อมรรัตน์ ล้อถิรธร.......รายงาน
ดูเหมือนจะเริ่มออกอาการเป๋สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่พยายามขายไอเดียเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายที่ทำผิดทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49 โดยอ้างว่าเพื่อความปรองดอง-สมานฉันท์ เพราะทั้ง ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.ไปจนถึงประมุขของทั้ง 2 สภาต่างไม่เล่นด้วย เพราะรู้ทันว่า หมากเกมนี้ของ “เพื่อไทย” ทำเพื่อใครกันแน่ ...ไม่น่าเชื่อว่า พรรคที่โกงเลือกตั้งจนโดนยุบแล้วยุบอีก จะไร้ยางอายถึงขนาดกล้าเสนอ กม.ที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคพวกตัวเอง โดยไม่สนว่า กม.นั้นจะขัด รธน.และทำลายหลักนิติรัฐ-ระบบยุติธรรมที่เป็นหลักยึดของบ้านเมืองเพียงใด
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ข่าวพรรคเพื่อไทยได้ยก “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...” ขึ้นมา และเตรียมเสนอเข้าสภาในเร็วๆ นี้ ได้รั่วถึงหูสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 12 ก.พ.โดยพรรคเพื่อไทยให้เหตุผลที่ต้องมีร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เพราะบ้านเมืองไม่ปกติ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงของชาติ จึงควรสร้างความปรองดองด้วยการนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลที่ได้กระทำผิดระหว่างวันที่ 19 ก.ย.2549 (วันที่ คมช.รัฐประหารรัฐบาลทักษิณ) จนถึงวันที่ 12 ก.พ.2552 ไม่ว่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับการต่อต้านการยึดอำนาจ (น่าจะหมายถึง การเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.รวมถึงการก่อจลาจลหน้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์), การต่อต้านการบริหารราชการแผ่นดิน (น่าจะหมายถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนายสมัคร-รัฐบาลนายสมชายของกลุ่มพันธมิตรฯ), การดำเนินกิจการทางการเมือง, การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าระงับปราบปรามหรือสลายการชุมนุมของกลุ่มบุคคล (เช่น กรณีรัฐบาลนายสมชาย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จนมีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บและพิการเกือบ 500 ราย) และการได้รับผลร้ายจากการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (ผู้ได้รับอานิสงส์เต็มๆ ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณและพวก)
ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมดังกล่าว ไม่ได้จำกัดเฉพาะตัวผู้กระทำผิดโดยตรงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงผู้บงการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดด้วย ซึ่งหากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายหรือเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ ก็ให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดทั้งในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง และหากผู้กระทำผิดนั้นถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างการดำเนินคดี ก็ให้ปล่อยตัวผู้นั้นโดยเร็ว
และน่าสังเกตว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดอง ของพรรคเพื่อไทย มิได้นิรโทษกรรมเฉพาะการกระทำผิดหลังวัน คมช.ยึดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังครอบคลุมไปถึงการกระทำก่อนหน้าการยึดอำนาจ 19 ก.ย.2549 แต่เป็นการกระทำที่ได้รับผลกระทบจากองค์กรที่เกิดจากปฏิรูปการปกครองฯ (คมช.) ด้วย ถ้าพูดง่ายๆ ให้เห็นภาพ ก็น่าจะเป็นว่า การกระทำใดๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ และ คุณหญิงพจมาน รวมทั้ง ครม.ทักษิณ ที่ส่อทุจริต และมาถูกตรวจสอบโดย คตส.และ ป.ป.ช.กระทั่งเป็นคดีส่งฟ้องต่อศาล หรือที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกแล้วทั้งในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานนั้น ถือว่าจะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด ซึ่งอาจรวมถึงคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานด้วย
ไม่เท่านั้น หากผู้นั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ให้คืนสิทธิ์ทางการเมืองแก่ผู้นั้นด้วย นั่นหมายถึง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีจากกรณียุบพรรค ก็จะได้รับสิทธิ์กลับคืนทันที เช่นเดียวกับอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน-พรรคชาติไทย-พรรคมัชฌิมาธิปไตยทั้ง 109 คนก็จะได้รับสิทธิ์คืนเหมือนกัน!
ทั้งนี้ แนวร่วมพรรคเพื่อไทยอย่าง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ซึ่งเข้าข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรมหากร่างกฎหมายปรองดอง คลอดออกมา เพราะถือเป็น 1 ใน 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ได้ออกมาหนุนร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ โดยอ้างว่า หลายประเทศที่มีความขัดแย้งก็ใช้วิธีนิรโทษกรรมเพื่อช่วยลดปัญหานั้น เช่น แอฟริกา โดยให้ทุกฝ่ายลืมอดีตแล้วมาเริ่มต้นใหม่ ไม่เช่นนั้นคนที่ติดชนักก็จะไม่คิดถึงการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ แต่จะหาทางทำให้ตนหลุดพ้นจากปัญหาในอดีตมากกว่า
ขณะที่ ส.ส.ในฟากรัฐบาล รวมทั้ง ส.ว.และประธานสภา-ประธานวุฒิสภา ไม่รู้สึกเห็นดีเห็นงามกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย เพราะมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าวทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง โดยเฉพาะ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จึงอาจเป็นกฎหมายที่เพิ่มความขัดแย้งมากกว่าจะสร้างความสมานฉันท์
เริ่มตั้งแต่พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า จุดยืนของพรรค ก็คือ จะไม่ทำกฎหมายเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะกฎหมายเป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศที่ต้องถือเป็นหลักมาตรฐาน
ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวินในพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในขณะนี้ โดยบอกว่า “เรื่องนี้ต้องฟังความเห็นของประชาชนด้วย เพราะเป็นกฎหมายที่ทำให้สิ่งที่ผิดเป็นถูก” และว่า “ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 แต่ละคนก็อยู่ได้อย่างปกติสุข จึงยังไม่ต้องรีบร้อนนิรโทษกรรม”
ขณะที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจากกลุ่มเพื่อนเนวิน แม้ตอนแรกจะออกอาการหนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยอ้างเหตุว่า เพราะตอนนี้นักการเมืองอาชีพลดน้อยลงทุกวัน นักการเมืองรุ่นใหม่ก็ผลิตไม่ทัน จึงควรคืนสิทธิให้นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ตอนหลังเมื่อกระแสส่วนใหญ่ไม่เอาร่างกฎหมายดังกล่าว นายชวรัตน์จึงออกมาเปลี่ยนท่าทีใหม่ว่าไม่เคยพูดว่าหนุนร่างกฎหมายปรองดองของพรรคเพื่อไทย
ด้านนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่เห็นด้วยกับการสร้างความสมานฉันท์ด้วยการนิรโทษกรรมตามร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทย โดยบอกว่า หลักการที่แท้จริงที่จะสร้างความสามัคคีได้อยู่ที่สำนึกในจิตใจของแต่ละบุคคล มากกว่าที่จะออกเป็นกฎหมาย
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ที่บอกว่า “ความปรองดองในชาติ จะสร้างกฎหมายมาบังคับไม่ได้ แต่ต้องเกิดจากความรู้สึก ความเห็นพ้องต้องกันของคนในชาติ ไม่มีประเทศไหนใช้กฎหมายบังคับให้คนสมานฉันท์”
ส่วนความเห็นของ ส.ว.ได้แก่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ที่เสนอว่า ควรเปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยความแตกแยกแห่งชาติมากกว่า เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวนอกจากจะทำลายกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแล้ว ยังฟอกผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้องอีก 220 คน และยังจะสร้างความร้าวฉานให้แผ่นดินไทยกลับไปสู่ยุคก่อน 19 ก.ย.2549 ด้วย
นายประสาร ยังชี้ด้วยว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองของพรรคเพื่อไทย ขัดต่อ รธน.2550 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะมาตรา 237 ที่ระบุว่า พรรคการเมืองที่ทุจริตเลือกตั้งต้องถูกยุบ นอกจากนี้ ยังขัดมาตรา 216 ที่ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ไม่เท่านั้นยังโยงกับมาตรา 6 ที่ระบุว่า รธน.เป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อ รธน.นี้ ถือว่าบทบัญญัตินั้นใช้บังคับไม่ได้
ฟังความเห็นของสมาชิกผู้ทรงเกียรติในสภาแล้ว ลองไปฟังมุมมองของผู้ที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองของพรรคเพื่อไทยอย่างเสียมิได้กันบ้างว่าจะรู้สึกอย่างไร
รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการ คตส.ชี้ว่า การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอาญาและรัฐธรรมนูญตามร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองของพรรคเพื่อไทยนั้น นอกจากจะมีการเลือกปฏิบัติด้วยการนิรโทษให้เฉพาะกลุ่มแล้ว ยังเป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อ รธน.อย่างชัดแจ้ง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไปลบล้างหรือทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม และอำนาจศาลที่กำหนดไว้ใน รธน.
“การนิรโทษกรรมที่ผ่านมา มันนิรโทษใน 2 ลักษณะ คือ ผมยกตัวอย่างกฎหมายบางฉบับมันนิรโทษให้กับคนที่กระทำความผิด แต่คดีมันยังไม่ถึงที่สุด เช่น กฎหมายอาวุธปืน ยกตัวอย่าง ใครครอบครองอาวุธปืนไว้ในช่วงนี้ ไม่ไปแจ้ง กฎหมายนิรโทษบอกว่าถ้ามาแจ้งก็ถือว่าจบความผิด อันนี้อันหนึ่ง อันที่ 2 มันเป็นการนิรโทษเพราะเหตุผลทางการเมือง เช่น กรณีของ 6 ตุลาก็ดี หรือพฤษภาทมิฬก็ดี นิรโทษด้วยเหตุผลในทางการเมืองว่า ถ้าจะไปเอาความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีจำนวนมากมาย และมีเหตุผลมาจากทางการเมือง มันจะทำให้สังคมไม่สงบสุข ดังนั้นการนิรโทษมันจึงมีขอบเขตชัดเจน เช่น ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.-19 พ.ค.บุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทำอะไรต่างๆ มันก็จะมีตัวเหตุการณ์เป็นตัวล็อกอยู่ แต่กรณีอย่างนี้ผมว่ายังไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย กรณีที่มานิรโทษอย่างครั้งนี้ มันนิรโทษได้อย่างไรบอกว่ามีการกระทำก่อนเดือนนั้นเดือนนี้ไปในอดีต มันผิดหลักอย่างชัดแจ้ง ขัดกับหลักนิติธรรม คือนอกจากมันจะขัดกับหลักการต่างๆ แล้ว มันยังเท่ากับทำลาย รธน.ไปด้วยในตัว เพราะใน รธน.ได้วางหลักต่างๆ พวกนี้ไว้ใน รธน.หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม หลักอำนาจศาลอะไรต่างๆ วางไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าเรายอมให้มีการนิรโทษในกรณีนี้ได้ ก็เท่ากับว่าใช้ตัว พ.ร.บ.ไปลบล้างหลักการสำคัญของ รธน.”
“(ถาม - อ.เชื่อมั้ยว่า การเสนอนิรโทษครั้งนี้ เพื่อเอื้อให้ พ.ต.ท.ทักษิณและเครือข่ายมากกว่า?) ก็มันชัดเจนในสาระของกฎหมาย ถ้าเราไปดูสาระสำคัญของกฎหมาย มันก็มุ่งประสงค์คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ที่มันสะท้อนให้เห็นว่า 1.รากฐานของการนิรโทษไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ไทยเคยมีมา 2.มุ่งประสงค์ต่อกลุ่มนี้ ซึ่งมันก็จะกระทบต่อการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม กระทบต่อคำพิพากษาของศาล มันจะได้หรือไม่ ผมไม่เชื่อว่ามันจะทำได้นะ แม้ว่ามันจะตราออกมาได้ ผมก็คิดว่ามันจะขัดกับ รธน.แต่อย่างไรก็ตาม มันก็สะท้อนแนวคิดว่า เรากำลังจะใช้หลักประชาธิปไตย หลักเสียงข้างมากเพื่อที่จะไปลบล้างกับอีกหลักหนึ่ง คือหลักนิติรัฐ”
ด้านดร.วิชา มหาคุณ 1 ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พูดถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยยกร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองฯ ด้วยการนิรโทษกรรมให้บุคคลต่างๆ ที่กระทำผิดก่อนและหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ว่า แม้แนวคิดจะดีที่ต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ แต่ต้องตรวจสอบให้รอบคอบด้วยว่าเป็นกฎหมายที่ถูกต้องหรือขัดต่อ รธน.หรือไม่ เพราะกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่สามารถออกได้ตามอำเภอใจ
“ต้องดูรายละเอียด ไม่ใช่ว่าเราจะออกกฎหมายอะไรก็ออกโดยง่ายตามที่เราคิด คิดน่ะดี ถือว่าเป็นความคิดที่ดีที่จะให้สมานฉันท์ แต่ต้องตรวจสอบดูให้รอบคอบก่อนนะถึงความถูกต้องอะไรต่ออะไรให้ครบถ้วน ...ต้องดูว่ามันขัดกับ รธน.หรือเปล่า (ถาม-ถ้าการนิรโทษมันครอบคลุมทุกฝ่าย รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณด้วยที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปีและตอนนี้หนีคดีอยู่ จะทำได้เหรอ?) เขาคงต้องดูน่ะ โดยเฉพาะทางกฤษฎีกา เพราะในแง่ของการออกกฎหมาย ถ้าเผื่อจะเอากันจริงๆ มันไม่ใช่อยู่ดีดีจะออกได้เลย ก็คงต้องดูทางด้านกระบวนการในการออกว่า คำว่านิรโทษมันไม่ใช่อภัยโทษนะ หมายความว่า ไม่มีความผิดเลยสำหรับกรณีที่กระทำไป ทำอะไรลงไป เรายังไม่รู้เลยว่ามันจะต้องรวมถึงกรณีที่ท่านยังไม่ได้รับโทษด้วยหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ จะจับกุมมั้ย กระบวนการมันจบหรือยัง ก็ยังมีคดีที่ยังคั่งค้างอยู่ด้วย”
ส่วนท่าทีของแกนนำพันธมิตรฯ ต่อร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองของพรรคเพื่อไทยนั้น นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ให้สัมภาษณ์วิทยุ ASTVผู้จัดการ โดยฝากถามไปยังผู้ที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ว่า ในเมื่อตัวเองโกงเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจ จนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค แล้วยังมีหน้ามาเสนอกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้ตัวเองโดยไม่อับอายหรือกระดากใจบ้างเลยหรือ นายสมเกียรติ ยังชี้ด้วยว่า หากประชาชน 60 ล้านคน ยอมให้นักการเมืองเหล่านี้ข่มขืนความรู้สึกด้วยการออกกฎหมายนิรโทษให้ตัวเองแบบนี้ ก็ไม่ควรมีการเลือกตั้ง ยกประเทศให้นักการเมืองพวกนี้ไปเลยดีกว่า
“ในความเห็นส่วนตัวของผม การเสนอกฎหมายนี้มีข้อที่ต้องตอบคำถามตรงไปตรงมากับสังคมหรือสารภาพกับสังคม หรือถามความเห็นของสังคมใน 3 ข้อ ข้อแรก-พวกคุณจงใจหรือกระทำการอย่างต่อเนื่องในการโกงเลือกตั้งมา เพื่อเข้าสู่อำนาจ ถามว่าการโกงการเลือกตั้งของคุณมาตลอด เพื่อครอบครองอำนาจรัฐ ได้อำนาจรัฐเพื่อฉ้อฉลเนี่ย คุณโกงการเลือกตั้งแล้วเนี่ย มันสมควรที่จะนิรโทษกรรมตัวคุณเองมั้ย อันนี้คำถามที่ 1 คำถามที่ 2 ที่ต้องตอบตรงไปตรงมาก็คือ เมื่อคุณถูกยุบพรรค พรรคไทยรักไทยถูกยุบในปี 2550 แล้วพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยถูกยุบในแ 2551 ทั้ง 4 พรรค โดยเฉพาะพรรคแรกเนี่ย คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พรรคและกรรมการบริหารกระทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำลายความมั่นคงแห่งรัฐ และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน 3 เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติด้วยคะแนน 9 : 0 ยุบพรรคไทยรักไทยในวันนั้นเนี่ย วันนี้คุณยังมีหน้าที่จะมาเสนอนิรโทษกรรมตัวคุณเองใช่มั้ย”
“อันที่ 3 ที่คุณต้องตอบคำถามและรับรู้ความรู้สึกของประชาชน ก็คือ พวกคุณอย่างน้อยที่สุด บรรดาหัวโจกของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปเนี่ย เป็นพวกโกงชาติบ้านเมือง ทุจริตอย่างเอิกเกริกมูลค่านับแสนๆ ล้าน คุณยังไม่รู้สึกอับอายหรือกระดากใจ หรือเกรงกลัวต่อบาปเลยหรืออย่างไรที่จะเสนอนิรโทษกรรมตัวเอง ต้องพูดตรงๆ แบบฟันธงเลย พวกคุณยังมีหน้าเสนอว่าเตรียมการคนรุ่นใหม่ไว้ไม่ทัน ในการรองรับทางการเมือง คล้ายๆ จะบอกว่าพวกคุณมีคุณค่าแก่สังคม แต่ศาลเขาเห็นว่าคุณไม่มีคุณค่า กกต.เขาก็เห็นว่าคุณไม่มีคุณค่า คุณกลับเป็นผู้ทำลายระบอบประชาธิปไตย คุณยังมีหน้ามาเสนอตนเองเพื่อนิรโทษกรรม คุณมองประชาชน 60 กว่าล้านซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ของคุณอย่างไร หรือคุณจะกระทำการข่มขืนความรู้สึกของคนทั้งประเทศเช่นนี้ ผมอยากจะให้ความเห็นและย้ำว่า เรื่องนี้ถ้าประชาชนไทยยอม ก็คิดว่าประเทศไทยก็ไม่ควรที่จะมีการเลือกตั้ง ยกประเทศให้พวกคุณเลยดีกว่า เพราะมีการเลือกตั้ง พวกคุณโกงมา คุณก็จะนิรโทษกรรมเนี่ย มันเป็นเรื่องที่น่าอับอายชนชาติตัวเราเองและทั่วโลกมาก”
นายสมเกียรติ ในฐานะแกนนำพันธมิตรฯ ยังยืนยันด้วยว่า แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะนิรโทษกรรมให้การกระทำของพันธมิตรฯ ด้วย แต่พันธมิตรฯ ไม่ต้องการ เพราะพันธมิตรฯ ไม่ได้เคลื่อนไหวเพราะเล็งเห็นผลว่าจะมีการนิรโทษกรรมในภายหลัง แต่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ อยู่บนจุดยืนและอุดมการณ์ที่ทำเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด พันธมิตรฯ จึงเชื่อมั่นในการกระทำของตนเองไม่ว่าจะได้รับผลจากการกระทำนั้นอย่างไรก็ตาม
ส่วนพันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ และเมื่อใดนั้น นายสมเกียรติ บอกว่า ขณะนี้แกนนำพันธมิตรฯ ยังไม่ได้ปรึกษากัน แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่า ควรจะปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านต่อสู้เรื่องนี้กันเองก่อน ซึ่งเมื่อใดที่ฝุ่นเจือจาง จะได้เห็นว่าใครเป็นศัตรูของประชาชนไทย ใครเป็นผู้ทำลายระบบประชาธิปไตย ใครกระเหี้ยนกระหือรือที่จะยกโทษให้ตนเองโดยไม่ละอายใจ เมื่อถึงวันนั้น พันธมิตรฯ ก็จะได้รู้ว่าหัวโจกของการเคลื่อนไหวให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคือใครกันแน่ พันธมิตรฯ จะได้กำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวได้ถูกว่า ควรจะสู้กับใคร ซึ่งเชื่อว่า อีกไม่นานเกินรอก็จะได้ทราบกัน!!