ดีเอสไอ ร่วม กกต.ตรวจสอบเอกสารข้อมูลเงิน 258 ล้าน เข้าพรรคประชาธิปัตย์ ทุ่มสุดตัว ชงหลักฐาน 3,261 แผ่น ชง กกต.เอาผิด ยอมรับข้อมูล “เป็ดเหลิม” อภิปรายในสภาเป็นส่วนหนึ่งในสำนวน แต่คุยยังมีข้อมูลที่ลึกกว่านั้น ยันไม่คิดทำให้กลายเป็นเรื่องการเมือง ย้ำทำตามหน้าที่
วันนี้ (25 มี.ค.) ที่สำนักงาน กกต.คณะทำงานตรวจสอบเอกสารสำนวนหลักฐานกรณี เงินบริจาค 258 ล้านบาท และ การใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองผิดวัตถุประสงค์ 23 ล้านบาทของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งมาให้ กกต.นำโดย นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ ประกอบด้วย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรชัย อารักษ์รัฐ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.จักรกริช แดงสุริศรี รักษาการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมเปิดกล่องเอกสารสำนวน ที่ กกต.เกรงว่า จะมีความคลาดเคลื่อน และจากการตรวจสอบ พบว่า มีเอกสารจำนวน 8 แฟ้ม ตามที่ระบุในหนังสือนำส่ง โดยในกล่องที่หนึ่ง มีจำนวน 4 แฟ้ม แต่มีลำดับหมายเลข 1-3 เนื่องจากแฟ้มลำดับที่ 2 ซึ่งเป็นคำให้การของพยาน มีเอกสารจำนวนมากจึงต้องแยกออกมาเป็นแฟ้มต่างหาก โดยใช้ชื่อว่า แฟ้มที่ 2 (ต่อ) ขณะที่ กล่องที่ 2 มีแฟ้มลำดับหมายเลข 4-7 และพบว่า มีสำนวนทั้งสิ้น 3,261 แผ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการตรวจสอบสำนวน เลขาธิการ กกต.ได้ซักถามรองอธิบดี ดีเอสไอ ว่า ในสำนวนที่นำมาส่งนั้นถือว่าเสร็จสมบูรณ์หรือยัง มีการสรุปสำนวนให้ กกต.หรือไม่ ได้ทำเป็นคำร้องหรือไม่ และถามว่า ดีเอสไอให้ กกต.ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่ง กกต.เป็นผู้รักษาการ แต่ตามกฎหมายดังกล่าว ยังมีโทษทางอาญาด้วย ดีเอสไอจะทำคดีในส่วนนี้ต่อไปหรือไม่
โดย พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า สำนวนที่ส่งให้ กกต.ถือว่ายังทำไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะมีข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ ดีเอสไอ หากเข้าไปดำเนินการก็อาจจะถือว่าเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจ ส่วนเรื่องเอกสารที่ส่งมานั้นไม่ถือว่าเป็นคำร้อง แต่ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ทางดีเอสไอศึกษา พ.ร.บ.พรรคการเมืองแล้วเห็นว่ากฎหมายใช้คำว่า “ความปรากฏต่อนายทะเบียน” จึงส่งสำนวนมาให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้หรือไม่ และหากทาง กกต.ต้องการสำนวนสรุป ดีเอสไอก็พร้อมจะสรุปเสนอให้ กกต.ภายในวันที่ 27 มี.ค.นี้ ขณะที่ในชั้นคณะทำงานเพื่อให้การดำเนินการ รวดเร็ว และเพื่อความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดีเอสไอก็พร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่ที่ศึกษา และทำคดีนี้มากว่าครึ่งปีมาช่วยชี้พยานหลักฐานพยานบุคคลให้
รองอธิบดี ดีเอสไอ ยังกล่าวต่ออีกว่า สำหรับการสอบตามความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ดีเอสไอก็ยังจะดำเนินการต่อ เพราะขณะนี้ทำไปแล้วกว่า 70% ซึ่งหากสอบเสร็จก่อน ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนโดยไม่ต้องรอการสอบของ กกต.ส่วนความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ดีเอสไอดำเนินการอยู่ โดยจะหารือกับ กกต.ว่า จะให้ดำเนินการต่อหรือไม่ หรือ กกต.จะรับไว้ดำเนินการเอง
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่อว่า การประสานความร่วมมือในการตรวจสอบมายัง กกต.ครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่กับหน่วยงานอื่น ดีเอสไอ เคยกระทำมาแล้ว เช่น ป.ป.ช.โดยจะส่งเอกสารลักษณะเดียวนี้ และยืนยันว่า เมื่อเราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ต้องร่วมมือกันทำงาน หากใครทำความผิด ก็ต้องเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ แต่ไม่ได้หมายความเรื่องนี้เป็นเรื่องของดีเอสไอ แล้ว กกต.ห้ามทำ หรือเป็นเรื่องของ กกต.แล้ว ดีเอสไอ กกต.ห้ามยุ่ง เพราะเรามีเป้าหมายที่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องนี้จะไม่เกิดเลย หาก กกต.ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเป็นที่ปรึกษาตามที่ดีเอสไอมีหนังสือขอเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่างจาก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเมื่อมีการร้องขอไป
นอกจากนี้ พ.ต.อ.สุชาติ ยังยอมรับว่า ข้อมูลที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นส่วนหนึ่งของเท็จจริงที่ตรงกับสำนวน แต่ยังมีเนื้อสำนวนอีกมากที่แตกต่างออกไป และยืนยันว่า การที่ดีเอสไอส่งเอกสารในวันที่ 18 มี.ค.ก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 วัน ไม่ได้เป็นการกระทำที่หวังผลการเมือง เพราะเราได้ประชุมพนักงานสอบสวน ร่วมกับอัยการ แล้วจึงเสนอให้อธิบดีดีเอสไอลงนาม ซึ่งวันที่ส่งสำนวนมานั้น เราทราบว่า มีผลกระทบกับการเมืองสูง แต่เราไม่ได้ทำให้เป็นประเด็นการเมือง เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็ต้องตีฆ้องร้องเป่ากันแล้ว แต่ได้ส่งเรื่องนี้มาอย่างเงียบๆ อีกทั้งยังโทรศัพท์หาเจ้าหน้าที่หน้าห้องของนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องลับช่วยดูหน่อย นอกจากนี้กว่าที่อธิบดีจะลงนามก็ต้องใช้เวลา 2 วัน ซึ่งก็ประจวบเหมาะกัน
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.สุชาติ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า พยานหลักฐานที่ส่งมามีน้ำหนักพอที่จะเอาผิดพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถนำการรับรองงบดุลของกกต.ในปี48 มาเป็นข้อต่อสู้ได้หรือไม่ เพียงแต่ระบุว่าในสำนวนที่รวบรวมมามีคำตอบอยู่แล้ว ไม่อยากพูด เพราะจะเป็นการบีบคณะทำงานของ กกต.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพูดคุยกัน เลขาธิการ กกต.พยายามชี้แจงสิ่งที่ กกต.ต้องทำ คือ พิจารณาว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ในอำนาจการพิจารณาของ กกต.หรือไม่ และพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะตอบว่าหากกรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ต้องยุบหรือดำเนินคดีกับพรรคประชาธิปัตย์ นายทะเบียนพรรคต้องเป็นเจ้าทุกข์ในการฟ้องคดีหรือไม่ โดยระบุแต่ว่า ต้องดูว่า กกต.มีอำนาจ หรือไม่ เพราะแม้ความจะปรากฏแต่ต้องมีเหตุอันสมควร และพยายามชี้ให้ดีเอสไอสรุปสำนวนมาให้ กกต.นอกจากนี้ การเปิดตรวจสอบเอกสาร นายปกครอง สุนทรสุทธิ์ ประธานคณะทำงาน ยังแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการทำงานพอสมควร เพราะเอกสารทั้งหมดที่นำส่งเป็นข้อมูลดิบ