xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ป๋าเหนาะ” ส่อละเมิดศาล เพื่อ “แม้ว”!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์ปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รธน.
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

แม้ในยุคหนึ่ง ผู้เฒ่าแห่งวังน้ำเย็นอย่าง “เสนาะ เทียนทอง” หรือ “ป๋าเหนาะ” จะเคยเป็นนักการเมืองที่สังคมฝากความหวัง เพราะเป็นผู้คร่ำหวอดที่น่าจะช่วยชี้นำสิ่งดีสู่บ้านเมือง แต่นับจาก “ป๋าเหนาะ” เข้าร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลพรรคนอมินี ของ “ทักษิณ” ความคิดความอ่านของเขาก็เปลี่ยนไป จวบจนวันนี้ที่ “ทักษิณ” ไม่เพียงหนีคดีหัวซุกหัวซุน แต่ยังยุยงปลุกปั่นให้บ้านเมืองวุ่นวาย พูดกระทบกระแทกแดกดันศาล-สถาบันเบื้องสูง แต่ป๋าเหนาะก็ยังรักทักษิณไม่เสื่อมคลาย ปากพร่ำบอกแต่ว่า ทักษิณไม่ผิด ทักษิณถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม และควรมีการนิรโทษกรรม คำพูดของป๋าเหนาะที่ออกสู่สังคมแทบจะรายวัน ไม่เพียงสะท้อนถึงความ “เอียงกะเท่เร่” แต่ยังส่อว่าน่าจะละเมิดศาลฎีกาฯ ที่พิพากษาจำคุกทักษิณ 2 ปีในคดีซื้อที่รัชดาฯ ด้วย

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

หลัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากจะนำมาซึ่งความสงบในบ้านเมือง โดยเปิดโอกาสให้ทุกพรรคเสนอประเด็นที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้ และว่า ตนพร้อมรับฟัง หากมีการเสนอให้แก้ไขความผิดทางการเมืองที่เกิดจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม (นิรโทษกรรมให้ 111 อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทย และ 109 อดีต กก.บห.พรรคพลังประชาชน-พรรคชาติไทย-พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรค) แต่จะต้องไม่รวมความผิดทางอาญา เช่น การก่อจลาจล หรือยุยงปลุกปั่น หรือการใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ไม่ถูกต้องหรือการทุจริตคอร์รัปชัน นั่นหมายความว่า คดีความต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวก ทั้งที่ตัดสินคดีแล้ว (เช่น คดีซื้อที่รัชดาฯ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี) และอีกหลายคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล (เช่น คดี พ.ต.ท.ทักษิณร่ำรวยผิดปกติหรือคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน) จะไม่อยู่ในข่ายได้รับการคืนสิทธิหรือนิรโทษกรรม

ด้านพรรคเพื่อไทย ฟังไอเดียนายอภิสิทธิ์แล้ว แม้จะเห็นด้วยกับการคืนสิทธิ์ทางการเมืองแก่อดีตกรรมการบริหารพรรค แต่ก็ดูเหมือน “ได้คืบจะเอาศอก” เพราะอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับอานิสงส์จากการนิรโทษกรรมนั้นเต็มๆ ไม่ว่าจะในแง่การคืนสิทธิ์ทางการเมืองหรือการพ้นมลทินในคดีอาญาต่างๆ โดยพยายามอ้างว่า คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เป็นคดีการเมือง ไม่ใช่คดีอาญา โดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร และประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย พยายามช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยการบอกว่า “อยากให้แยกแยะว่า ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เป็นความผิดในคดีอาญา หรือเป็นความผิดทางการเมืองกันแน่ เพราะความผิดที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.เกิดจากการยึดอำนาจและตั้งคนที่เป็นศัตรูกับ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตรวจสอบ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ”

ขณะที่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เจ้าของไอเดีย “รัฐบาลเพื่อชาติ” ที่พยายามยืนยันมาตลอดว่าตัวเองอยู่ตรงกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ก็ได้ออกมาเสนอแนวคิดที่หากดูเผินๆ ก็เหมือนทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ แต่หากพิจารณาให้ดี ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆ ไม่ใช่ใคร นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะ นายเสนาะเสนอให้ยุติการใช้ รธน.2550 แล้วหันมาใช้ รธน.2540 แทน โดยให้ตัดบทเฉพาะกาลทิ้งทั้งหมด แล้วเพิ่มบทเฉพาะกาล 2552 เข้าไปแทน โดยให้มีการนิรโทษกรรมให้หมด ทั้งคณะปฏิวัติ และองค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้น รวมถึงคดีอาญาที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการตัดสินของศาลเพียงศาลเดียว เพราะถือว่าไม่ชอบธรรม ควรจะให้มีการอุทธรณ์ ฎีกา

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าทำตามข้อเสนอของ นายเสนาะ ก็หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องได้รับโทษจำคุก 2 ปี ในคดีซื้อที่รัชดาฯ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างมาตลอดว่า ตนถูกตัดสินโดยศาลเดียว คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือว่าไม่เป็นธรรม

ซึ่งจะว่าไป ก็น่าแปลกทั้งผู้เสนอแนวคิดนี้ (นายเสนาะ) และผู้ที่จะได้รับอานิสงส์ (พ.ต.ท.ทักษิณ) เพราะทั้งคู่ต่างก็ทราบดีกว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น แม้ดูเผินๆ จะเหมือนเป็นศาลเดียวอย่างที่นายเสนาะ และ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวหา แต่ต้องไม่ลืมว่า ศาลปกติทั่วไปจะมีองค์คณะผู้พิพากษาแค่ 3 คน แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีองค์คณะมากถึง 9 คน การพิจารณาคดีย่อมรอบคอบรัดกุมมากกว่าปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้ถ้าเชื่อคำพูดนายเสนาะ ก็คงจะเข้าใจว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินอย่างใดแล้ว ถือว่าจบ จะอุทธรณ์ไม่ได้ ซึ่งก็ไม่จริงอีกเช่นกัน เพราะคดีซื้อที่ดินรัชดาฯ นั้น แม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จะพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปีแล้วก็ตาม แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังสามารถใช้สิทธิ์อุทธรณ์ได้ เพราะ รธน.2550 มาตรา 278 วรรคสาม (ซึ่งกำหนดโดยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ) เปิดช่องให้จำเลยสามารถอุทธรณ์ได้หากมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ โดยให้เวลายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา แต่ปัญหาคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช้สิทธิ์อุทธรณ์นั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะจำนนต่อหลักฐาน และไม่มีหลักฐานใหม่จะมาอุทธรณ์เสียมากกว่า

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้นายเสนาะจะเสนอไอเดียที่เอื้อประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ “ผู้เฒ่าแห่งวังน้ำเย็น” คนนี้ ก็ยังถูกบางคนมองว่ามีความเป็นกลาง และเหมาะสมที่จะนั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภาตั้งขึ้น โดยผู้ที่เห็นว่านายเสนาะเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าว ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภานั่นเอง แต่สถานการณ์พลิกเล็กน้อย ทำให้ นายเสนาะ ไม่ได้รั้งตำแหน่งประธาน แต่ได้เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว

เมื่อได้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์ปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายเสนาะก็ยังออกอาการ “เอียง” เสมอต้นเสมอปลาย โดยในการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ นัดแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ค.นายเสนาะ ก็ส่งสัญญาณ “ปักธง” ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณอีก คราวนี้ ไม่เพียงเสนอให้ยกโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีซื้อที่รัชดาฯ แต่ยังพูดในลักษณะที่อาจเข้าข่ายละเมิดศาลอีกด้วย เพราะบอกว่าคดีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ผิด แต่กลับถูกทำให้ผิด “ตอนนี้ไม่ใช่จะมาเถียงกันว่า จะเอา รธน.ฉบับไหนมาใช้ ควรเอาทุกฉบับที่คิดว่าเป็นปัญหา ทั้ง ปี’40 ปี’49 หรือ ’50 เอาคดีต่างๆ ที่เป็นปัญหา ไม่ว่าคดีที่ดินรัชดาฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ที่ไม่ผิดก็ทำให้ผิด รวมทั้งการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 มาวางไว้บนโต๊ะ จากนั้นก็มาดูว่าจะแก้อย่างไร และเขียนนิรโทษกรรมทั้ง 111 และ 109 ในบทเฉพาะกาล เพื่อตัดปัญหาเราก็มาเขียนกันว่า ต่อไปนี้อำนาจที่ปล้นมาแล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเอง ไปตั้งอะไรต่อมิอะไรไว้ สภาก็จะยกโทษ จะอภัยให้หมด ผมคิดว่าเป็นทางออกที่จะใช้เป็นธงกัน”

เพื่อไม่ให้สังคมคล้อยตามคำอ้างของผู้เฒ่าแห่งวังน้ำเย็นที่สรุปเอาเองดื้อๆ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ผิดแต่ถูกทำให้ผิดในคดีซื้อที่รัชดาฯ จะขอยกคำพิพากษาบางช่วงบางตอนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ (เมื่อ 21 ต.ค.2551) มาทวนความจำกันอีกครั้งว่า เหตุใดศาลจึงตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณผิดในคดีนี้ จนต้องพิพากษาจำคุก 2 ปี

คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ที่คุณหญิงพจมาน ซื้อจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้ในราคาต่ำ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้บัตรประจำตำแหน่งนายกฯ ในขณะนั้นลงนามยินยอมให้คุณหญิงพจมานซื้อที่ดินดังกล่าว ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูก คตส.และอัยการส่งฟ้องต่อศาล ว่า กระทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานรัฐ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามต่อสู้ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ และตนก็ไม่ได้มีอำนาจกำกับดูแลหรือควบคุมกองทุนดังกล่าว แต่จากการไต่สวนพยานหลักฐานต่างๆ ศาลชี้ว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

“ศาลเห็นว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ เพราะก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ศ.2485 มาตรา 29 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจดูแลและพิจารณาส่งเงินเข้าสนับสนุนเป็นครั้งๆ และว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 (พ.ต.ท.ทักษิณ) เป็นนายกฯ ซึ่งมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินและมีอำนาจเหนือข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ประกอบกับคำเบิกความจากพยานโจทก์ 2 คน (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง) ก็แสดงให้เห็นว่า นายกฯ ใช้อำนาจกำกับดูแลกองทุน ได้โดยผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามลำดับชั้น ดังนั้น องค์คณะศาลฎีกาฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับควบคุมดูแลกองทุน”

“ส่วนประเด็นที่ว่า การทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) หรือไม่ ศาลเห็นว่า ขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ มีอำนาจบารมีเหนือรัฐมนตรี และมีอำนาจทางการเมืองสูง อีกทั้งฐานะการเงินมั่งคั่ง ซึ่งตามหลักธรรมาธิบาลแล้ว นายกฯ ภริยา หรือบุตร ไม่สมควรเข้าไปประมูลซื้อที่ดินดังกล่าว เพราะการซื้อได้ราคาต่ำ ส่งผลให้กองทุนมีรายได้น้อยลง ขณะที่คุณหญิงพจมาน (จำเลยที่ 2) ก็มีผู้รู้จักจำนวนมาก ประกอบกับข้าราชการมีค่านิยมจำนนต่อผู้มีบารมีสูง นอกจากนั้นยังอยู่ในฐานะที่อาจให้คุณให้โทษทางราชการได้ และเมื่อปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้บัตรประจำตำแหน่งนายกฯ ลงนามยินยอมให้คุณหญิงพจมานทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ย่อมถือได้ว่าเป็นการเข้าทำสัญญาด้วยตัวเองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) วรรคสาม ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณอ้างว่า การลงชื่อยินยอมเป็นเพียงการทำตามระเบียบราชการ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขายแต่อย่างใด องค์คณะจึงมีมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) วรรคสาม และต้องรับโทษตามมาตรา 122 ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น”


ส่วนสาเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิพากษาให้จำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปีโดยไม่รอลงอาญานั้น เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่กลับไม่ทำตัวให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และความไว้วางใจจากประชาชน

“ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นนายกฯ ได้รับมอบหมายให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยกลับฝ่าฝืนกฎหมายทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่ง จึงไม่สมควรรอการลงโทษ พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี”

ไม่เพียง นายเสนาะ จะอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ผิด แต่ถูกทำให้ผิดในคดีซื้อที่รัชดาฯ แต่นายเสนาะ ยังพูดเหมือนกับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกลั่นแกล้ง เพราะดูแล้วเป็นเรื่องตลกที่คดีนี้ “เมียรอดแต่ผัวกลับติดคุก”

“ผมก็พูดในที่ประชุมกรรมการ ว่า ไปกล่าวหาเขาเรื่องใหญ่เรื่องโต ไปยึดทรัพย์เขาแปดหมื่นล้าน แสนล้าน แต่ไม่เห็นตัดสินอะไร กลับมาตัดสินเรื่องเมียเขาซื้อที่ เมียรอดแต่ผัวกลับติดคุก ชาวบ้านเขาไม่รู้ ดังนั้น ถ้าจะตัดสินเขาอย่างนี้ก็ต้องชี้แจงให้ชัดให้ชาวบ้านรู้ว่าทำไม ซื้อโดยถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ สามีไปเซ็นชื่อรับรองให้ภรรยาทำนิติกรรมกลับติดคุก มันมีที่ไหนวะ...”

ฟังคำพูดนายเสนาะแล้ว ก็ต้องยกคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มาหักล้างเช่นกัน เพราะเหตุที่ศาลฯ พิพากษาว่าคุณหญิงพจมานไม่มีความผิด-ไม่ต้องได้รับโทษ ก็เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.ไม่มีบทลงโทษสำหรับคู่สมรสเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำผิดต่างหาก มิได้หมายความว่า สิ่งที่คุณหญิงพจมานกระทำ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

“องค์คณะมีมติ 7 ต่อ 2 เห็นว่า คุณหญิงพจมานไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) วรรคสาม ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 122 เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับคู่สมรสที่กระทำความผิด มีแต่บทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามหลักกฎหมายอาญา เมื่อไม่มีกฎหมายให้ลงโทษ ศาลจึงไม่อาจลงโทษได้”

ไม่ว่าสุ้มเสียง-ท่วงทำนองของนายเสนาะจะเอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงใด นายเสนาะ ก็ยังปฏิเสธเสียงแข็ง โดยยืนยัน (10 พ.ค.) ว่า ตนไม่เคยเสนอให้นิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ตนเพียงแต่ชี้ให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เห็นว่า ความแตกแยกที่เกิดขึ้นเกิดจากการกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน

“เพียงแต่ชี้ให้เห็น เพราะการกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดในคดีที่ดินย่านรัชดาฯ และมีการตัดสินจำคุก 2 ปีนั้น ซึ่งทุกอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ซื้อที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เพียงเสนอให้คณะกรรมการสมานฉันท์ไปเท่านั้นว่าความแตกแยกมันเกิดจากตรงนี้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณก็มีคนรักเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ยกตัวให้เห็นเท่านั้น”

นายเสนาะ ในฐานะที่ปรึกษาและคณะกรรมการสมานฉันท์ปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รธน. ยังแสดงความไม่พอใจที่คำพูดของตนทำให้ตนถูกมองว่ารับงาน พ.ต.ท.ทักษิณมา โดยยืนยันว่า ชื่อคณะกรรมการก็บอกอยู่แล้วว่าสมานฉันท์ ดังนั้นเราต้องหาทางออกให้เกิดความปรองดอง นายเสนาะ ยังคุยโวด้วยว่า ถ้าตนไม่ไปนั่งเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ จะตั้งไข่ได้หรือไม่ ไม่เท่านั้น นายเสนาะยังบอกด้วยว่า จริงๆ แล้ว ระยะเวลาการศึกษาการแก้ไข รธน.เพื่อความสมานฉันท์นั้น ไม่ต้องใช้เวลาถึง 45 วันด้วยซ้ำไป แค่ 7 วันก็พอแล้ว หากยอมกันว่า ที่แล้วๆ มาจบกันนะ นี่คือการปรองดองที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้

คงต้องจับตาว่า ที่สุดแล้ว ผลงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไข รธน.ที่มีนายเสนาะ เทียนทอง นั่งเป็นที่ปรึกษาและกรรมการนั้น จะออกมาอย่างไร ...งานนี้ จะได้พิสูจน์กันว่า การปรองดองกับสิ่งที่ผิด หรือทำสิ่งที่ผิดให้เป็นถูกนั้น สังคมจะรับได้หรือไม่? และจะช่วยแก้ไขความขัดแย้งได้จริงหรือ?
นายเสนาะ เทียนทอง เข้าร่วมตีกอล์ฟกับอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนที่สนามกอล์ฟอัลไพน์เมื่อวันที่ 11 พ.ค.
พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน และลูกๆ ในวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีคดีซื้อที่รัชดาฯ เมื่อ 21 ต.ค.51(ภาพ-มติชน)
ม็อบรักทักษิณ ถือป้ายเหน็บแนมศาลหลังตัดสินจำคุกทักษิณ 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ(21 ต.ค.51)
ที่ดินคดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ
พ.ต.ท.ทักษิณเครียด หลังศาลอาญาสั่งจำคุกคุณหญิงพจมาน 3 ปี ไม่รอลงอาญาคดีโอนหุ้นชินฯ ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น