xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” ตั้งทีมล้อมคอกข้อมูลรั่วไหลให้ฝ่ายค้านซัดรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“ทวี” สั่งผู้เชี่ยวชาญดีเอสไอตรวจสอบข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เปรียบเทียบสำนวนการสอบสวน เหตุอาจมีข้อมูลรั่วไหลไปยังฝ่ายค้าน มั่นใจองค์กรยึดความเป็นกลางในการทำงาน ไม่มีการแทรกแซงจากทุกฝ่าย ยันการรักษาความลับในสำนวนมีระเบียบคุมชัดเจน ไม่มีเล็ดลอดออกสู่ภายนอก ด้าน “มาร์ค” ไม่เชื่อข้อมูลรั่วจะเป็นเหตุให้ “ทวี” ถูกเด้ง ชี้ รมว.ยุติธรรมเคยปฏิเสธกระแสนี้หลายครั้งแล้ว

วันนี้ (23 มี.ค.) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยถึงกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมอบให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบข้อมูลว่าอาจจะมีข้อมูลจากการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ รั่วไหลไปยังฝ่ายค้านเพื่อใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาว่า ในเรื่องนี้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะนำข้อมูลจากการอภิปรายมาตรวจสอบและวิเคราะห์ว่า มีเนื้อหาตรงกับสำนวนการสอบสวนหรือไม่ โดยมีคณะทำงานรวบรวมข้อมูลและเอกสารในการอภิปรายแล้วนำมาเปรียบเทียบว่าตรงกันหรือไม่ ซึ่งการทำคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเป็นรูปคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ลักษณะความเชี่ยวชาญ เป็นสหวิชาชีพที่โอนย้ายมาจากหลายองค์กร หากเป็นคดีสำคัญจะใช้พนักงานสอบสวนประมาณ 15-20 คน และมีพนักงานอัยการชั้นผู้ใหญ่เข้ามาร่วมการสอบสวนในทุกขั้นตอน

“กรมสอบสวนคดีพิเศษยืนยันว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือรัฐบาล ไม่เคยเข้าแทรกแซงการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษแต่อย่างใด ทั้งยังให้อิสระในการทำงานตามข้อเท็จจริง พยานหลักฐานและกฎหมาย ส่วนการรักษาความลับในสำนวนนั้น มีระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า หากพนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติจะมีความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบข้อมูลในเรื่องดังกล่าวจะไม่มอบหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบเนื้อหาในสำนวนการสอบสวน เพราะเห็นว่าอาจจะเกิดความเสียหายยิ่งขึ้น เนื่องจากมีรายชื่อบุคคลถูกกล่าวอ้างปรากฏในสำนวนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีเนื้อหาข้อเท็จจริงที่เป็นความลับ อยู่ในขั้นรวบรวมหลักฐานซึ่งยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าจะเป็นจริงหรือเท็จ” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวต่อไปว่า คณะพนักงานสอบสวนยังไม่ได้วินิจฉัยและสรุปว่าใครถูกหรือ ผิด ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเร่งตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวในเบื้องต้นก่อน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะยังคงรักษาความเป็นมาตรฐานความเป็นกลางทางการเมือง และให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ในวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะยื่นข้อมูลหลักฐานเงินบริจาค 258 ล้านบาท ของพรรคประชาธิปัตย์ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.สอบสวนในสัปดาห์หน้าว่า ขอดูรายละเอียดที่ ร.ต.อ.เฉลิมจะยื่นก่อนว่าเป็นอย่างไร

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นข้อมูลรั่วจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงต้องมีการสอบถาม เพราะตามปกติแล้วข้อมูลไม่ควรรั่วออกไป โดยย้ำว่าเรื่องนี้คงไม่เป็นเหตุในการสั่งโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ปฏิเสธการโยกย้ายมาแล้วหลายครั้ง

ต่อมาพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงการตรวจสอบสำนวนในคดีเงินบริจาคของบริษัทพีทีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) ที่มีความสงสัยว่ารั่วไหลไปยังพรรคฝ่ายค้าน ว่า ในเบื้องต้นจะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่กลุ่มที่ปรึกษากฎหมายและกลุ่มความเห็นแย้งในดีเอสไอ ถอดเทปการอภิปรายทั้งหมดของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เกี่ยวกับคดีทีพีไอ จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์ว่ามีเนื้อหาที่ตรงกับสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอหรือไม่

หากมีรายละเอียดตรงกันจะตั้งคณะกรรมการอีกชุดขึ้นตรวจสอบ ส่วนกรณีที่นายกฯจะตั้งกรรมการตรวจสอบนั้น สามารถใช้อำนาจบริหารสั่งการได้เพื่อตรวจสอบความรั่วไหลได้ โดยคดีดังกล่าวมีพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น 20 คน แต่คณะกรรมการภายนอกคงไม่สามารถเข้ามาดูรายละเอียดในสำนวนคดี เพราะกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ กำหนดให้พนักงานสอบสวนเท่านั้นที่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลการสอบสวน นอกจากนี้สำนวนคดีดังกล่าวยังพาดพิงถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมาก ซึ่งการเข้าดูสำนวนจะทำให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีได้

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีเงินบริจาคของบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนพร้อมชี้แจงในทุกประเด็น หากถามว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำไปอภิปราย มีส่วนที่ตรงกับสำนวนการสอบสวนหรือไม่ ก็ยอมรับว่ามีบางส่วนที่ตรง แต่ก็มีบางส่วนที่ฝ่ายค้านไม่มีข้อมูล ทั้งนี้วิเคราะห์ได้ว่า ร.ต.อ.เฉลิมเคยเป็นพนักงานสอบสวนมาก่อน จึงมีวิธีในการหาข้อมูล อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ฝ่ายค้านไม่มีเป็นข้อมูลที่ได้จากการสืบสวนตามกฎหมายคดีพิเศษ ซึ่งบุคคลภายนอกรวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่สามารถเข้าถึง

รายงานข่าวเปิดเผยว่า กรณีการตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบการสอบสวนคดีของดีเอสไอ เป็นเกมที่จะนำไปสู่การเสนอให้โยกย้ายผู้บริหารในดีเอสไอ เพื่อแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาควบคุมสำนวนคดีดังกล่าว ดังนั้นดีเอสไอจึงเร่งส่งหลักฐานในสำนวนคดีดังกล่าวทั้งหมดให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อป้องไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนคดี หรือการเปลี่ยนแปลงคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ
กำลังโหลดความคิดเห็น