xs
xsm
sm
md
lg

“ปู่ชัย” ปูดซักฟอกส่อล่ม ชี้ฝ่ายค้านเสนอญัตติซ้อนญัตติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏร
“ชัย” ชี้ ฝ่ายค้านยื่นญัตติซ้อนญัตติ ทั้งขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ระบุ นักวิชาการติงอาจผิดรัฐธรรมนูญ เล็งเสนอตีความ เผย อาจต้องส่งกลับให้ฝ่ายค้านแก้ไขไม่เกิน 19 มี.ค.นี้
ด้าน เลขาสภาฯ ยันญัตติของฝ่ายค้านไม่มีปัญหา


วันนี้ (13 มี.ค.) รัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 5 คน ว่า ขณะนี้มีข้อสังเกตอยู่ 2 ประเด็น โดยฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติตามมาตรา 158 เป็นการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และได้ยื่นญัตติตามมาตรา 159 เป็นการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งตรงนี้นักกฎหมายได้ตั้งข้อสังเกตว่า ส.ส.1 คน จะเสนอ 2 ญัตติรวมกันได้หรือไม่ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนก้ำกึ่งอยู่ ซึ่งกรณีนี้ต้องรอบคอบ ซึ่งหากมีปัญหาจริงอาจต้องเสนอให้ตีความในข้อกฎหมาย ความจริงแล้วฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องเสนอญัตติมา 2 ญัตติ เพราะเมื่อเสนอญัตติให้มีการอภิปรายนายกฯแล้วเมื่อนายกฯถูกถอดถอน คณะรัฐมนตรีก็จะหลุดไปทั้งคณะ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นตัวญัตติมีเพียงแต่เจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบ อย่างไรก็ตาม ทางสภามีเวลาพิจารณาภายใน 7 วัน หลังจากนั้น ก็จะแจ้งให้ฝ่ายค้านทราบภายในวันที่ 19 มี.ค.นี้ หากพบว่าญัตติมีปัญหาไม่ถูกต้องก็จะส่งให้ไปแก้ไขแล้วให้ฝ่ายค้านเสนอญัตติเข้ามาใหม่ แต่หากญัตติเรียบร้อยก็จะแจ้งให้รัฐบาลทราบเพื่อเตรียมตัวภายใน 15 วัน

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นญัตติธรรมดา ทุกอย่างมันอยู่ที่มือ แล้วก็เสียงโหวตว่ามีเสียงถึง 234 เสียงหรือไม่ หากเสียงเกินก็ได้เป็นนายกฯต่อ หากเสียงต่ำกว่า 234 ก็ถูกปลดออก มีครบก็ได้เป็นนายกฯต่อไป” นายชัย กล่าว

ต่อมา นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ว่า การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านเสนอมาคนละฉบับนั้นเป็นการยื่นญัตติคนละมาตรากัน ซึ่งสามารถทำได้ ไม่มีอะไรห้ามไว้ว่าคนที่ลงชื่อในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 จะมาลงชื่อยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา159 ไม่ได้ เนื่องจากในอดีตก็เคยมีการยื่นญัตติในลักษณะนี้มาแล้ว แต่ถ้าเป็นการแยกยื่นญัตติในมาตราเดียวกันผู้ที่ลงชื่อเสนอญัตติจะมีรายชื่อซ้ำกันไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น