xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองเรียก “พัชรวาท”-บก.มติชนแจง อ้างคำสั่งคุ้มครองขวางเอาผิด ASTV

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองสูงสุดเรียก ผบ.ตร.และ บก.มติชนรายวัน เข้าให้ถ้อยคำ หลังอ้างดำเนินคดี ASTV ไม่ได้ เพราะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด ระบุทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าศาลปกครองคุ้มครอง ASTV ทั้งที่มีความเหมือนดีสเตชั่น เผยกรมประชาฯ ถอนอุทธรณ์คดีที่แพ้ ASTV โดยศาลปกครองสูงสุดสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบแล้ว

วันที่ 4 พ.ค.รายงานข่าวจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง แจ้งว่า สืบเนื่องจากกรณีตามหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2552 หน้า 2 ลงบทความ “คำแถลง สนง.ตร.แจงเหตุคดีเหลือง-แดง ต่างกัน” และมีประเด็นข้อความในลักษณะแนวคำตอบของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และคณะ ฯลฯ” ซึ่งข้อความในบางตอนระบุว่า “ดีสเตชั่นถูกจับดำเนินคดีในข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนเอเอสทีวีมีข้อจำกัดไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ เนื่องจากได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 147-148/2549 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549 ปัจจุบันยังได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งดังกล่าวอยู่”

โดยประเด็นข้อความดังกล่าวบ่งบอกถึงเจตนาของผู้ให้ข้อความต้องการให้ประชาชนหรือผู้อ่านเข้าใจผิดว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองเอเอสทีวีผู้กระทำความผิดเฉกเช่นเดียวกับดีสเตชั่น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีในมาตรฐานเดียวกันกับดีสเตชั่น ซึ่งเป็นข้อความที่สื่อความหมายผิดไปจากข้อเท็จจริงแห่งคดี โดยประเด็นข้อความดังกล่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อเผยแพร่หรือโฆษณาต่อสาธารณชน ถือไม่ได้ว่าเป็นการวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุดด้วยวิธีการทางวิชาการ อันเป็นการกระทำที่น่าจะเข้าข่ายผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2552 ประกอบมาตรา 32(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งลงวันที่ 29 เมษายน 2552 ถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายสุวพงษ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เรียกให้เข้าไปให้ถ้อยคำต่อศาลในเรื่องนี้ โดยศาลนัดไต่สวน ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 เวลา 13.30 น.ที่ศาลปกครองสูงสุด ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 12

ทั้งนี้ การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำต่อศาลในเรื่องดังกล่าวนั้น เนื่องจากเห็นว่าข้อความตอนหนึ่งที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะ ได้แถลงต่อสาธารณชนตามที่ปรากฏในข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนดังกล่าวนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และผิดไปจากข้อเท็จจริงแห่งคดี ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าศาลปกครองปฏิบัติสองมาตรฐาน จึงเห็นควรเรียกให้บุคคลทั้งสองราย เข้ามาให้ถ้อยคำต่อศาลเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อจะได้ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแห่งคดีต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง คดีเอเอสทีวี (ASTV) ที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2551 คอลัมน์นิติปกครอง โดย นายมหาชน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเอเอสทีวีของศาลปกครอง ซึ่งเป็นคดีที่ฝ่ายเอเอสทีวีได้ฟ้องกรมประชาสัมพันธ์ ที่สั่งให้ กสท ระงับการให้บริการดาวเทียมโกล็บแซตแก่เอเอสทีวี เมื่อต้นปี 2549 ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เอเอสทีวีชนะคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551 โดยให้กรมประชาสัมพันธ์ชดใช้ค่าเสียหาย 120,000 บาท หลังจากนั้นฝ่ายกรมประชาสัมพันธ์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ต่อศาลปกครองสูงสุด และในเวลาต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรายดังกล่าว ได้ร้องขอถอนอุทธรณ์คำพิพากษาฯ ศาลปกครองสูงสุด จึงได้มีคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ อ.515/2551ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์คำพิพากษาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

สำหรับคดีนี้ บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด และนายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 9 คน เป็นผู้ฟ้องคดีต่อกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นายดุษฎี สินเจิมศิริ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นางภัทรียา สุมะโน รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นายพิศาล จอโภชาอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และนายจิรชัย สีจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ในกรณีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่มีคำสั่งระงับการให้บริการเครือข่ายดาวเทียมโกลบแซตในการเผยแพร่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และระงับการให้บริการระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งที่บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม ไม่ได้กระทำการผิดสัญญาใดๆ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 37 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2545 นอกจากนี้ ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรค 3 ในเรื่องของการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน

บทความเรื่อง “คดีเอเอสทีวี (ASTV)” ที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2551 คอลัมน์นิติปกครอง โดย นายมหาชน
คดีเอเอสทีวี (ASTV)

ความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการยุติการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี (ASTV) ยังคงมีอยู่ตลอดมา โดยอ้างว่าสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานีเพื่อแพร่ภาพออกอากาศ อันผิดกฎหมายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และเป็นสื่อที่ปลุกระดมมวลชน

ท่านที่ติดตามข่าวคงจำได้ว่า คดีนี้ศาลปกครองกลางได้เคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวสามารถออกอากาศได้ตามที่ผู้ฟ้องคดีคือบริษัทไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด และพวกได้ร้องขอ และต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางในการคุ้มครองการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

กระทั่งในวันที่ 31 มกราคม 2551 ศาลปกครองกลางจึงได้มีคำพิพากษาตัดสินในคดี โดยตัดสินให้กรมประชาสัมพันธ์ (ผู้ถูกฟ้องคดี) เป็นฝ่ายแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 120,000 บาท ขณะนี้คดีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์เพราะผู้ถูกฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

วันนี้ ผมจึงขอนำเหตุผลของศาลปกครองทั้งกรณีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและคำพิพากษามานำเสนอ เพื่อให้เกิดความกระจ่างว่าเหตุใดสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวจึงยังสามารถออกอากาศได้ และเหตุใดการกระทำของกรมประชาสัมพันธ์จึงผิดกฎหมาย และละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

คดีนี้ ผมเห็นว่าสำคัญเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เป็นที่ทราบกันว่าสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีนั้น ต่างจากสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทั่วไป เพราะสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว ใช้บริการโกลบแซ็ตในการยิงสัญญาณจากรถถ่ายทอดสดขึ้นดาวเทียมไทยคมเพื่อส่งสัญญาณมาที่ห้องส่งถนนพระอาทิตย์ ซึ่งสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีได้ทำสัญญาเช่าใช้บริการโกลบแซ็ตกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

แต่กรมประชาสัมพันธ์เห็นว่า สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานีเพื่อแพร่ภาพออกอากาศ อันผิดกฎหมายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จึงมีคำสั่งให้บริษัท กสท.ฯ ระงับการส่งสัญญาณแก่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ซึ่งเป็นต้นเหตุของการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง และต่อมาศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองให้สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวสามารถออกอากาศได้ตามปกติในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด

โดยศาลให้เหตุผลในการคุ้มครองชั่วคราว สรุปใจความได้ว่า หากกรมประชาสัมพันธ์เห็นว่าการออกอากาศของผู้ฟ้องคดีผิดกฎหมายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญา กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกรมประชาสัมพันธ์ในการที่จะสั่งบริษัท กสท.ฯ ระงับการส่งสัญญาณของผู้ฟ้องคดีได้

การกระทำของกรมประชาสัมพันธ์เป็นการกระทบเสรีภาพในการสื่อสารและการสื่อความคิดเห็น ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ การจะจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน โดยกรณีจะเป็นเช่นที่ว่าและมีผลให้ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อได้มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการดังกล่าวโดยเฉพาะเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อยังมิได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเป็นที่สุด สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของราษฎรที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองจึงควรมีหลักประกันว่าจะไม่ถูกละเมิดได้โดยง่าย ศาลจึงมีคำสั่งคุ้มครองการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว

สำหรับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางซึ่งได้มีคำตัดสินไปแล้วเมื่อต้นปี สรุปความได้ว่า กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกรมประชาสัมพันธ์ในการสั่ง บริษัท กสท.ฯ ระงับสัญญาณของผู้ฟ้องคดีได้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและเป็นการล่วงละเมิดสิทธิตามสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับบริษัท กสท.ฯ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีในการไม่สามารถผลิตและส่งรายการตามกำหนดตามที่ตกลงกับบริษัทคู่สัญญาได้ ซึ่งจะต้องเสียค่าปรับในการผิดสัญญาดังกล่าวด้วย

ประการสำคัญคือ การสั่งระงับสัญญาณนั้น ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ฯลฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ จึงควรมีหลักประกันว่าจะไม่ถูกละเมิดได้โดยง่าย

ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือของกรมประชาสัมพันธ์ที่ให้บริษัท กสท.ฯ ระงับการส่งสัญญาณแก่ผู้ฟ้องคดี และชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย


ผลจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุดและคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง จึงทำให้สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีสามารถออกอากาศได้ดังทุกวันนี้ คดีนี้บทสรุปจะเป็นอย่างไร คงต้องรอคำชี้ขาดสุดท้ายจากศาลปกครองสูงสุด (คดีหมายเลขแดงที่ 131/2551)



กำลังโหลดความคิดเห็น