xs
xsm
sm
md
lg

ศาลตอกพัชรวาท-มติชน มั่วคำสั่งคุ้มครองขวางเอาผิดASTV

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สืบเนื่องจากกรณี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2552 หน้า 2 ลงบทความ "คำแถลง สนง.ตร.แจงเหตุคดี เหลือง–แดง ต่างกัน" มีประเด็นข้อความในลักษณะแนวคำตอบของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)และคณะ ฯลฯ” ซึ่งข้อความในบางตอนระบุว่า "ดีสเตชั่น ถูกจับดำเนินคดีในข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วน เอเอสทีวี มีข้อจำกัดไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ เนื่องจากได้รับความคุ้มครองตามคำสั่ง ศาลปกครองสูงสุด ที่147–148/ 2549 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549 ปัจจุบันยังได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งดังกล่าวอยู่" นั้น
ล่าสุด ทางสำนักงานศาลปกครอง มีหนังสือชี้แจงว่า ประเด็นข้อความดังกล่าว บ่งบอกถึงเจตนาของผู้ให้ข้อความ ต้องการให้ประชาชน หรือผู้อ่านเข้าใจผิดว่า ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งคุ้มครองเอเอสทีวี ผู้กระทำความผิดเฉกเช่นเดียวกับ ดีสเตชั่น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมดำเนินคดี ในมาตรฐานเดียวกันกับ ดีสเตชั่น ถือเป็นข้อความที่สื่อความหมายผิดไปจากข้อเท็จจริงแห่งคดี โดยประเด็นข้อความดังกล่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อเผยแพร่หรือโฆษณาต่อสาธารณชน ถือไม่ได้ว่า เป็นการวิจารณ์ การพิจารณาหรือการพิพากษาคดี ของ ศาลปกครองสูงสุด ด้วยวิธีการทางวิชาการ อันเป็นการกระทำที่น่าจะเข้าข่ายผู้กระทำความผิด ฐานละเมิดอำนาจศาล ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2552 ประกอบมาตรา 32 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งลงวันที่ 29 เม.ย.52 ถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และนายสุวพงษ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เรียกให้เข้าไปให้ถ้อยคำต่อศาลในเรื่องนี้ โดยศาลนัดไต่สวน ในวันที่ 13 พ.ค.52 เวลา 13.30 น. ที่ศาลปกครองสูงสุด ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 12

**ศาลระบุทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
ทั้งนี้ การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำต่อศาลในเรื่องดังกล่าวนั้น เนื่องจากเห็นว่า ข้อความตอนหนึ่งที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะได้แถลงต่อสาธารณชนตามที่ปรากฏในข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนดังกล่าวนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และผิดไปจากข้อเท็จจริงแห่งคดี ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดได้ว่าศาลปกครองปฏิบัติสองมาตรฐาน จึงเห็นควรเรียกให้บุคคลทั้งสองราย เข้ามาให้ถ้อยคำต่อศาลเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อจะได้ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแห่งคดีต่อไป

**ASTVชนะคดีไปตั้งนานแล้ว
นอกจากนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่บทความ เรื่องคดี เอเอสทีวี (ASTV) ที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันที่ 27 ก.ย.51 คอลัมน์นิติปกครอง โดย นายมหาชน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเอเอสทีวี ของศาลปกครอง ซึ่งเป็นคดีที่ฝ่ายเอเอสทีวี ได้ฟ้องกรมประชาสัมพันธ์ ที่สั่งให้ กสท ระงับการให้บริการดาวเทียมโกลบแซต แก่ เอเอสทีวี เมื่อต้นปี 49 ซึ่งศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ เอเอสทีวี ชนะคดี เมื่อวันที่ 31 ม.ค.51 โดยให้กรมประชาสัมพันธ์ชดใช้ค่าเสียหาย 120,000 บาท หลังจากนั้นฝ่ายกรมประชาสัมพันธ์ ได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองสูงสุด
สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกว่า คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ต่อศาลปกครองสูงสุด และในเวลาต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรายดังกล่าว ได้ร้องขอถอนอุทธรณ์คำพิพากษาฯ ศาลปกครองสูงสุด จึงได้มีคำสั่งคดี หมายเลขแดงที่ อ.515/2551 ลงวันที่ 14 พ.ย.51 อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์คำพิพากษา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
สำหรับคดีนี้ บริษัทไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด และนายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 9 คน เป็นผู้ฟ้องคดีต่อกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นายดุษฎี สินเจิมศิริ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นางภัทรียา สุมะโน รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นายพิศาล จอโภชาอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และนายจิรชัย สีจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ในกรณีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่มีคำสั่งระงับการให้บริการเครือข่ายดาวเทียมโกลบแซต ในการเผยแพร่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และระงับการให้บริการระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม ไม่ได้กระทำการผิดสัญญาใดๆ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 37 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารถึงกัน และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2545 นอกจากนี้ ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 วรรค 3 ในเรื่องของการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน

**สาทิตย์จับผิด ดีสเตชัน
ในวันเดียวกันนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าได้ตั้งข้อสังเกตว่าการทำสัญญาเช่าเส้นใยแก้วนำแสงของสถานีโทรทัศน์ดีสเตชัน กับบริษัททีโอที มีสิ่งที่ผิดปกติ เนื่องจากโดยปกติการเช่าสายส่งสัญญาณต้องทำสัญญา แต่กรณีนี้ไม่มีการทำสัญญาจึงตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากในสัญญาข้อ 3 ที่เขียนว่า ผู้เช่าหรือผู้ใช้บริการต้องได้รับใบอนุญาตการประกอบอาชีพวิทยุชุมชน หรือสถานีโทรทัศน์จากกรมประชาสัมพันธ์ หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ดีสเตชัน ไม่มีใบอนุญาต เพราะไม่มีหลักฐานการไปขอใดๆ จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ดังนั้นจึงน่าสงสัยว่า การเช่าเส้นใยแก้วนำแสงเพื่อส่งสัญญาณดำเนินการโดยถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะต้องติดตามหาความจริงต่อไป
ทั้งนี้ ดีสเตชัน ทำหนังสือถึงทีโอที ลงวันที่ 22 ธ.ค.51 ขอเช่าสายส่งสัญญาณ ทีโอที ตอบตกลงเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.51 ให้เช่าสัญญาณได้ และวันเดียวกันนี้ ดีสเตชันทำหนังสือยืนยันกลับไป ทีโอที จึงสั่งการให้ติดเส้นใยแก้วนำแสง เพื่อนำไป Uplink สัญญาณขึ้นดาวเทียมไทยคม
ส่วนกรณีที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวหาว่า การดำเนินการของรัฐต่อสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และดีสเตชัน มีลักษณะ 2 มาตรฐานนั้น นายสาทิตย์ ชี้แจงว่า เอเอสทีวี กับดีสเตชัน แตกต่างกัน ทั้งที่มา ข้อกฎหมาย และวิธีการแพร่ภาพส่งสัญญาณ วิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ จึงแตกต่างกัน
ทั้งนี้ ดีสเตชัน เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือน มี.ค.51 และเปิดอีกครั้งในเดือนม.ค.52 จึงอยู่ภายใต้การบังคับของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ซึ่งให้อำนาจ กทช.กำกับดูแล แต่ เอเอสทีวี ก่อตั้งเดือนมี.ค.47 อำนาจการกำกับดูแลจึงยังคงอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ดังนั้น ถ้าดีสเตชัน จะทำให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น ต้องขออนุญาตกับ กทช.ก่อน
นอกจากนี้ วิธีการแพร่ภาพออกอากาศก็แตกต่างกัน เอเอสทีวี ใช้วิธีส่งสัญญาณจากรถกระจายเสียง และห้องส่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยใช้ Gateway ของบริษัท กสท โทรคมนาคม และส่งไป Uplink สัญญาณที่ ฮ่องกง ใช้ดาวเทียม NSS6 ซึ่งเป็นดาวเทียมของต่างประเทศ ขณะที่ ดีสเตชัน ออกอากาศจากห้องส่ง ผ่านทางคลื่นไมโครเวฟ ของบริษัท ทีโอที โดยเช่าสัญญาณเส้นใยแก้วนำแสง ส่งสัญญาณจาก ทีโอทีไปยังสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของไทยคม ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี จากนั้นจึง Uplink สัญญาณไปที่ดาวเทียมไทยคม 5
"ทั้งนี้กฎหมายไทย ควบคุมเฉพาะการ Uplink สัญญาณเฉพาะดาวเทียมของไทย เทมาเสก ได้สัมปทานดาวเทียมไทยคมจากไทย จึงอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เขียนชัดว่า กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและจำเป็น รัฐสามารถเข้าดำเนินการส่งสัญญาณภาพใดๆได้ จึงเป็นที่มาของช่วงที่ดาวเทียมไทยคม งดแพร่ภาพจากสถานี ดีสเตชัน ช่วงการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" นายสาทิตย์กล่าว

**ดีสเตชันยุยงก่อความไม่สงบ
นอกจากนี้เหตุการณ์ไม่สงบช่วงเดือนเม.ย. มีหลักฐานปรากฏชัด เรื่องการแพร่ภาพออกอากาศของดีสเตชันว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบ ตำรวจ และกทช. จึงเข้าดำเนินการกับดีสตชัน ส่วนที่ นปช.ถามว่าทำไมไม่จัดการเอเอสทีวี ด้วย ประเด็นคือ เอเอสทีวี ไม่ปรากฏการทำผิดตาม มาตรา 116 ในเหตุการณ์ช่วงสงกรานต์ รัฐจึงดำเนินการไม่ได้
นายสาทิตย์ กล่าวว่า การจะเปิดดีสเตชันใหม่ ยังทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.ใครเปิด เพราะผู้ถูกดำเนินคดีก็ไม่สามารถขออำนาจดำเนินการได้ 2. จะเปิดอย่างไร โดยต้องเลือกว่าจะเป็นวิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม หรือ อะไร ซึ่งก็มีระเบียบวิธีปฏิบัติต่างกัน และ 3. ด้วยวิธีการอะไร ซึ่งขณะนี้มีระเบียบโดย กทช. ดำเนินการอยู่แล้ว การขออนุญาตจึงต้องไปที่ กทช. ดังนั้นการจะเคลื่อนไหวใหญ่วันที่ 6 พ.ค. เพื่อเรียกร้องให้รัฐคืน ดีสเตชัน คำตอบคือ รัฐบาลไม่ได้เก็บเอาไว้ แต่ตำรวจกับกทช. ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งหากสถานีใดทำผิดกฎหมาย รัฐจะต้องไปดำเนินการในลักษณะเดียวกับดีสเตชัน
อย่างไรก็ตามในต้นเดือน มิ.ย. ระเบียบของ กทช. จะเสร็จเรียบร้อย ถึงตอนนั้นทุกสถานีดาวเทียมจะต้องไปขออนุญาตใหม่อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น