xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” ขวางแก้ รธน. ซัดนักการเมืองสนองประโยชน์ส่วนตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพธม.
“สุริยะใส” ซัด ส.ส.-ส.ว.เห็นแก่ตัวล่าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน สนองความใคร่นักการเมือง เตือนใครร่วมลงชื่อเสนอญัตติจะโดนถอดถอนจากตำแหน่ง จี้นักการเมืองทบทวนพฤติกรรม อย่าเอารัฐธรรมนูญเป็นแพะ ดักทางแนวคิดนิรโทษกรรมล่วงหน้า เผยพันธมิตรฯ จับตาใกล้ชิด เชื่อหากแก้จะเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญรุนแรงกกว่าเดิมหลายเท่า

วันนี้ (6 ก.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ และผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงประเด็นการล่าชื่อของ ส.ส.-ส.ว.เพื่อยื่นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดแบบด่วนสรุปของบรรดา ส.ส.และ ส.ว.ที่คิดว่าวิกฤตประเทศในขณะนี้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ข้อเท็จจริงของวิกฤตในขณะนี้หลายเรื่องอยู่นอกรัฐธรรมนูญและไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่น แผนป่วนประเทศของเครือข่ายระบอบทักษิณ และความพยายามโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่พฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบและไร้จริยธรรมของนักการเมืองในขณะนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติทั้งหมด ฉะนั้นการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นอกจากประชาชนจะไม่ได้อะไรแล้วยังจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น ไม่ใช่แนวทางสมานฉันท์อย่างที่คิด

นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า โดยเฉพาะข้อเสนอ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ นั้น เจตจำนงทั้งหมดล้วนแล้ว แต่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาของนักการเมืองไม่ได้อยู่บนฐานของประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 190 ข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดในการขอความเห็นชอบของรัฐสภาฯ มาตรา 265 ที่ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปพร้อมๆ กันได้ มาตรา 266 ให้ สส.สามารถแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำได้ นอกจากนี้ ในมาตรา 237 ก็ต้องการยกเลิกโทษยุบพรรคในกรณีกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายและอาจแปรญัตติให้นิรโทษกรรมนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 ได้ หรือแม้แต่การกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งตามรูปแบบรัฐธรรมนูญ 2540

“ผมอยากเตือนไปยัง ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นนี้จะเข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ซึ่งห้ามไว้ชัดเจนว่า ส.ส.และ ส.ว.ต้องไม่ทำหน้าที่ขัดกันทางผลประโยชน์ ฉะนั้น ผู้ร่วมลงชื่อจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้พันธมิตรฯ จะจับตาอย่างใกล้ชิด” ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ระบุ

ทั้งนี้ ส่วนตัวตนไม่ได้ค้านการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญแบบหัวชนฝา เพราะตนก็เห็นประเด็นปัญหาหลายจุดที่สมควรปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่จะมาเสนอแก้กันง่ายๆ และแก้เฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์ของนักการเมือง แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แบบนี้ไม่เหมาะสม ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการลงประชามติของคนทั้งประเทศ หากจะแก้ไขก็ต้องมีกระบวนการที่ชอบธรรม โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย รวมทั้งการศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างเป็นวิชาการ ไม่ใช่เอาความต้องการของนักการเมืองบางกลุ่มมาเป็นตัวตั้ง หากไม่ระมัดระวังจะกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมรอบใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น