xs
xsm
sm
md
lg

“ประพันธ์” ชี้ ปชป.โฆษณาให้เจียดเงินภาษีให้พรรคไม่ผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประพันธ์ นัยโกวิท กกต.
“ประพันธ์” ยอมรับรัฐธรรมนูญ 50 ยาแรงกรณียุบพรรค ยันน่าเสียใจเตือนนักการเมืองห้ามซื้อเสียงก็ไม่ฟัง แนะคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนพวกไม้แก่ดัดยาก ระบุกฎหมายไม่ห้าม “ทักษิณ” โฟนอิน ชี้เป็นสิทธิ ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์โฆษณาให้บริจาคภาษีให้พรรคก็ไม่ผิด แนะพรรคอื่นควรทำบ้าง

วันนี้ (16 มี.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง เป็นประธานในการเปิดโครงการยุวชนประชาธิปไตย รุ่นที่ 1 ประจำ พ.ศ.2552 โดยมีตัวแทนเยาวชนจากทั่วประเทศเดินทางเข้าร่วมงาน โดยนายประพันธ์กล่าวในตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของกฎหมายการเลือกตั้งโดยเฉพาะ การซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่พยายามหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยปรับปรุงให้มีความเข้มข้นมากขึ้น และเพิ่มกรณีการยุบพรรคตาม 237 ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นยาแรง และที่ผ่านมาทาง กกต.ได้ส่งสัญญาณในเรื่องดังกล่าวไปหลายครั้ง แต่ก็ยังพบปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงอยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะผลที่ตามมาทำให้มีการยุบพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งที่ กกต.ได้บอกตั้งแต่แรกแล้ว แต่ก็ไม่มีใครเชื่ออีกทั้งกลับหาว่า กกต.เป็นพวกเสือกระดาษ คิดว่าไม่สามารถทำอะไรได้ อย่างไรก็ตามหากยังมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 อยู่ปัญหาการซื้อสิทธ์ขายเสียงก็จะทำได้ด้วยความยากลำบากและลดลง

“ผมคิดว่าในปัจจุบันเราไม่ควรไปหวังอะไรกับนักการเมืองมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่มีแต่พวกไม้แก่ดัดยาก จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรหาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ โดยคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงาน น่าจะมาแทนพวกคลื่นลูกเก่าได้ และตนเห็นว่าน่าจะให้ เด็กอายุสิบแปดที่มีสิทธิเลือกตั้งมาร่วมเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพราะเชื่อว่าคนรุ่นนี้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพรรคการเมือง” นายประพันธ์กล่าว

นายประพันธ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองว่า การโฟนอินสามารถทำได้ เพราะตามกฎหมายไม่ได้ห้ามผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่กฎหมายห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรี ส.ส. กรรมการบริหารพรรคการเมือง ส่วนกรณีที่ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองจะเข้ามาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้น ตอนยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีการ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามผู้ตัดสินทางการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนจนมาเป็น พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน มีการตัดส่วนดังกล่าวออกไป ซึ่งเราก็ต้องดูในกฎหมายเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคการเมืองจะมีกรอบการดำเนินการทางการเมืองอย่างไรหากไปจัดการชุมนุม นายประพันธ์กล่าวว่า ต้องดูเป็นกรณีไป แม้ว่าจะเป็นการจัดการชุมนุม แต่หากเป็นการชุมนุมภายใต้กรอบกฎหมาย โดยสงบและปราศจากอาวุธ ก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ก็ต้องระวังไม่ให้เกิดความแตกแยกและความเสียหายในสังคม แต่ถ้ามีปัญหา อาทิ การชุมนุมมีความรุนแรงและไม่ทำตามกฎหมาย ก็ถือว่ามีความผิดและต้องใช้กฎหมายจัดการกัน อีกทั้งต้องมีหลักฐานว่าพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลังของการเคลื่อนไหว

ส่วนที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไปปราศรัยระบุว่าจะช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ นั้นก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ต้องดูว่าการกระทำดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งช่วงนี้ไม่ได้อยู่ในช่วงการเลือกตั้ง กกต.จึงไม่สามารถเข้าไปกำหนดได้ แต่ถึงแม้จะอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง กกต.ก็ต้องทำตามกรอบกฎหมาย อาทิ ห้ามหาเสียงด้วยนโยบายที่เกินจริง

นายประพันธ์กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ลงโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนบริจาคเงินภาษีให้กับพรรคว่า กรณีนี้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะผู้เสียภาษีสามารถบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองได้คนละ 100 บาท อีกทั้งการที่พรรคจะไปรณรงค์ กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามไว้ เนื่องจากเป็นไปตามกฎหมาย หากพรรคอื่นอยากทำก็สามารถทำได้ เพราะจะได้ช่วยประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ด้วย อีกทั้งเรื่องนี้ยังไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ส่วนเรื่องของความเหมาะสมหรือการหาเสียงแฝงนั้น เราต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น