ASTVผู้จัดการออนไลน์ – รมว.ยุติธรรม อธิบายชัด กม.หมิ่นฯ ม.112 ไม่ใช่แค่คดีหมิ่นประมาท แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะสถาบันกษัตริย์ผูกพันกับสังคมไทยลึกซึ้ง ชี้ ต่างชาติก็มีข้อยกเว้น และความจำเป็นด้านความมั่นคงด้านอื่นเช่นกัน วอนชาวไทยช่วยกันชี้แจงฝรั่ง เผยเบื้องลึกมีขบวนการจัดตั้ง ชี้ นักข่าวออสซี่ขอพระราชทานอภัยโทษได้ตามขั้นตอน
จากกรณีที่ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะดำเนินการต่อผู้กระทำผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเด็ดขาด ประกอบกับมีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับคดีหมิ่นฯ หลายประการ เช่น ในกรณีที่ ศาลอาญาตัดสินจำคุก นายแฮรี นิโคลายส์ (Harry Nicolaides) อดีตนักข่าวและคอลัมนิสต์ชาวออสเตรเลียเป็นเวลา 3 ปี, การจับกุมผู้เผยแพร่ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงลงในเว็บไซต์ต่างๆ, การเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ของ นายใจลล์ ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หลังถูกออกหมายเรียกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากกรณีเขียนหนังสือเรื่อง A Coup for the Rich รวมไปถึง การที่คดีหมิ่นฯ ของ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เข้าสู่ชั้นของอัยการ โดยนายจักรภพ ได้เดินทางไปรายงานตัวต่ออธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งจากหลายๆ เหตุการณ์ข้างต้น ได้มีกลุ่มผู้ให้กำลังใจผู้ต้องคดีหมิ่นฯ ชูป้ายระบุข้อความ อย่างเช่น “ม.112 กฎหมายเผด็จการ ล้าหลัง ทำลายเสรีภาพ” ขณะเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ อย่างรอยเตอร์ ก็ได้ทำสรุปรายชื่อผู้ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่ามีจำนวนนับสิบคนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเสนอข่าวในทำนองชี้นำว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นสากล เป็นกฎหมายล้าหลัง และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
ต่อกรณีดังกล่าว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ โดยระบุว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเหมือนกับคดีหมิ่นประมาททั่วๆ ไป ส่วนคนไทยอีกจำนวนหนึ่งก็กลับไปคิดเหมือนชาวต่างชาติ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นส่งกรณีที่ผลต่อความมั่นคงแห่งรัฐ
“ฝรั่งไม่เข้าใจว่า สำหรับประเทศไทยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มันไม่ใช่คดีหมิ่นประมาทเหมือนในประเทศเขา แต่มันเป็นหนึ่งในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งแต่ละประเทศมีเหตุผลและความจำเป็นที่แตกต่างไม่เหมือนกัน บางประเทศการกระทำความผิดบางอย่างที่คนไทยเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว แต่เขาบอกว่าไม่ได้ เป็นเรื่องใหญ่ อย่างหลายๆ กรณีในประเทศมุสลิม เช่น ผ้าคลุมหน้า (ฮิญาบ) หรือ เรื่องชู้สาว ในเมืองไทยคนไทยบอกเป็นเรื่องเล็ก แต่อย่างในซาอุฯ สหรัฐอเมริกา ถือเป็นเรื่องใหญ่” นายพีระพันธุ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็เป็นผู้ที่ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มเติมความผิดเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระบรมราชวงศ์กล่าวอธิบาย
นายพีระพันธุ์ ยังยกตัวอย่างอีกว่า ปัจจุบันหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็อาจถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ อย่างเช่น กรณีการบล็อกเว็บไซต์การก่อการร้าย การแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการก่อการร้าย หรือการที่สหรัฐฯ ตรวจสอบผู้เดินทางทางอากาศในสหรัฐฯ อย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะการถอดรองเท้า ถอดเข็มขัด หรือบางครั้งต้องถอดเสื้อผ้า ทว่า เรื่องเหล่านี้ทางการสหรัฐฯ ถือว่าเป็นกรณียกเว้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่ง ณ สถานการณ์วันนี้เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องทำ หรือแม้กระทั่ง กรณีการลักทรัพย์ในประเทศซาอุดีอาระเบียที่มีโทษถึงขั้นตัดมือก็เช่นเดียวกัน
“เราต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายอาญานั้นมีมาก่อนพวกเราเกิดเสียอีก แล้วเมื่อมีมาตั้งแต่ต้นเขาได้แบ่งความผิดเอาไว้ โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ มีการกระทำหลายอย่างที่เขาถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงและกระทบความมั่นคงแห่งรัฐ หนึ่งในนั้นก็คือความผิดในมาตรา 112 คือ เรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะว่าจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศไทยแล้ว เราต้องยอมรับว่าถ้าวันนี้เราไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ในอดีต ประเทศไทยจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า?” รมว.ยุติธรรม กล่าวและว่า “เพราะฉะนั้น ความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของประเทศเราจึงอยู่เหนือความเข้าใจของประเทศอื่น เพราะเขาไม่เหมือนเรา นี่เป็นเหตุผลภายในของเรา เราจัดชั้นเป็นความมั่นคงแห่งรัฐ เป็นความผิดด้านความมั่นคงแห่งรัฐ”
ทั้งนี้ ใน รมว.ยุติธรรม ให้เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กลไกภาครัฐ เช่น กระทรวงต่างประเทศ สถานทูตไทยในประเทศต่างๆ รวมถึง ขอความร่วมมือไปยังประชาชนให้ช่วยกันอธิบายให้ชาวต่างชาติเข้าใจว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐของไทย และมิได้มีความหมายเพียงแค่คำว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ Lese Majeste เท่านั้น
“Lese Majeste เป็นศัพท์เทคนิคของกฎหมาย ไม่ใช่ลักษณะความผิดของกฎหมาย เป็นศัพท์เฉพาะ ความผิดเช่นนี้ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Lese Majeste หรือการดูหมิ่น เหยียดหยามสถาบันฯ ไม่ใช่เรื่องความผิด คำนี้เป็นคำอย่างนั้น แต่ในกรณีของไทยมันเป็นอาชญากรรมที่กระทบต่อ National Security ถ้าเราพูดเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ ประเทศอื่นๆ เขาจะเข้าใจ สิงคโปร์เขาเคยต้องเฆี่ยนคน โบยคน เพราะแค่คนๆ นั้นทิ้งหมากฝรั่ง แล้วทำไมเขาทำ เพราะเขามีเหตุผลของเขา ถ้าเราไม่อยากโดนก็อย่าไปทำอย่างนั้นในประเทศเขา เพราะฉะนั้น แต่ละประเทศย่อมมีเหตุผลภายในของตัวเอง”
ต่อมาเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความแตกต่างของสถาบันกษัตริย์ของไทยกับของต่างชาติอย่างเช่น อังกฤษ และญี่ปุ่น รมว.ยุติธรรม ก็ชี้แจงว่า ในประเทศอังกฤษ กษัตริย์มิได้มีสถานะเป็นสมมติเทพดังเช่นวัฒนธรรมไทย ส่วนประเทศญี่ปุ่นสถานะของจักรพรรดิก็มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก
“เราต้องยอมรับว่า ในอดีต องค์พระมหากษัตริย์นั้น เป็นสมมติเทพ อังกฤษเขาไม่ได้บอกว่ากษัตริย์เขาเป็นสมมติเทพ เขาเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ ญี่ปุ่น ณ วันนี้ก็ไม่ใช่ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนจักรพรรดินั้นยิ่งใหญ่มาก แต่วันนี้สถาบันกษัตริย์ของเรายังคงความสำคัญอันนี้อยู่ เรายังเทิดทูนและเรายังมีความเชื่ออยู่”
นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวอธิบายต่อไปด้วยว่า “ถ้าตัดเรื่องอื่นไป พูดถึงแค่ความรู้สึกเรา สมมติว่าผมไปวิพากษ์วิจารณ์คุณพ่อคุณแม่คุณ (หมายถึงผู้สื่อข่าว) ได้ไหม (นักข่าวตอบ “ไม่ได้”) ผมบอกว่า มันสิทธิเสรีภาพผม ทำไมจะวิจารณ์ไม่ได้? ... นั่นคือ พ่อเราๆ เรายังบอกไม่ได้ แล้วนี่พ่อของแผ่นดิน ได้ไหม ก็แค่นี้ล่ะครับ”
ส่วนกรณีที่มีคนบางกลุ่มออกมาโจมตีว่า กฎหมายอาญา ม.112 ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น นายพีระพันธุ์ โต้ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะหากกระบวนการออกกฎหมายนั้นถูกต้อง กฎหมายนั้นก็ย่อมชอบด้วยกฎหมาย
“นักข่าวออสซี่” ขออภัยโทษได้ตามขั้นตอน
เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย ได้เข้าขอร้องทางรัฐบาลไทยให้ขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ นายแฮรี นิโคลายส์ ชาวออสเตรเลียที่ถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ว่า รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์จะเข้าไปมีบทบาทอย่างไร นายพีระพันธุ์ ตอบว่า เรื่องนี้มีขั้นตอนตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว และตนมีหน้าที่คล้ายเป็นผู้ส่งต่อเรื่องเท่านั้น
“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาขอได้ไหม อยู่ที่ว่าเขาขอแล้วเขาจะได้รับสิ่งที่เขาขอหรือเปล่า อันนี้มันมีหลักเกณฑ์ของคนที่จะขอพระราชทานอภัยโทษได้ เมื่อเข้าหลักเกณฑ์แล้วต้องพิจารณาว่าเขาเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับหรือไม่ และสุดท้าย ถ้าเข้าเงื่อนไข ส่งขึ้นไปก็แล้วแต่พระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่มีใครตอบได้ เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ไม่มีคำถามที่ตอบยากเลย เพราะผมเป็นแค่แมสเซนเจอร์เท่านั้น ซึ่งทุกอย่างมันมีกฎเกณฑ์กติกาอยู่” รมว.ยุติธรรม กล่าว
นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวด้วยว่า ตามขั้นตอนของการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ต้องเริ่มต้นที่กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเมื่อกรมราชทัณฑ์ส่งเรื่องมาถึงตน เมื่อตนพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขก็จำเป็นต้องส่งต่อ มิฉะนั้น ตนก็อาจจะถูกฟ้องข้อหาประพฤติมิชอบได้ ทว่า ถ้าคนที่ขอมาไม่เข้าหลักเกณฑ์ทางผู้ที่ส่งเรื่องขึ้นมา คือ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็อาจต้องข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ได้
ในตอนท้าย รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงสถานการณ์การโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระแสการเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ลึกๆ แล้วตนทราบมาว่าส่วนหนึ่งเกิดจากขบวนการจัดตั้ง
สำหรับ กฎหมายอาญามาตรา 112 ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” |