศน์ช่องนั้นตรงๆ แต่สังคมก็น่าจะทราบดีว่าหมายถึง “ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ” หรือไทยพีบีเอสเดิมนั่นเอง!
เนื้อหาโดยรวมของบทความของ อ.สมชาย นอกจากตำหนิว่าทีวีสาธารณะช่องนี้เลือกปฏิบัติในการรายงานข่าว เพราะมีจุดยืนเอียงข้างกลุ่มเสื้อเหลือง ไม่ค่อยนำเสนอข่าวของกลุ่มเสื้อแดง มุ่งเสนอด้านลบของกลุ่มเสื้อแดงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นตราบาปของกลุ่มเสื้อแดงว่าชอบใช้ความรุนแรงหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองแล้ว ยังกล่าวหาว่าสื่อมวลชนเอาแต่เสนอข้อมูลจากภาครัฐด้านเดียว ไม่ให้โอกาสฝ่ายอื่น ประเด็นที่ดูจะรุนแรงที่สุด ก็คือ การที่ อ.สมชายตบท้ายบทความว่า “ถ้าสื่อมวลชนทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าแต่งหน้าสวย...คอยเป็นกระบอกเสียงให้เจ้าหน้าที่รัฐ การยกเลิกคณะนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนที่มีอยู่เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองทิ้งไป ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่แวดวงสื่อมวลชนแต่อย่างใดมิใช่หรือ”
เพื่อความเป็นธรรมที่ อ.สมชายและมติชนไม่ได้ให้โอกาสสื่อมวลชนหรือนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์มาสะท้อนความคิดว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่ อ.สมชายวิพากษ์วิจารณ์สื่อหรือไม่ วิทยุ ASTV ผู้จัดการขอเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ท่านหนึ่ง คือ อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นในประเด็นเดียวกับที่ อ.สมชายกล่าวหาสื่อ แล้วลองพิจารณาดูว่า เหตุผลของอาจารย์ท่านใดน่ารับฟังและเป็นเหตุเป็นผลมากกว่ากัน
เริ่มด้วยกรณีที่ อ.สมชาย ระบุว่า ตอนกลุ่มเสื้อเหลืองชุมนุม สื่อมวลชนเข้าไปทำสารคดีให้เห็นภาพผู้ชุมนุมตั้งแต่ตื่นนอน รวมทั้งกิจกรรมในแต่ละวัน ทำให้เห็นภาพด้านบวกของผู้ชุมนุมว่าสันติ-ไม่มีความรุนแรง แต่เวลากลุ่มเสื้อแดงชุมนุม ไม่เพียงกลุ่มเสื้อแดงจะถูกสื่อมองว่าเป็นม็อบรับจ้างที่ไม่มีความรู้เพียงพอ แต่สื่อยังไม่มีการเสนอข่าวให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของกลุ่มเสื้อแดงอย่างที่เคยเสนอข่าวกลุ่มเสื้อเหลือง
ซึ่งประเด็นนี้ อ.อนุสรณ์ มองว่า สื่อมวลชนน่าจะพิจารณาได้ว่า ควรเสนอข่าวการชุมนุมอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจและใช้ความรุนแรง อ.อนุสรณ์ ยังถามกลับ อ.สมชายด้วยว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงเป็นไปแบบสันติจริงหรือไม่?
“จริงๆ แล้ว อ.สมชายก็ควรจะต้องตั้งคำถามกลับไปว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นเป็นการเคลื่อนไหวแบบสันติ ...ด้วยความสันติอย่างแท้จริงหรือไม่ ถ้าย้อนกลับไปดู เราก็คงจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงหรือแกนนำของกลุ่มเสื้อแดงเนี่ย ก็ล้วนแล้วแต่มีความเคลื่อนไหวที่เป็นไปในทางที่รุนแรงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบุกบ้านป๋าเปรม การเคลื่อนไหวไปบุกกลุ่มพันธมิตรฯ ความจริงแล้ว ถ้ามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ต่างฝ่ายต่างชุมนุมอยู่คนละที่ ผมคิดว่ามันก็คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ...ซึ่งผมคิดว่าสื่อมวลชนเองเขาก็แนวคิดมีทัศนคติ มีการประเมินว่า การนำเสนอดังกล่าวนั้น สื่อจะเป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ อย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าการเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยความไม่บริสุทธิ์ ไม่ยุติธรรมแล้ว ผมว่าสื่อเองก็อาจจะไม่นำเสนอข่าวก็ได้ ผมคิดว่ามันอยู่ในอัตวินิจฉัยของสื่อเองว่าเป็นไปอย่างไร”
ส่วนกรณีที่ อ.สมชาย ระบุว่า ตอนที่มีการใช้ความรุนแรงของกลุ่มเสื้อแดงบางส่วนในการเผารถเมล์ หรือทำร้ายบุคคลบางคน ซึ่งก็เหมือนกับที่กลุ่มเสื้อเหลืองมีการใช้ความรุนแรงในหลายครั้งหลายคราว แต่สังคมกลับได้เห็นแต่ภาพกลุ่มเสื้อแดงถูกสื่อนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นภาพประทับให้กับกลุ่มเสื้อแดงว่าเป็นพวกที่ใช้ความรุนแรง โหดร้าย และต้องการสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมืองนั้น อ.อนุสรณ์ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นว่าสื่อมวลชนไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือเข้าข้างกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ อ.สมชายอาจมีอคติกับกลุ่มเสื้อเหลืองเกินไป
“ผมคิดว่า อ.สมชายคงจะมีอคติกับกลุ่มเสื้อเหลืองมากเกินไป เพราะถ้าหากเราจะย้อนกลับไปดูเนี่ย ในช่วงที่พันธมิตรฯ ได้บุกเข้าไปที่เอ็นบีทีเนี่ย เราจะเห็นว่าสื่อโทรทัศน์ที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น พวกช่อง 11 อะไรต่างๆ จะนำเสนอจน ผมไม่แน่ใจว่านำเสนอกี่วันตอนนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นน่ะ ซึ่งผมคิดว่า ความรุนแรงดังกล่าว ในทัศนะของสื่อที่มีอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวตรงนั้นเนี่ย ก็ไม่มีการเผาบ้านเผาเมือง ไม่มีการไปทำให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อนอะไรมากมายตรงนั้น ก็จะมีในเรื่องของการเดินไปตามถนน เพียงแต่ว่าอาจจะบุกเข้าไปในส่วนของเอ็นบีที ซึ่งผมคิดว่า สื่ออาจจะคิดว่าเป็นความรุนแรงที่สุด แต่สื่อเองก็ได้นำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะฉะนั้นผมว่า ประเด็นในเรื่องของ กรณีของการนำเสนอของข่าวโทรทัศน์ เฉพาะในส่วนของการนำเสนอเสื้อแดงเนี่ย คือเสื้อแดงเนี่ย มันไม่ใช่มีที่เดียว คือมันมีหลายเหตุการณ์มาก นับตั้งแต่ปิดถนน นับแต่เหตุการณ์เอารถแก๊สเข้าไปทำให้ชาวบ้านดินแดงเดือดร้อน มีการไปเผารถเมล์ตรงจุดนั้น เผารถเมล์ที่จุดนี้ มีการบุกเข้าไปในมัสยิด ซึ่งมันมีหลายเหตุการณ์ เพราะฉะนั้นในเรื่องของหลายเหตุการณ์ ผมว่ามันก็สามารถที่จะนำเสนอในแต่ละเหตุการณ์ได้ ซึ่งถ้าจะเทียบกับพันธมิตรฯ ถ้าจะมองดูในเรื่องของเอ็นบีที ก็มีการนำเสนอซ้ำของสื่ออยู่แล้ว แต่ในส่วนของที่อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปในส่วนของสนามบิน ด้านหน้าสนามบินเนี่ย สื่อก็มีการนำเสนอทุกวันอยู่แล้ว มีการประท้วงมีอะไรต่างๆ ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่สื่อเขาก็ดำเนินการ ผมคิดว่ามันคงจะไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ กับกลุ่มของเสื้อแดง”
ส่วนกรณีที่ อ.สมชาย ตำหนิสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อที่ประโคมว่าตัวเองเป็นสื่อสาธารณะ แต่กลับนำเสนอข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐด้านเดียว ไม่นำเสนอข้อมูลของฝ่ายที่ตกเป็นจำเลยของสังคม และฝ่ายที่เห็นต่างนั้น อ.อนุสรณ์ ก็ไม่เห็นด้วยกับ อ.สมชายเช่นกัน โดยยืนยันว่า ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ หรือไทยพีบีเอสเดิมนั้น ถือว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายมากพอสมควร ซึ่ง อ.สมชายเองก็น่าจะทราบดี เพราะได้รับเชิญไปออกรายการมากที่สุด
“ผมคิดว่าไทยพีบีเอสเนี่ยเป็นสถานีที่ค่อนข้างจะให้โอกาสกับทุกฝ่ายพอสมควร ในที่ชุมนุมเสื้อแดงในวันนั้น ถ้าหากว่า อ.สมชายยังจำได้เนี่ย จตุพรเนี่ยขึ้นไฮปาร์คบนเวทีในตอนเช้าของวันที่ 14 ก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุมเนี่ยว่า เขาติดต่อไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ แต่ปรากฏว่าช่องที่เอาเสียงเขาไปออกอากาศ โฟนอินเข้าไปเนี่ย มีช่องเดียวนะคือไทยพีบีเอส แล้วในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าทางสถานีไทยทีวี(ไทยพีบีเอส)ก็เป็นสถานีหนึ่งที่เชิญ อ.สมชายไปออกอากาศร่วมรายการมากที่สุด ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์เองก็คงได้แสดงความคิดเห็นต่างๆ ไปนำเสนอ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า คือถ้าเทียบกันในเรื่องของสถานีไทยทีวีกับช่อง 11 แล้ว ผมคิดว่าไทยทีวีเองค่อนข้างจะให้โอกาสกับทุกกลุ่มในการที่จะไปแสดงความคิดเห็น ซึ่งในส่วนของไทยทีวีเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มที่ตรงกันข้ามกับเสื้อแดง ก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเอากลุ่มนี้มาทำไมอะไรทำนองนั้น เช่นเดียวกัน อีกกลุ่มหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเอาเสื้อเหลืองมาทำไมทำนองนั้น ซึ่งผมเองคิดว่าสื่อเองก็จะโดนทั้งขึ้นทั้งล่องพอสมควร"
"แล้วในขณะเดียวกัน ผมคิดว่า สื่อมวลชนเอง ถ้าหากว่าเราดูบทบาทสื่อโทรทัศน์หลายๆ ช่อง โดยเฉพาะรายการข่าวนะ ไม่พูดถึงรายการอื่น ผมคิดว่ามันคงจะในเรื่องของข้อมูลต่างๆ ที่มีการตั้งคำถามเนี่ย ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของกรณีมีคนตาย ผมว่าสื่อเองก็ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร ไปสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น บอกว่ามีการไปเผาศพที่วัดสุ่น ที่ลาดพร้าวเนี่ย สื่อเองก็ไปสัมภาษณ์ในส่วนของเจ้าอาวาส ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง ทายาทของคนตาย ก็ได้ติดตามเรื่องนั้น รวมทั้งเรื่องกรณีมัสยิด ก็มีการสัมภาษณ์คนที่อยู่ในชุมชนแห่งนั้นว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งกรณีของนางเลิ้ง ก็มีการติดตามข้อมูลข่าวสารกันพอสมควร หรือกรณีที่มีการประชุมสภาในกรณีที่พรรคไทยรักไทยเขากรณีที่มีการทำร้ายหญิงเสื้อแดง ในที่สุดก็ทราบกันว่า ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร ใครทำใครก่อน และกลุ่มที่ทำเป็นใคร หรือในกรณีของ บอกว่าทหารจับคนจากรถเมล์ และมีเสียงปืน ขณะเดียวกันคนขับรถเมล์ก็ล้มคว่ำลง แต่ปรากฏว่ามีช่างภาพช่องหนึ่งไปจับภาพได้ว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ตายไปตามนั้น ซึ่งผมคิดว่าสื่อเอง ในสถานการณ์เช่นนี้ ส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเรื่องของสื่อบางช่องทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดีพอสมควร”
ส่วนที่ อ.สมชาย สรุปทิ้งท้ายบทความว่า ถ้าสื่อมวลชนไทยทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าแต่งหน้าสวย แต่งกายภูมิฐาน พูดจาสุภาพ น้ำเสียงชัดเจน คอยเป็นกระบอกเสียงของเจ้าหน้าที่รัฐ การยกเลิกคณะนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนที่มีอยู่เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองทิ้งไป ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่แวดวงสื่อมวลชนแต่อย่างใดมิใช่หรือ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำพูดดังกล่าวนอกจากจะกระทบต่อผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนแล้ว ยังน่าจะสะเทือนถึงสถาบันหรือนักวิชาการที่สอนด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่ง อ.อนุสรณ์ ในฐานะนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ก็ได้พยายามอธิบายให้ความรู้ความเข้าใจแก่ อ.สมชาย ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านนิติศาสตร์ แต่อาจไม่มีความเข้าใจด้านนิเทศศาสตร์เพียงพอ พร้อมแนะว่า แทนที่จะยกเลิกคณะนิเทศศาสตร์ตามแรงอคติของ อ.สมชาย น่าจะยกเลิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน(อ.สมชาย เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)มากกว่า
“ในส่วนของ อ.สมชายเองเนี่ย ผมคิดว่าก็คงจะมองเหตุการณ์เรื่องราวที่มันเกิดขึ้น มองว่าเป็นเรื่องราวของนักนิเทศศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งผมคิดว่าถ้าเป็นนักวิชาการยังไม่เข้าใจว่า เรื่องราวจริงๆ แล้ว คือจริงๆ แล้วในแวดวงของสื่อสารมวลชนเนี่ย มันแบ่งออกเป็นหลายส่วน ส่วนที่ 1 เลยคือพวกนักข่าว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักนิเทศศาสตร์ ไปทำงาน แต่ส่วนที่สำคัญที่สุด ก็คือในเรื่องของสถานี นโยบายสถานี ว่าควรจะเป็นไปในรูปแบบไหน อย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นนักนิเทศศาสตร์ ซึ่งนักนิเทศศาสตร์แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มเหลือเกิน อาจจะจบมาทางด้านโฆษณาก็ได้ อาจจะจบมาทางด้านวารสารศาสตร์ก็ได้ จบทางด้านวิทยุกระจายเสียงโทรทัศน์ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วในแวดวงของกลุ่มผู้บริหารสถานีโทรทัศน์หรือกลุ่มทุนจริงๆ แล้ว ไม่ใช่นักนิเทศศาสตร์นะ กลุ่มทุนจริงๆ แล้วมักจะจบมาในด้านอื่น อาจจะเป็นนักกฎหมายบ้าง อาจจะจบมาในด้านของบริหารบ้างทำนองนั้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าหากอาจารย์ยังแสดงความคิดเห็นที่มองคณะนิเทศศาสตร์ในทางอคติเช่นนี้ ผมคิดว่าควรยกเลิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนดีกว่านะ”
อ.อนุสรณ์ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้าดูจากจุดยืนของ อ.สมชายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จะทราบดีว่า จุดยืนของ อ.สมชายอยู่ด้านไหน ดังนั้น คิดว่า อ.สมชายควรจะประกาศตัวอย่างชัดเจนไปเลยว่าตัวเองอยู่ฝ่ายไหน เพื่อที่เวลาออกมาวิพากษ์วิจารณ์อะไร สังคมจะได้ไม่สับสน!!