xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจรัฐอ่อนแอ : เหตุให้ทักษิณเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ถ้าผู้อ่านย้อนไปดูเหตุอ้างในการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็จะพบว่ามีเนื้อหาสาระสรุปได้ว่ารัฐบาลในขณะนั้นมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบให้แก่ตนเองและพวกพ้อง ทำสังคมแตกแยก แทรกแซงสื่อ และจาบจ้วงเบื้องสูง

แต่วันนั้นถึงวันนี้ เหตุอ้างที่ว่านี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดสิ้นไป และแถมจะยิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีพฤติกรรมก่อกวนยั่วยุให้สังคมปั่นป่วน เพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสถาบันหลักของประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันศาลอันเป็น 1 ใน 3 สถาบันหลักในระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์พระประมุขแห่งการปกครองตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย ทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านในทำนองเดียวกันกับทรงใช้อำนาจบริหารผ่านทางรัฐบาล และทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา และจะเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นจากคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่โฟนอินเข้ามาในแต่ละครั้งจะมุ่งเน้นให้เห็นว่าตนถูกรังแกจากกระบวนการยุติธรรม จนถึงขั้นพูดว่าเป็นกระบวนการยุติความเป็นธรรม อันเป็นคำพูดที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันศาล ซึ่งดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ พระผู้ทรงเป็นประมุขแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อะไรคือเหตุที่ทำให้ทักษิณ และคนในระบอบทักษิณกล้าท้าทายอำนาจศาล ทั้งๆ ที่เวลานี้ตนเองอยู่ในฐานะนักโทษหนีคุก และยังมีคดีรออยู่อีกหลายคดี?

ถ้าจะตอบให้ตรงประเด็น และมีเหตุผลรองรับโดยไม่ต้องอธิบายรายละเอียดก็คงจะบอกได้ว่าอำนาจรัฐที่อ่อนแอ ซึ่งผู้เขียนได้นำมาเป็นหัวข้อในการเขียนบทความนี้

แต่ถ้าจะให้ลงลึกถึงว่า อำนาจรัฐอ่อนแออย่างไร และอะไรเป็นเหตุให้อ่อนแอ ก็จะต้องย้อนหลังไปดูเหตุการณ์ตั้งแต่ 19 กันยายน เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่คนเสื้อแดงแผลงฤทธิ์แสดงพลังระดมพลเข้าล้อมทำเนียบฯ ประกาศก้องจะล้มรัฐบาลให้ได้ก่อนวันสงกรานต์

เริ่มด้วยกลุ่มผู้ทำการปฏิวัติซึ่งเรียกชื่อย่อว่า คมช. เมื่อทำการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณแล้วมิได้เข้าเป็นรัฐบาลบริหารประเทศเองเฉกเช่นผู้ก่อการปฏิวัติในยุคเผด็จการเต็มรูปแบบ แต่ได้เสนอให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มิได้แสดงความกล้าหาญเด็ดขาดในการแก้ไข และฟ้องความผิดของทักษิณและคนในระบอบทักษิณ ตามที่คณะผู้ก่อการโค่นล้มระบอบทักษิณได้ระบุไว้ในเหตุอ้างปฏิวัติ ตรงกันข้ามปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเฉื่อยชา ภายใต้ความรับผิดชอบของ คตส.ในส่วนของความผิดตามข้อหาที่ว่ามีพฤติกรรมทุจริต

ส่วนในเรื่องของข้อหาว่าทำสังคมแตกแยกและหมิ่นเบื้องสูง รัฐบาลชุดนี้แทบไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่ส่อให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงจัดให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2550 และผลก็ปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นพรรคตัวแทนหรือนอมินีของทักษิณ ภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกตั้งมากกว่าพรรคอื่น และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเล็กพรรคน้อยเข้าร่วม เหลือไว้เพียงพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวเป็นฝ่ายค้าน

ในทันทีที่นายสมัคร สุนทรเวช เข้ากุมบังเหียนรัฐ พฤติกรรมในการเป็นตัวแทนก็เริ่มปรากฏ โดยการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ทักษิณ และคนหลายคนในระบอบทักษิณ และนี่เองเป็นจุดให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยแกนนำ 5 คน มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นต้น ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านจนทำให้แนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกความผิดให้แก่ทักษิณ และพวกสะดุดเดินต่อไปไม่ได้

ในขณะที่นายสมัคร สุนทรเวช เผชิญหน้ากับการคัดค้านของพันธมิตรฯ นายสมัครเองก็ได้ถูกศาลตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งในข้อหาเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนตามคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นโอกาสให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยอดีตนายกฯ ทักษิณเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากนายสมัคร และในทันทีที่เข้ารับตำแหน่งนี้ นายสมชายก็ถูกผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งด้วยเหตุผลเดิมคือช่วยคนให้พ้นผิด และได้รับการต่อต้านจากพันธมิตรฯ เหมือนเดิม แต่ด้วยวิธีการที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิมถึงขั้นปิดล้อมทำเนียบฯ และเข้ายึดทำเนียบฯ ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องประชุม ครม.ที่ดอนเมืองเข้าทำเนียบฯ ไม่ได้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งด้วยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้มีการยุบพรรคพลังประชาชน และให้กรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 อันเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีกลุ่มเพื่อนเนวินแปรพักตร์มาร่วมด้วย และจากนี้เองที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง แต่เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงคัดค้านพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนคนกลุ่มเสื้อเหลืองซึ่งยุติการเคลื่อนไหวเมื่อนายสมชายพ้นจากตำแหน่ง และพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล

จากเหตุการณ์ที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มีการปฏิวัติวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันไม่มียุคไหนใช้อำนาจเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาตามที่ระบุไว้ในเหตุอ้างปฏิวัติ ทั้งๆ ที่ในยุคที่รัฐบาลมาจากการแต่งตั้งของ คมช.ควรอย่างยิ่งที่จะใช้ความเด็ดขาดตามที่กฎหมายเปิดช่องให้ดำเนินการได้ก็ไม่ได้ทำ ส่วนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งภายใต้การนำของ นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่ต้องพูดถึง เพราะนอกจากไม่ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเอาผิดคนผิดอย่างทักษิณแล้ว ยังเปิดช่องให้คนกลุ่มนี้แผลงฤทธิ์อย่างโจ่งแจ้งโดยการต่อต้านกลุ่มคนที่ต่อต้านระบอบทักษิณ รวมไปถึงใช้กลไกของรัฐคือ ข้าราชการกลั่นแกล้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ต่อต้านทักษิณ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ปะทะกับประชาชนหน้าอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นตัวอย่าง

วันนี้มาถึงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลความมั่นคง ก็ไม่ปรากฏว่ามีการจัดการอย่างจริงจังกับเรื่องของคนในระบอบทักษิณ ตรงกันข้ามล่าสุดยังคิดจะเจรจากับทักษิณด้วยซ้ำ จึงมองไม่เห็นทางว่าจะแก้ไขความผิดที่สังคมรอดูได้อย่างไร และอีกหนึ่งที่มองไม่เห็นว่าจะแก้ไขปัญหาการแทรกแซงสื่อของคนในระบอบทักษิณได้ ก็คือ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับสื่อ แต่ไม่ปรากฏว่ามีความเด็ดขาดใดๆ ในการแก้ปัญหาโฟนอินของทักษิณ และสื่ออินเทอร์เน็ตที่เผยแพร่ข้อความโจมตีบุคคลสำคัญ เช่น ประธานองคมนตรี เป็นต้น

จึงสรุปได้ว่า ถ้าอำนาจรัฐยังอ่อนแอเพราะมีรัฐมนตรีอ่อนด้อยความรู้ ความสามารถ และขาดประสบการณ์การทำงานเยี่ยงนี้ สักวันหนึ่งระบอบทักษิณจะเข้มแข็ง และกลมเหนือสังคมไทยแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น