xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบกรอบหารือไทย-กัมพูชา เคลียร์ปัญหาเขตแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พื้นที่ประสาทพระวิหาร
คณะรัฐมนตรีรับทราบกรอบการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา เคลียร์ปัญหาขัดแย้งเขตแดนทางบก-ทะเล พร้อมเร่งประสานความร่วมมือด้านความมั่นคง “ปณิธาน” เผยเรื่องใดยังติดปัญหาจะปล่อยให้ นายกฯ ถก “สมเด็จฮุน เซน” อีกครั้ง พร้อมรับทราบกรอบพัฒนาความร่วมมือ ไทย-ลาว ด้วย

วันนี้ (24 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบหลักการ เรื่องอนุมัติหลักการกรอบการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา (GBC) ที่มีการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2538 และประชุมครั้งล่าสุด ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2550 โดยการประชุมครั้งต่อไป จะมีขึ้นในวันที่ 2-3 เม.ย.ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เพื่อให้การแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งตามแนวชายแดนลุล่วงไปได้ และเกิดเสถียรภาพตามชายแดนมากขึ้น ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติหลักการ เรื่องที่ 1 คือ ให้มีการหารือกันในเรื่องเขตแดน ทั้งทางบกและทางทะเล เรื่องจุดผ่านแดน เรื่องที่ 2 คือ ความร่วมมือด้านความมั่นคง การรักษาพื้นที่ความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน เรื่องการปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามพรหมแดน การเก็บกู้ทุ่นระเบิด ความปลอดภัยทางทะเล และความร่วมมือด้านหน่วยงานความมั่นคงต่างๆรวมทั้งตำรวจไทย และกัมพูชา ส่วน เรื่องที่ 3 คือ การร่วมมืออื่นๆ การค้าชายแดน การเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยวสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและการบรรเทาสาธารณภัย เพื่อส่งสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดี อย่างไรก็ตาม เรื่องใดที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ก็จะมีการนำเข้าสู่สภาพิจารณาต่อไป ส่วนในประเด็นปัญหาและอุปสรรคติดขัด จะได้มีการหารือกัน ระหว่าง นายอภิสิทธิ์ และนายกฯกัมพูชา ในการประชุมอาเซียนซัมมิทที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวข้องไปดำเนินการ

นอกจากนี้ นายปณิธาน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติเห็นชอบในแนวทางการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ 15 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยเป้าหมายหลักของการประชุมเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ลาว และผลักดันความร่วมมือไทย-ลาว ในเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันในระยะต่อไป และให้มีการทบทวนและติดตาม ความร่วมมือของผลการประชุม ครั้งที่ 14 เมื่อปี พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา โดยการประชุมในครั้งที่ 15 นี้ จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 เรื่อง คือ 1.เรื่องการเมืองความมั่นคง อาทิ เรื่องหลักหลักเขตแดนและปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหายาเสพติด การดูแลการจ้างงาน 2.เรื่องเศรษฐกิจ และ 3.ด้านสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาทิ ความร่วมมือ ด้านการเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของทั้ง 2 ประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น