xs
xsm
sm
md
lg

“เจิมศักดิ์” ติง รธน.50 ไม่ใช่ต้นตอปัญหา ถกนัดแรกส่อวุ่นนักการเมืองหางโผล่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ที่ประชุมอนุฯ แก้ รธน.นัดถกวันแรกส่อเค้าวุ่น นักการเมืองจ้องแก้ รธน.ในหมวดยุบพรรค “เจิมศักดิ์” ท้วงติง รธน.ปี 50 ไม่ใช่ต้นเหตุปัญหา เตือนหากดันทุรังแก้เพื่อพวกพ้องระวังเกิดวิกฤตรอบสอง ด้าน “เสธ.อู้” ได้รับเลือกนั่งปธ.อนุฯ ขณะที่วงประชุมรอบบ่ายเห็นพ้องมติเสนอแก้รธน.ให้เลือกส.ส.แบบเขต-สัดส่วนตามแบบปี 40

วันนี้ (13 พ.ค.) ที่ห้อง206 อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมที่ประชุมมีมติเลือกประธาน รองประธาน และเลขานุการคณะอนุกรรมการดังนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา เป็นประธาน นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธานคนที่ 1 และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นรองประธานคนที่ 2 นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ให้ทหารเป็นประธานแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และพูดให้น้อยที่สุด เพราะอนุกรรมการชุดนี้มีความสำคัญโดยจะต้องทำงานสอดประสานกับ 2 คณะอนุกรรมการที่เหลืออยู่ โดยประเด็นใดที่ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เห็นชอบตรงกัน และมีเสียงเป็นเอกฉันท์ก็สามารถเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ได้ทันที ทั้งนี้ในเบื้องต้นคณะอนุกรรมการชุดนี้จะนัดประชุมกันทุกวันพุธ พฤหัสบดี เวลา 09.30 น. ก่อนที่จะนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในทุกวันอังคารของสัปดาห์หน้า

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ได้เสนอกรอบการพิจาณาของคณะอนุกรรมการจำนวน 2 กรอบ คือ 1.ศึกษารัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งหากพิจารณาตามกรอบดังกล่าวจะทำให้มีมาตราที่เกี่ยวข้องไม่กี่มาตรา และการศึกษาจะได้เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น 2.ทบทวนศึกษาในภาพกว้าง โดยดูมาตราที่เป็นอุปสรรคในรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งหมดเลยหรือไม่

ขณะที่ นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย เสนอว่า ควรนำข้อมูลจาก 2 ส่วนประกอบการพิจารณา คือ 1.บทสรุปความเห็นของแต่ละพรรคการเมืองเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้ และ2.คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีนายกระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธาน เนื่องจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ศึกษาปัญหาไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นขอเสนอให้นำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาเป็นตุ๊กตาในการศึกษาด้วย

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.สัดส่วน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า ความเห็นของแต่ละพรรคที่เสนอเข้ามาหากแก้แล้วประชาชนจะได้อะไร สิ่งที่บอกว่ามีปัญหาหมายถึงรัฐธรรมนูญมีปัญหรือคนใช้รัฐธรรมนูญมีปัญหามากกว่ากัน ซึ่งสังคมก็ตอกย้ำประเด็นนี้มาโดยตลอด อย่างไรก็ตามมีประชาชนส่วนหนึ่งพยายามบอกว่าประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอมาทั้งหมดไม่ตรงกับความต้องการของเขา และเขาอยากจะเสนอความคิดเห็นมายังคณะอนุกรรมจะทำได้หรือไม่ เช่น หากต้องการเสนอศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จะเสนอมายังคระอนุกรรมการได้อย่างไร ควรทำประชามติดีหรือไม่ เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างถูกจุด

นายประยุทธ ศิริพานิชย์ กรรมการจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในสื่อมวลชนต่างๆกล่าวว่า การเยียวยาอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งกลุ่ม 111 และ109 คนทำเพื่อคนใดคนหนึ่งหรือไม่ และจะ เป็นต้นตอปัญหาความขัดแย้งในอนาคตต่อไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ยากต่อการปฎิเสธ อย่างไรก็ตามตนไม่อยากให้มีการเขียนบทนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำกัน ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีการพูดถึงมาตรา 237 มาตรา 309 มาตราใดมาตราหนึ่ง ทั้งนี้ ขณะนี้ตนอยากเห็นประเด็นของพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด เพราะยังเหลือเพียงพรรคการเมืองเดียวที่ยังไม่เสนอความเห็นมายังคณะอนุกรรมการ ซึ่งหากคณะอนุกรรมการได้เห็นความเห็นครบทุกพรรคการเมืองแล้ว จะทำให้ง่ายต่อการทำงาน

นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเห็นว่ามีประเด็นที่คณะอนุฯจะต้องศึกษาหาข้อสรุปให้ได้ 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมีหลายเรื่องไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2.ความขัดแย้งมาจากปัญหามาจากระบบการเมืองและสถาบันทางการเมืองหรือไม่ ถ้าใช่จะทำอย่างไร 3.ผลการศึกษาของกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง เพราะหากไม่แก้ไขเสียทีเดียวก็จะเป็นปัญหาต่อการบริหารงานในอนาคต และ 3.ข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ที่คณะอนุฯจะต้องเปิดโอกาสให้มีการรับฟังข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆให้กว้างขวางมากที่สุด

ขณะที่ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภา กล่าวว่า ตนขอพูดความในใจที่อาจจะไม่ตรงกับความคิดของคนหลายคน ซึ่งตนเห็นว่าความขัดแย้งของสังคมไม่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะความขัดแย้งของสังคมเกิดขึ้นในปี 2548 ดังนั้นถ้าไม่ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นอยู่ดี และความขัดแย้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นเพราะมีคนจะแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ดังนั้นขอให้คณะอนุฯ คิดให้ดีว่าอะไรคือสาเหตุแห่งความขัดแย้ง

“ผมไม่อยากเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง และอยากให้เราระมัดระวัง การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะยิ่งทำให้เกิดวิกฤติหนักขึ้นถ้าทำไม่ดี ทั้งนี้ในส่วนของม.190 อยากชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ติดขัดมาจากกรณีที่รัฐบาลและสภาไม่ออกกฎหมายมารองรับ และปัญหาเกิดจากความกลัวของหน่วยงานของภาครัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ที่กลัวว่าทุกสนธิสัญญาจะเข้ามาตรา 190 เลยบรรจุเข้าที่ประชุมสภา” นายเจิมศักดิ์ กล่าว

นายอรรคพลกล่าวว่า ในร้อยละ20-30 ที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มองว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญในระยะเวลาอันสั้นอย่างแน่นอน ซึ่งหาดวันนั้นมีการระบุชัดเจนว่าหากรัฐธรรมนูญ 2550 และจะไม่มีการแก้ไข เชื่อว่าร้อย 20-30 นั้นอาจจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้โดยเฉพาะมาตรา 190กรณีเขาพระวิหาร และมาตรา 237 ที่มีปัญหา ในการยุบพรรคชาติไทย ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิด แต่เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนอย่างนี้ไม่มีทางเลือกอื่นจึงทำให้ต้องยุบพรรคการเมืองในที่สุด

ด้านนายเจิมศักดิ์ได้ตอบโต้ทันทีว่า มาตรา 190 กรณีพระวิหารที่มีการบอกว่าเป็นเรื่องของเขตแดนนั้น ในรัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มเติมเพียงเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการใช้งบประมาณอย่างมีนัยยะสำคัญเท่านั้น ส่วนเรื่องเขตแดนเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ทุกประการ ดังนั้นมาตรา 190 จึงไม่ใช่บ่อเกิดของปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา ส่วนมาตรา 237 ในช่วงที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นก็ไม่มีนักการเมืองท้วงติงมาตรานี้ ส่วนการยุบพรรคนั้นได้มีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพียงแค่เติมเหตุแห่งการยุบพรรคอีกหนึ่งเหตุเท่านั้น

นายอรรคพลจึงแย้งขึ้นว่า เรื่องการยุบพรรคนั้นควรจะมีเหตุอันควร ไม่ใช่ว่าใครทำผิดคนเดียวแล้วมีโทษถึงยุบพรรค ในส่วนของประเด็นการแก้ไขที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอนั้น จะเห็นได้ว่ามาตรา 237 ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ให้ตัดวรรค 2 ออกไปเท่านั้น

นายศุภชัยจึงเสนอขึ้นว่า วันนี้ขออย่าเพิ่งลงในรายมาตรา ควรพูดเรื่องกรอบก่อนว่าจะเริ่มจากจุดไหน ให้เอาประเด็นที่พรรคการเมืองวมอบมาให้นั้น ให้ฝ่ายเลขาฯสรุปเป็นประเด็นว่าแต่ลบะพรรคมีประเด็นใดบ้างที่เสนอตรงกัน รวมทั้งนำผลการศึกษาของคณะกรารมาธิการฯที่มีการศึกษาไว้แล้วมาดูด้วยว่าประเด็นใดบ้างที่มีผลต่อการบังคับใช้ คณะอนุกรรมการชุดนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาแก้ไขอยู่แล้ว จึงอย่ามาโต้แย้งว่าจะแก้หรือไม่แก้กันในตอนนี้

นายเจิมศักดิ์ได้ทักท้วงขึ้นอีกว่า หากเราพิจารณาตามที่พรรคการเมืองเสนอ คณะอนุกรรมการของเราก็จะกลายเป็นคณะที่แก้รัฐธรรมนูญตามที่พรรคการเมืองเสนอทันที ตนเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญแก้ได้ เพราะตนก็มี 30 กว่ามาตราที่อยากจะแก้ แต่ตนเตือนเพื่อให้ระวังว่า อาจจะถูกโจมตีว่าเราไม่ต่างอะไรจากที่พรรคการเมืองเสนอมา

ขณะที่นายสมศักดิ์กล่าวว่า อยากให้ทุกคนถอดความคิดส่วนตัวออกก่อน ไม่มีธง แล้วมาถกกันด้วยเหตุผล เอาหลักของประชาธิปไตยเท่านั้น เอาประเด็นที่จำเป็นก่อนเพื่อขจัดความขัดแย้งในสังคม ต้นเหตุความขัดแย้งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ดังนั้น หากถกกันแล้วปรากฎว่าไม่ผิดหลักประชาธิปไตยก็ไม่ต้องไปแก้

นายสุรชัยกล่าวเสริมขึ้นว่า ขอให้เปิดอกคุยกัน อย่าซ่อนเร้น เพื่อให้เกิดความกระจ่าง เช่นมาตรา 237 นั้น ก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าทำผิดเพียงคนเดียวแล้วจะยุบพรรค มีการบอกไว้ชัดเจนว่ามีหลายองค์ประกอบ เช่น หัวหน้าพรรคมีส่วนรู้เห็นการกระทำความผิดนั้น หรือหัวหน้าพรรครู้แต่ไม่ตักเตือนเป็นต้น ซึ่งตรงนี้ไม่มีการสื่อสารออกมาให้กับสังคมได้รับรู้ หรืออาจจะเป็นเพราะระบบการตรวจสอบที่ไม่เข้มแข็งหรือไม่ จึงอยากให้มองด้วยว่า หรือเป็นเพราะระบบตรวจสอบในอดีตไม่ทำงานหรือไม่ เพราะหลายมาตรา รัฐธรรมนูญเนื้อหาเดียวกันเพียงแต่อยู่คนละฉบับเท่านั้น กลับกลายเป็นว่ามีปัญหาขึ้นมาได้

พล.อ.เลิศรัตน์ จึงชี้แจงว่า อะไรที่เรามีก็ควรจะทำไปก่อน เพราะเวลาเรามีจำกัด ดังนั้นอะไรที่ทำได้เราก็ควรจะทำไปก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีลิมิตว่าจะทำเพียงแค่นี้เท่านั้น ที่ตนดูแล้วเห็นว่ามีผลต่อการทำงานคือเรื่องที่มาของ ส.ส. ซึ่งการที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาก่อนนั้นก็ไม่ใช่การใช้อำนาจอะไร แต่เพราะทุกพรรคมีข้อมูลเรื่องนี้ของตัวเองอยู่แล้ว ตนจึงพยายามเลือกเรื่องที่ทุกพรรคเสนอมาตรงกันก่อน นี่คือเรื่องเร่งด่วนที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งจะทำให้การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันอังคารหน้า เราจะได้มีข้อมูลไปพูดในที่ประชุมได้ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ พล.อ.เลิศรัตน์จึงได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้ทุกคนไปรัปประทานอาหาร ก่อนที่จะกลับมาประชุมกันอีกครั้งในเวลา 12.30 น.

ต่อมาเวลา 13.00 น.ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้หารือกันต่อในประเด็นการเลือกตั้งส.ส.ตามที่พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเพื่อไทยเสนอ โดยตัวแทนทั้ง 3 พรรคเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรที่จะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนให้การเลือกตั้งเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว จำนวน 400 คนตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แทนการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ เพราะเขตใหญ่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่มีเงิน มีอำนาจ และมีระบบหัวคะแนนสามารถเข้ามาเป็นส.ส.ได้มากกว่าผู้สมัครที่เป็นคนดี มีความรู้ ส่วนส.ส.แบบสัดส่วนนั้นควรที่จะปรับให้เป็นแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คนตามเดิม

ขณะที่ตัวแทนจากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคประชาธิปัตย์ เห็นไปในทิศทางเดียวกันโดยให้คงเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วนตามเดิมของรัฐธรรมนูญ2550ไว้ ซึ่งนายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากระบบการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่จะทำให้การซื้อเสียงสามารถทำได้ยากขึ้น และทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกผู้สมัครที่มีความรู้แต่ไม่มีเงิน ส่วนเขตเล็กนั้นหากใครมีอิทธิพลสามารถยึดพื้นที่ตรงนั้นไม่ว่าคนๆนั้นจะทำดีทำชั่วก็จะได้รับเลือกอยู่ตลอด ทั้งนี้การเสนอความคิดเห็นครั้งนี้ไม่ได้เป็นมติของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า นายกฯบอกให้ทุกพรรคสรุปประเด็นแต่พรรคประชาธิปัตย์เองกลับมีแต่ความเห็นส่วนตัวของตัวแทน ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ควรจะกลับไปคุยถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนไม่ใช่ตัวแทนพรรคบอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัว แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็มาบอกทีหลังว่า ไม่ใช่ความเห็นของพรรค อยากขอให้ถอดหัวโขน ถอดหน้ากากออกก่อน เพื่อแสดงความจริงใจต่อกัน ซึ่งนายนิพนธ์ ได้ชี้แจงว่า เรื่องรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะมายึกยักกัน ตนไม่มองประโยชน์ของใครหรือของพรรคไหนทั้งสิ้น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กำหนดอนาคตของประเทศ ซึ่งไม่ใช่ว่าพรรคประชาธิปัตย์เล่นเล่ห์เล่นเหลี่ยมอะไร แต่พรรคให้ตัวแทนใช้สิทธิ์ได้อย่างเปิดเผยและเต็มที่

ภายหลังการประชุม พล.อ.เลิศรัตน์ แถลงภายหลังการประชุมว่า คณะอนุฯจะดูประเด็นหลักที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งที่ประชุมมีองค์ประกอบครบทั้งนักวิชาการซึ่งเป็นอดีตส.ส.ร.2550 ส.ว. และส.ส.อย่างครบถ้วน โดยแนวทางการทำงานนั้นจะดูว่ามีประเด็นใดบ้างที่ควรมีการแก้ไข จากนั้นจึงมาดูอีกทีว่าเรื่องใดสำคัญก็จะพิจารณาก่อน ซึ่งการประชุมนัดแรกของคณะอนุฯนั้นที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นที่มาของส.ส. โดยในส่วนของส.ส.เขตเลือกตั้งนั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าให้กลับไปใช้ปี 2540 รวมไปถึงส.ส.แบบสัดส่วนด้วย โดยให้เปลี่ยนเป็นแบบบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ ในวันที่ 14 พฤษภาคมจะประชุมกันในเวลา 9.30 น.เพื่อพิจารณามาตรา 68 และมาตรา 237 อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้เมื่อมีมติของอนุฯออกไปแล้วก็จะถูกเผยแพร่สู่ประชาชน และเมื่อมีฟัดแบ็คจากประชาชนกลับมาคณะอนุฯก็จะทำเป็นข้อสังเกตุและข้อคิดเห็นเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป โดยบางเรื่องอาจจะต้องมีการทำประชามติ เพราะประชามติเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ยืนยันว่าคณะอนุฯยินดีเปิดรับทุกภาคส่วนที่จะเสนอความคิดเห็นเข้ามา
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ว่าอาจจะถูกครหาว่าทำตามที่พรรคการเมืองเสนอมา พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่ว่าพวกเราคิดว่าอะไรที่เสนอมานั้นควรจะแก้หรือไม่ และอะไรที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับประชาชน ตรงนี้เราระมัดระวังอยู่แล้ว ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่นักการเมืองมาฮั๊วกันเพื่อแก้กติกาให้นักการเมืองด้วยกันเอง

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า มติของคณะอนุฯนั้นไม่ใช่ข้อสรุปของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่จะเสนอต่อประธานรัฐสภา ซึ่งวันนี้คณะอนุฯเองก็ทะเลาะกันอยู่เกือบ 5 ชั่วโมงจึงได้เสียงส่วนใหญ่ออกมา อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างในเวลาที่จำกัด ผู้ร่างเองก็ถูกคัดเลือกกันมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกมาตราจะเป็นปัญหาของความขัดแย้ง วันนี้เราเพียงแต่เห็นว่าควรแก้อะไรบ้าง ซึ่งขั้นตอนต่างๆนั้นยังมีอีกเยอะ แต่ที่เรารีบทำก็เพราะต้องการให้มีฟิตแบ็คกลับมา ซึ่งเราพยายามจะรักษาความเป็นธรรม โดยเป้าหมายของเราคือไม่แก้อะไรที่จะไปทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แต่ถ้าหากอะไรที่แก้แล้วเป็นสากลมากขึ้นก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น