xs
xsm
sm
md
lg

สรรหา กก.สิทธิฯ ส่อวุ่น รธน.ไม่ห้ามผู้ถูกตัดสิทธิลงสมัคร คกก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปวีณา หงสกุล
อดีต ส.ส.ร.ยอมรับการคัดสรรหา กก.สิทธิฯ ไม่ได้บัญญติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญปี 50 กรณีเลขานุการ กก.สรรหาลงสมัครค กก.สิทธิฯ แถม “ปวีณา” ลงสมัครได้ แม้ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง เหตุไม่มีกฎหมายลูกรองรับ

วันนี้ (22 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เริ่มกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิแห่งชาติชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่หมดวาระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่ได้กำหนดวิธีการสรรหาเอาไว้ และระบุไว้เพียงให้ทำตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งหมายถึงต้องออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับใหม่มาใช้แทน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2542 แต่ต่อมามีผู้ไปฟ้องร้องศาลปกครอง ขอให้มีการสรรหาคณะกรรมการสิทธิฯทันที ตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยและมีคำสั่งให้เริ่มการสรรหา โดยไม่ต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ และให้ใช้กฎหมายฉบับเดิมไปพลาง ทำให้การสรรหาครั้งนี้ ต้องใช้ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 และ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิฯ ปี 2542

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิฯ ปี 2542 มาตรา 8(1) ระบุให้เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา และต่อมาได้มีการเปิดรับสมัครผู้ประสงค์จะดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสิทธิฯ ตั้งแต่วันที่ 12-14 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ในรายชื่อผู้สมัครหมายเลข 99 กลับปรากฏชื่อของ นางอรินณพงศ์ สูตรสุคนธ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิฯคนปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้สมัครด้วย จึงทำให้เกิดคำถามว่าการลงสมัครของ นางอรินณพงศ์ ทำได้หรือไม่ เพราะตามกฎหมาย นางอรินณพงศ์ เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา จึงไม่น่าที่จะมีสิทธิ์ลงสมัคร

ขณะที่ นางอรินณพงศ์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยอมรับว่าตนไปสมัครเป็นคณะกรรมการสิทธิฯชุดใหม่จริง ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา และยืนยันว่า มีสิทธิ์ที่จะลงสมัคร เพราะตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเลขาธิการกรรมการสิทธิฯเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯก็ทำหน้าที่เป็นเพียงฝ่ายธุรการของคณะกรรมการสรรหาเท่านั้น ไม่มีส่วนได้เสีย กับการสรรหา ซึ่งก็ได้แจ้งกับกรรมการสรรหาถึงกระบวนการแล้ว และในขณะนี้คณะกรรมการสรรหาก็ไม่มีเลขานุการแต่อย่างใด

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบอีกว่าการสมัครครั้งนี้ยังปรากฏชื่อของนางปวีณา หงสกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่อยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในผู้สมัครเช่นกัน ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกตว่านางปวีณาจะมีสิทธิลงสมัครหรือไม่

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา256 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติใดๆ ของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิฯเอาไว้ เลย และเขียนเพียงว่า “ทั้งนี้ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การถอดถอน และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมกรรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ” ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายฉบับใหม่มารองรับ จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.กรรมการสิทธิฯ ปี 2542 ซึ่งก็ไม่ได้กำหนดห้าม ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิฯ แต่อย่างใด

ต่อเรื่องนี้ นางสดศรี สัตยธรรม ในฐานะอดีต ส.ส.ร.กล่าวยอมรับว่า ส.ส.ร.เราลืมบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะช่วงนั้นการร่างรัฐธรรมนูญทำอย่างเร่งรีบ เพื่อให้เสร็จโดยเร็ว จึงมีการหลงลืมบ้าง แต่ก็กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบที่จะออกมา และยอมรับว่ามีอีกหลายเรื่องที่เราลืมบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องคุณสมบัติของ ส.ส.สัดส่วนหากถูกยุบพรรค
กำลังโหลดความคิดเห็น