xs
xsm
sm
md
lg

“รอยเตอร์” วิเคราะห์อนาคตการเมืองไทย “มาร์ค” แรงขึ้นหรือ “กลุ่มทักษิณ” ฟู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา
เอเจนซี - วิกฤตการเมืองไทยปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ หลังผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ระดมมวลชนขัดขวางการประชุมผู้นำอาเซียนและคู่เจรจา ก่อนจะลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุจลาจลกลางเมืองหลวง จนส่งผลให้มีชาวบ้านที่ไม่พอใจพวกเสื้อแดงเสียชีวิต 2 ราย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ก่อนที่การชุมนุมประท้วงบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล ซึ่งยืดเยื้อนานถึง 3 สัปดาห์ จะยุติลงอย่างสงบในวันอังคาร (14)

แอนดริว มาร์แชล จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้ลองสมมติฉากเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อจากนี้ไป ตลอดจนผลพวงต่างๆ ต่อตลาดการลงทุน โดยผู้สื่อข่าวด้านความเสี่ยงทางการเมืองในแถบเอเชียของรอยเตอร์ผู้นี้ เสนอความเป็นไปได้รวม 5 แบบด้วยกัน ดังต่อไปนี้

***อภิสิทธิ์จะอยู่รอด แต่ชาติบ้านเมืองยังคงสับสนอลหม่าน****

มาร์แชล ระบุว่า รัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ ไม่ได้รับอาณัติการปกครองประเทศด้วยชัยชนะจากการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดปัจจุบันถูกจัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ภายหลัง “กลุ่มเสื้อเหลือง” จัดชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านรัฐบาลและปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมๆ กับที่ศาลตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งกุมอำนาจบริหารอยู่ในตอนนั้น

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ ก็สามารถแคล้วคลาดจากการลงมติไม่ไว้วางใจในสภาเมื่อเดือนก่อนได้อย่างสบาย และแม้ว่าการต้องยกเลิกการประชุมผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาที่พัทยา จะสร้างความอับอายขายขี้หน้าให้กับผู้นำไทยผู้นี้ แต่ นายอภิสิทธิ์สามารถกอบกู้ความมั่นใจ ด้วยการใช้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างค่อนข้างสันติวิธี นำความสงบสุขกลับคืนสู่เมืองหลวง

นี่เป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันน่าจะกุมอำนาจต่ออีกระยะหนึ่ง แต่กลุ่มเสื้อแดงน่าจะยังไม่ล้มเลิกความพยายามในการขัดขวางรัฐบาลชุดปัจจุบันและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่

สถานการณ์ที่พอจะเป็นไปได้มากที่สุด อย่างที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อ คือ รัฐบาลที่เปราะบางชุดนี้ ซึ่งมีภาระอันหนักอึ้งในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก จะต้องล้มลุกคลุกคลานเนื่องจากเหตุความวุ่นวายทางการเมืองรุมเร้า

“วิกฤตที่หยั่งรากลึกเช่นนี้ ยืดเยื้อมาถึง 3 ปีแล้ว และแม้กลุ่มเสื้อแดงจะยอมยุติการชุมนุม แต่พวกเขายังไม่ล้มเลิก พวกเขาไม่ยอมแพ้” แดนนี ริชาร์ดส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนส์ ยูนิต ในนครลอนดอนของอังกฤษ กล่าว

ไทยจะถดถอยต่อไปจนตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน ในฐานะของประเทศน่าลงทุน สำหรับเงินบาทจะอ่อนค่า ส่วนตลาดหุ้น ซึ่งในปีนี้มีผลประกอบการย่ำแย่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะยังคงถูกฉุดรั้งด้วยความเสี่ยงทางการเมือง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของภาครัฐ และพวกนักวิเคราะห์ความเสี่ยง ต่างกำลังลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย

***รัฐบาลอภิสิทธิ์กอบโกยคะแนนความนิยม***

ความเป็นไปได้ที่ลดต่ำลงมา คือ รัฐบาลปัจจุบันหยิบฉวยเอาช่วงจังหวะเวลาภายหลังยุติความไม่สงบได้ในสัปดาห์นี้ แล้วสามารถรวบรวมดึงความนิยมจากประชาชน ทั้งนี้ ประชาชนชาวไทยจำนวนมากต่างรู้สึกปวดใจกับวิกฤตการเมืองในประเทศ และถวิลหารัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและมั่นคง

หากประชาชนจำนวนมากพอยอมให้โอกาสนายกฯ อภิสิทธิ์ สักครั้ง ขณะเดียวกับที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ต้องเสียหน้าอย่างหนัก หลังการประท้วงของกลุ่มเสื้อแดงล้มเหลว รัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ น่าจะเริ่มดูเปราะบางและอ่อนแอน้อยลง

สัญญาณต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่า นายกฯ คนปัจจุบัน กำลังขยายขอบข่ายคะแนนความนิยม จะส่องสว่างความหวังและสร้างความมั่นใจให้กับตลาดหุ้นและค่าเงินบาท โดยหาก นายอภิสิทธิ์ จัดการเลือกตั้งใหม่ และได้รับเลือกตั้งกลับมาด้วยอาณัติที่แข็งแกร่ง ย่อมจะเป็นปัจจัยด้านบวกกับตลาด นักวิเคราะห์บอก

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) มองว่า ทิศทางอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ซึ่งถูกจัดให้เป็น “ลบ” อยู่ในเวลานี้ อาจพลิกผันสู่ระดับ “เสถียรภาพ” ได้ “หากความมั่นใจของนักลงทุนมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยน่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเครื่องบ่งชี้ว่า สถานการณ์การเมืองไทยกำลังกลับคืนสู่ความสมดุลอย่างยั่งยืน”

ก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีคลัง (นายกรณ์ จาติกวณิช) กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้รัฐบาลจะขยายแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกอบกู้ความมั่นใจทั้งภายในและนอกประเทศ โดยหากเม็ดเงินจำนวนมากพอถูกหล่อเลี้ยงไปยังโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวชนบท รัฐบาลอาจได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

และจากที่ไอเอ็มเอฟและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างกล่าวว่า ไทยสามารถกู้ยืมเงินอีกมากมายอย่างไม่ต้องวิตกกังวล ดังนั้น การวางนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างชาญฉลาดย่อมจะช่วยให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้รับสนับสนุนมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการรับมือต่อสู้กับผลกระทบของวิกฤตทางการเงิน

**ฝ่ายสนับสนุนทักษิณอาจกลับมามีอำนาจอีกครั้ง***

ด้วยแรงสนับสนุนอย่างไม่ขาดสายต่ออดีตนายกฯ ทักษิณ ในหมู่คนยากจน พรรคการเมืองต่างๆ ที่สนับสนุนอดีตผู้นำ อาจกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งใหม่ หากนายกฯ อภิสิทธิ์ คำนวณผิดพลาด หรือถูกบีบให้จัดการเลือกตั้งก่อนเวลาอันเหมาะสม และหากเป็นเช่นนั้น แน่นอนว่า ฝ่ายทหาร, ตุลาการ และผู้ประท้วงกลุ่มเสื้อเหลือง จะลุกขึ้นมาพยายามใหม่เพื่อโค่นล้มรัฐบาล

ผลที่ตามมาอาจเกิดการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร, ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อเหลืองอาจชุมนุมประท้วง และการเข้ามาเกี่ยวข้องของฝ่ายตุลาการอีกครั้ง ซึ่งน่าจะสร้างความแค้นเคืองและโกรธแค้นมากว่าที่เคยเป็นมา

การพัฒนาไปในแนวทางเช่นนี้ จะส่งผลย่ำแย่อย่างมากต่อเงินบาทและตลาดหุ้น การลงทุนทั้งภายในและภายนอกจะยิ่งทรุดโทรมลงอีก และความน่าเชื่อถือของประเทศจะถูกลดอันดับลงอย่างแน่นอน ประเทศไทยจะติดอยู่กับวังวนของวิกฤตการเมือง ขณะที่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมีแต่จะคว้านลึกยิ่งขึ้น

***ผุด “รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ” ***

พวกนักวิเคราะห์ มองว่า มีโอกาสเพียงน้อยนิดที่ รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติบางรูปแบบ จะจัดตั้งขึ้นมาได้ท่ามกลางวิกฤตการเมืองขณะนี้

ทิศทางดังกล่าวพอมีทางเป็นไปได้ หากนายกฯอภิสิทธิ์ ยอมบรรลุข้อตกลงอย่างใดอย่างหนึ่งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกผู้สนับสนุน บางทีอาจเป็นการเสนอยุติการดำเนินคดีคอร์รัปชั่น และยอมให้อดีตผู้นำกลับประเทศ หลังต้องลี้ภัย แต่นายกฯ คนปัจจุบันได้กล่าวเอาไว้แล้วว่า จะไม่ยอมเจรจาต่อรองกับปรปักษ์ทางการเมืองที่ตามราวีไม่ยอมเลิกราผู้นี้

ทางเลือกอีกอย่าง คือ อาจมีคนกลางทางการเมืองที่มีบารมี เข้ามามาเจรจาสร้างความประนีประนอมในหมู่ฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางออกนี้ดูเหมือนจะยังห่างไกลนัก

คริสทินา คอซมี นักวิเคราะห์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ในนครลอนดอน กล่าวว่า การกลับคืนสู่เสถียรภาพในระยะยาวของประเทศ จำเป็นต้องมีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่างๆ เปราะบางมากจนถูกโค่นล้ม โดยกฎหมู่

อย่างไรก็ตาม การตกลงสร้างความประนีประนอมภายในชาติลักษณะเช่นนี้ ยังต้องบรรลุถึงบทบาทอันเหมาะสมของทหารและสถาบันด้วย

***พระเจ้าอยู่หัวทรงคลี่คลายความขัดแย้ง***

คนกลางที่สามารถสร้างความสามัคคีเป็นเอกภาพขึ้นมา มีเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทยไม่ว่าจะมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร

แต่ขณะที่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงเป็นที่เทิดทูน บทบาทของสถาบันในการเมืองไทยก็เป็นประเด็นปัญหาที่สร้างความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งด้วย ในระหว่างวิกฤตคราวนี้
ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศไทยยึดพาสปอร์ตของนช.ทักษิณ ชินวัตร ทุกเล่มแล้ว
กรุงเทพฯกลายเป็นสนามรบหลังกลุ่มเสื้อแดงก่อจลาจล
กำลังโหลดความคิดเห็น