xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ปัดไม่มีล็อบบี้ฝ่ายสืบสวน ทำสำนวนใบแดงอ่อน จนศาลยกคำร้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประพันธ์ นัยโกวิท กกต.
“ประพันธ์” เผยเตรียมเสนอ ครม.ทูลเกล้าฯ ออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง 21 มิ.ย. เลือก ส.ส.สกลนคร หลังศาลฎีกาเห็นควรให้ใบแดง ปฏิเสธไม่มีปัญหาการทำงานหลังศาลยกคำร้อง 4 สำนวน ชี้ทำให้เห็นว่า กกต.ไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้า แต่มีศาลถ่วงดุลอยู่ พร้อมค้านตั้งศาลเลือกตั้งทำหน้าที่แทน ย้ำเพิ่มภาระ เสียงบประมาณ เชื่อศาลทำหน้าที่ได้ ปัดไม่มีล็อบบี้ฝ่ายสืบสวนทำสำนวนอ่อน จนศาลยกคำร้อง

วันนี้ (15 พ.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้งกล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งยืนตาม กกต.เพิกถอนสิทธิ์ (ใบแดง) นายพงษ์ศักดิ์ บุญศล ส.ส.สกลนคร เขต 3 พรรคเพื่อไทย ว่า จากที่ได้หารือด้านบริหารการเลือกตั้ง มีการกำหนดแผนงานการเลือกตั้งใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 21 มิ.ย.โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.-1 มิ.ย.และกำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตจังหวัดวันที่ 13-14 มิ.ย.อย่างไรก็ตาม ความแน่นอนของวันเลือกตั้งยังต้องรอพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งก่อน ซึ่ง กกต.จะมีการหารือในวันจันทร์ 18พ.ค.นี้ ก่อนจะส่งร่าง พ.ร.ฏ.เลือกตั้งไปให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้า ครม.และเสนอ ทูลเกล้าฯต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศาลฎีกายกคำร้องของ กกต.ที่ให้ใบแดงอีก 4 สำนวน จะทำให้การทำงานของ กกต.ในอนาคตจะมีปัญหาหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศาลมีความเห็นทั้งยืนตาม กกต.และยกคำร้องก็มีถือเป็นเรื่องธรรมดาปกติ แต่ตรงนี้ถือเป็นจุดที่บอกว่า กกต.ไม่ได้มีอำนาจมากอย่างที่มีการกล่าวถึง โดยรัฐธรรมนูญปี 50 กกต.มีอำนาจให้ใบเหลืองใบแดงก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเท่านั้น หลังจากการประกาศรับรองผลแล้วเป็นอำนาจของศาลที่เข้ามาถ่วงดุล ซึ่งถือเป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“อำนาจ กกต.ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ถือว่าเด็ดขาด ที่กฎหมายให้เวลา กกต.ในการให้ใบเหลืองหรือใบแดงก่อนการประกาศรับรองผลเป็นช่วงเวลาไม่กี่วัน ถ้าไม่ให้เลยก็จะมีปัญหาว่า กกต.ไม่รู้จะจัดการกับคนทุจริตซื่อเสียงได้อย่างไร แต่เมื่อมีการประกาศรับรองผลไปแล้ว กกต.ทำได้เพียงเสนอความเห็นไปที่ศาลฎีกาในกรณีเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.และศาลอุทธรณ์ กรณีการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งศาลจะใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างได้ ถ้ามีน้ำหนักศาลก็จะยกคำร้องของ กกต. แต่ถ้าพยานหลักฐาน กกต.ฟังขึ้น ศาลจะยืนตาม กกต.ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา” นายประพันธ์ กล่าว

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า หลักเกณฑ์การให้ใบเหลือง หรือใบแดงตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ให้เป็นอำนาจศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ถือว่าดีอยู่แล้ว ดังนั้นที่มีการเสนอว่าจะมีศาลเลือกตั้ง ขึ้นมาพิจารณาก็ไม่รู้ว่า มีรูปแบบอย่างไร และผู้พิพากษาจะมาจากไหน ดูแล้วเหมือนเป็นการเพิ่มประเภทของศาลขึ้นมาอีก และสิ้นเปลืองงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจากศาลเลือกตั้ง

นายประพันธ์ ยืนยันว่า การที่ศาลยกคำร้อง กกต.ใน 4 สำนวนทุจริตของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่น่าจะเกิดจากมีการวิ่งเต้นให้พนักงาน กกต.ทำสำนวนอ่อน เพราะกว่าที่ กกต.จะมีคำวินิจฉัย ต้องผ่านหลายขั้นตอนทั้งอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต.จว.อนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องคัดค้าน และ กกต.โดย กกต.มีการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ให้มีการปฏิบัติงานเที่ยงตรง ดังนั้น เชื่อว่า การตัดสินของศาลน่าจะเป็นไปตามพยานหลักฐานในสำนวน

นายประพันธ์ กล่าวถึงกรณีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะอนุกรรมการที่ส่อเค้าจะมีความขัดแย้งรุนแรงว่า เป็นเรื่องที่คณะอนุกรรมการจะพิจารณา แต่การที่มาพูดคุยกันบนโต๊ะย่อมดีกว่าไปคุยกันข้างนอก ที่สุดท้ายหาข้อยุติกันไม่ได้ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญถ้ามีการรับฟังความเห็นประชาชนให้ตกผลึก ประชาชนเห็นอย่างไรก็แก้ไขไปตามนั้น จะเป็นเรื่องที่ดีไม่มีปัญหาเลย

ส่วนที่อนุกรรมการฯจะเสนอให้แก้ไขมาตรา 237 โดยตัดวรรค 2 ที่เกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีออกทั้งหมด นายประพันธ์ กล่าวว่า ก็ต้องมีการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ซึ่งเจตนารมณ์ของการมีวรรค 2 ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อเสียง แต่เท่าที่ได้ยินบอกว่าจะมีการแก้เรื่องไม่ให้มีการยุบพรรคด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงมาตรการเรื่องการยุบพรรคไม่ได้เกิดในรัฐธรรมนูญปี50 แต่มีมาตั้งแต่ปีรัฐธรรมนูญปี 40

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองมองว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เป็นเหมือนยาพิษที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน นายประพันธ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่เรื่องของยาพิษ เพราะการจะใช้มาตรา 237 วรรค 2ได้ต้องเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรง เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศโดยมิชอบ ซึ่งถ้าตัดมาตรานี้ออกก็ต้องดูว่า ทางอนุกรรมการจะมีมาตรการในการป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงที่ดีกว่าอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น