ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์ -- นักลงทุนไทยในเวียดนามส่วนใหญ่กำลังเจอปัญหาร้อยแปดรุมเร้า ตั้งแต่เรื่องขาดข้อมูลข่าวสาร ขาดการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากหน่วยงานรัฐ จนถึงปัญหาเงินทุนที่ต้องสุ่มเสี่ยงแสวงหาเอง และไม่ใช่ว่าใครมีเงินลงทุนแล้วจะประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย
สำหรับนักลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่างๆ จะมีปัญหามากที่สุด ต่างไปจากบริษัทลงทุนขนาดใหญ่ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าและลึกกว่า ทั้งหมดกำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากภาครัฐ
ผู้แทนบริษัทธุรกิจจากไทยในเวียดนาม ได้บอกเล่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้ให้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้รับทราบ ในสัปดาห์ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมพบปะที่จัดขึ้น ณ สถานทูตไทยกรุงฮานอย
“ตลาดใหญ่มาก แต่การแข่งขันก็สูงมาก ต้องเข้าให้ถึง” นายธนจักร เชษฐพรเพชร ผู้จัดการประจำเวียดนาม บริษัท พลาเน็ตคอมม์ (PlanetComm) กล่าวกับ “ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์”
บริษัทจัดจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ รวมทั้งสื่อสารจากประเทศไทย มองเห็นโอกาสจากสภาพทางภูมิศาสตร์ในเวียดนามที่การติดต่อสื่อสารกำลังเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ
การยิงดาวเทียม วินาแส็ท (Vinasat 1) ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปีที่แล้ว ทำให้บริษัทนี้กระโดดเข้าสู่ตลาดใหญ่เวียดนาม นายธนจักร กล่าว
ปัญหาของแขนงนี้ ในปัจจุบัน ก็คือ เรกกูเลเตอร์ (Regulator) แห่งการสื่อสารโทรคมนาคมในเวียดนามยังเป็นรัฐบาลและวิสาหกิจของรัฐ ซึ่งยังไม่เปิดกว้าง ยังมีขั้นตอนราชการมากมาย “แต่ก็ยังพอไปได้” เนื่องจากไม่ได้ใช้เงินลงทุนมาก ผู้จัดการของพลาเน็ทคอมม์ กล่าว
ต่างไปจากบริษัท คิวลิฟท์ (QLift Co Ltd) ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างเยอรมัน กับไทย ที่อาจจะต้องปิดกิจการลงในอีกไม่นาน เนื่องมาจากความต้องการในตลาดส่งออกปลายทางลดลงต่ำ อันเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
นันทพักตร์ ธนัญชัย ผู้อำนวยการของบริษัทดังกล่าว บอกกับ “ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์” อย่างไม่ปิดบัง
บริษัทนี้ผลิตเครื่องมือยกเทที่ใช้มือกด อันเป็นอุปกรณ์สำหรับยกสินค้าขึ้นลงตามห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์สโตร์ต่างๆ โดยเน้นตลาดค้าปลีก-ค้าส่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซนยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลัก แต่ในปัจจุบันตลาดสำคัญตกอยู่ในภาวะซบเซาอย่างถ้วนหน้า
บริษัทลงทุนต่างๆ เหล่านี้เข้าสู่เวียดนามด้วยข้อมูลของตนเอง ได้รับการหนุนช่วยจากภาครัฐน้อยมาก ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากกลุ่ม ส.อนันต์วิศวกรรมและก่อสร้า งซึ่งไปที่นั่นโดยมองจากช่องทางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
ส.อนันต์เวียดนาม (S.Anant Vietnam) เป็นอีกรายหนึ่งที่เข้าแข่งขันในตลาดออกแบบและตกแต่งภายใน ตลอดจนการติดตั้งและตบแต่ง ทั้งอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัย สำนักงาน จนถึงโรงงานอุตสาหกรรม ในเวียดนาม
สภาพการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ในสังกัดธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวนไม่น้อยกำลังงมหาเข็มในมหาสมุทรใหญ่ ขณะที่กลุ่มทุนใหญ่ไทยที่มีความพร้อมมากกว่าและสายสัมพันธ์มีสายสัมพันธ์ด้านข้อมูลข่าวสารมากกว่า กลับไปได้ดี
บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการลงทุนในแขนงอุตสาหกรรมการเกษตรเวียดนาม ทุกครั้งที่การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกมีความรุนแรง และขอบเขตที่กว้างขวาง ที่พึ่งของผู้บริโภคในเวียดนาม ที่ฝากชีวิตไว้กับซูเปอร์มาร์เก็ต ก็คือ ไก่สดแช่แข็งกับไข่สดยี่ห้อซีพี
ใต้ลงไปในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง บริษัทผู้ผลิตอาหารจากประเทศไทย ยังมีฟาร์มกุ้ง กับฟาร์มเลี้ยงปลาที่ใหญ่โต พร้อมๆ กับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจอาหารสัตว์
ขณะเดียวกัน เครือซิเมนต์ไทยที่สายป่านยาวกว่า และปักธงในตลาดเวียดนามอย่างแน่นหนา ก็กำลังขยายการลงทุนในแขนงที่เชี่ยวชาญออกไป จากโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์เมื่อปีก่อน “ปูนใหญ่” ได้ลงเข็มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างเต็มตัวเมื่อปีที่แล้ว
กลุ่มทุนไทยที่ปรากฏตัวในตลาดเวียดนามมานาน ยังรวมทั้ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง อมตะกรู๊ป ที่เข้าสู่เวียดนามตั้งแต่ยุคแรกๆ ของนโยบาย โด่ยเหมย เช่นเดียวกันกับธนาคารใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ หรือธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งประจำอยู่ที่นั่นมานานกว่า 10 ปี
** ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน**
ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันในแง่ภูมิศาสตร์ และมีความสัมพันธ์ความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมากในยุคใหม่ แต่นักลงทุนจากไทยก็เป็นเพียงผู้ลงทุนมากเป็นอันดับ 8 ในเวียดนาม
จนถึงปัจจุบันนักลงทุนจากไทย มีการลงทุนใน 182 โครงการ เงินทุนรวม 5,685.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังนับว่าต่ำมาก น้อยกว่าโครงการโรงงานเหล็กของกลุ่ม POSCO Steel จากเกาหลีเพียงโครงการเดียว ที่ใช้เงินลงทุนถึง 6,000 ล้านดอลลาร์
การลงทุนของไทยในเวียดนาม ยังอยู่ในระดับต่ำสุดๆ หากเทียบกับตัวเลขการลงทุนของต่างประเทศเมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียว ที่มีเงินทุนจดทะเบียนกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นคู่ค้าที่สำคัญของเวียดนาม เมื่อปีที่แล้วมูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 6,463.98 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 31.49% จากปี 2550 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลมหาศาล
สองฝ่ายได้ร่วมกันปรับเป้าใหม่โดยเพิ่มมูลค่ารวมให้เป็นประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2553 นี้ แต่เป้าการค้าใหม่ก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งมูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามกับจีน 21,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งฝ่ายหลังได้เปรียบดุลอย่างมหาศาล
นายกษิต ได้บอกกับนักลงทุน ว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีเครื่องมือสำคัญสนับสนุนลงทุน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “บีโอไอ” หรือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า แต่ก็ดูจะยังไม่เพียงพอสำหรับสภาพการณ์ปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของไทย มีจุดแข็งในแง่ของพลังในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารในเวียดนาม อันเป็นสิ่งที่หน่วยงานอื่นของรัฐบาลยังขาด
รมว.ต่างประเทศของไทย ได้บอกกับนักธุรกิจ-นักลงทุนของไทย ว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดสภาพคล่อง รัฐบาลรวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศมีงบประมาณในดารดำเนินการเพื่อส่งเสริมการลงทุนในต่างแดนของเอกชนไทย และกำลังจัดขบวนใหม่เพื่อผลักดันการลงทุนในเวียดนาม เช่นเดียวกับในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ รวมทั้งลาวกับกัมพูชาด้วย
การจัดขบวนใหม่กับการเจรจาในรายละเอียดกับทั้งภาคเอกชนในกรุงเทพฯ และ รัฐบาลเวียดนามกำลังจะเริ่มขึ้นในเร็วๆ นี้
**นโยบายการเมืองต่อเนื่องชัดเจน**
เวียดนามกับไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความร่วมมือ ความสัมพันธ์กำลังขยายตัวออกไปอย่างทั่วด้าน ไม่เฉพาะการค้าการลงทุน วัฒนธรรม การศึกษาและสาธารณสุขเท่านั่น แต่กำลังครอบคลุมออกไปถึงความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและกลาโหม ตลอดการร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ
นายกษิต เปิดเผยว่า ระหว่างการเข้าเยี่ยมคำนับและหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tran Dung) ผู้นำเวียดนามได้เสนอให้เปิดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างไทยกับเวียดนามขึ้นอีกครั้ง หลังจากห่างเหินไปนาน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายใน
ถึงแม้ว่าจะไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ ในการพบปะเจรจาทวิภาคีระหว่างนายกฯ เวียดนามกับ นรม.ของไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ชะอำเมื่อวันที่ 28 ก.พ. แต่ผู้นำทั้งสองก็เห็นร่วมกันอย่างเอกฉันท์ที่จะให้คณะอนุกรรมาธิการร่วมด้านการค้าการลงทุนเปิดการประชุมพบปะโดยเร็ว เพื่อขยายความสัมพันธ์ความร่วมมือต่อไป
นายกฯ เวียดนาม ได้ยืนยันนโยบายอันคงเส้นคงวาของเวียดนามต่อประเทศไทย ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญ ในกรอบความร่วมมือต่างๆ ซึ่งรวมทั้งกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region) และ กลุ่มความร่วมมือยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงหรือ ACMECS ด้วย
นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวเช่นเดียวกันว่า ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเวียดนาม และจะขยายความสัมพันธ์กับประเทศนี้ออกไปอย่างรอบด้าน
**อาศัยแบบอย่างการลงทุนในลาว**
รมว.ต่างประเทศของไทย กล่าวว่า ระหว่างการเดินทางไปเยือนลาวก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีไทย ได้ประชุมหารือร่วมกับนักลงทุนไทยในนครเวียงจันทน์ และได้พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะเป็นแบบอย่างได้ในการปรับกลยุทธ์ นำทัพนักลงทุนไทยเข้าสู่เวียดนาม
ต่างกับในเวียดนาม การลงทุนของไทยในลาวมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากโดยรวมศูนย์อยู่ที่สองแขนงสำคัญคือ การผลิตไฟฟ้ากับเหมืองแร่ ซึ่งในปัจจุบันบริษัทอุตสาหกรรมและบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของไทย รวมทั้งบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ล้วนมีกิจการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้
ต่อไปนี้รัฐบาลกับสภาหอการค้ากับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ก่อนจะรุกเจรจากับฝ่ายเวียดนามเพื่อให้เกิดความแจ่มชัดเกี่ยวกับแขนงการลงทุน สิทธิประโยชน์และการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ จากนั้นคณะทำงานชุดหนึ่งของกระทรวงที่จะจัดตั้งขึ้นมา จะเข้าทำหน้าที่ติดตามและให้ความช่วยเหลือโดยตรง
“หมดเวลาที่จะเป็นรัฐบาลปากหวาน เราจะต้องทำให้ได้ และกระทรวงมีงบประมาณที่สามารถทำได้” รมว.ต่างประเทศของไทย ให้ความมั่นใจกับนักลงทุน
นายกษิต กล่าวว่า นักลงทุนมีความเชี่ยวชาญในทุกแขนงการลงทุนที่ฝ่ายเวียดนามนำเสนอ เพียงแต่ต้องหาความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุน เงื่อนไขและรายละเอียดอื่นๆ ก่อนที่นักลงทุนจากประเทศไทยจะตัดสินใจ
นอกจากส่งเสริมให้นักลงทุนรายใหม่เข้าสู่ตลาดเวียดนามแล้ว รัฐบาลปัจจุบันยังมีนโยบายให้ความช่วยเหลือนักลงทุนไทยที่ปักหลักอยู่ในประเทศแถบนี้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแขนงงานที่ขาดแคลนแต่จำเป็นอย่างมากคือ การจัดผู้เชี่ยวชาญไปช่วยฝึกอบรม ยกระดับบุคคลากรของบริษัทลงทุนไทย เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์
ทั้งหมดจะดำเนินการได้ในอีกไม่นาน
สำหรับ ส.อนันต์ก่อสร้าง นายสุรชัย พิสุทธิ์วชิระ เจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มในกรุงฮานอย กล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนออกมาทั้งหมดในการประชุมหารือกับ รมว.ต่างประเทศเป็นปัญหาสำคัญของนักลงทุนไทยทุกคน และ หากจัดขบวนใหม่ได้อย่างที่ได้รับทราบ ก็จะช่วยได้อย่างมาก
“การช่วยให้เกิดความมั่นใจเป็นการช่วยเหลือที่ช่วยได้มากที่สุด” นายสุรชัย กล่าว