ปธ.วิปรัฐบาล ปฏิเสธข้อเสนอ นปช.สิ้นเชิง ร้องขอเวลารัฐบาลพิสูจน์ฝีมือ ยันฝ่ายค้านถอดถอน 3 รมต.ลงมติ พ.ร.บ.งบประมาณไม่ได้ ลั่นไม่มีส่วนได้เสีย และไม่ผิด รธน. ย้อนศร “รัฐบาลหอกหัก” รมต.เคยลงมติรับรอง พ.ร.บ.งบฯ ทั้งคณะ
วันนี้ (2 ก.พ.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลแถลงหลังการประชุมวิปร่วมรัฐบาลว่า ที่ประชุมมีการวิเคราะห์ถึงกรณีที่กลุ่ม นปช.ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการใน 4 เรื่องคือ ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรฯ ให้ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ยุบสภาฯและขอให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งรัฐบาลให้คำตอบไปบางส่วนแล้ว คือ ไม่สามารถดำเนินการตามคำเรียกร้องได้ ขณะนี้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติ เพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้ เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนไหนที่ดำเนินการได้ก็จะทำเช่นการดำเนินการต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลขอเรียกร้องให้ประชาชนคนไทยให้โอกาส และเวลารัฐบาลนี้เพื่อบริหารประเทศชาติ บ้านเมืองสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะแก้ไขปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ปัญหาการว่างงาน ส่วนเรื่องการดำเนินการทางการเมืองขอเรียกร้องให้ ส.ส.ที่เป็นแกนนำผู้ชุมนุม ขอให้นำปัญหาการเมืองกลับเข้ามาแก้ไขกันภายในกลไกของสภาฯ ซึ่งรัฐบาลใจกว้างพอกับทุกฝ่ายโดยการเปิดพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการหารือถึงปัญหาของ 3 รัฐมนตรีที่ได้ลงมติรับหลักการแก้ไขเพิ่มเติมของพ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2552 ซึ่งฝ่ายค้านระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 177 นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้ว จากการที่ฝ่ายค้านอ้างมาตรา 177 มาดำเนินการต่อ 3 รัฐมนตรีถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ โดยรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวไม่สามารรถดำเนินการถอดถอนตามกระบวนการมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่การลงมติใน พ.ร.บ.งบประมาณหรือลงมติในกฎหมายใดๆ รัฐมนตรีในฐานะที่เป็นส.ส.สามารถกระทำได้อยู่แล้ว และแน่นอนที่สุดในช่วงการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ของรัฐบาลสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีเองก็ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีขณะนั้นทุกคนได้มีการลงมติในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทุกคน ซึ่งขณะนั้น พรรคประชาธิปัตย์เองเป็นฝ่ายค้านก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาฟ้องร้อง ถอดถอนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแต่อย่างใด
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า เพราะยึดหลักชัดเจนว่า การกระทำการที่มีผลประโยชน์ขัดกันนั้น จะต้องมีบทบัญญัติที่ชัดเจนว่าให้ดำเนินการอย่างไร เช่นกรณีการลงมติไม่ไว้วางใจ มีบทบัญญัติชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้รัฐมนตรีที่มีส่วนในการลงมติ ลงมติให้กับตนเอง ฉะนั้น มาตรา 177 นี้ เป็นเรื่องที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายมหาชน เมื่อไม่มีบทบัญญัติเอาไว้ว่า ห้ามไม่ให้ลงมติในกฎหมาย พ.ร.บ.งบประมาณจึงไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า การที่รัฐมนตรีจะลงมตินั้นมีความผิด อย่างไรก็ตามขอเรียนว่า เคยมีกรณีที่ใกล้เคียงคือ กลุ่ม ส.ว.ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีที่รัฐมนตรีได้ร่วมกันขอแปรญัตติเพิ่มเติมในงบประมาณ 2551 แม้ว่าจะไม่ตรงกับประเด็นดังกล่าวในการลงมติของบประมาณปีที่ผ่านมา แต่เทียบเคียงว่า การกระทำดังกล่าวรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า รัฐมนตรีไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงเพราะพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของคนหมู่มากทั้งประเทศ มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศจึงไม่ใช่การมีส่วนได้ เสียโดยส่วนตัวของรัฐมนตรีแต่ละคน เมื่อถามต่อว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงการปรับ ครม.ในส่วนของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พัฒนาสังคมฯ หรือไม่ นายชินวรณ์ ตอบว่า เรื่องนี้เราไม่ได้มีการหารือกันเพราะเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในกระบวนการ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องพิจารณากันต่อไป