xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ” ปาฐกถาโบ้ย “ฉันทามติวอชิงตัน” ต้นตอวิกฤตการเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
คำต่อคำ - “แม้ว” ปาฐกถาที่ฮ่องกง “วิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำไมจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่วิกฤตการเงิน แต่เป็นวิกฤตทางปัญญา” โยนต้นเหตุปัญหา “ฉันทามติแห่งวอชิงตัน” ต้นตอวิกฤตการเงินรอบใหม่ ชี้ การพัฒนาทักษะถูกกล่าวหาว่าล้าหลัง เพราะรัฐไม่มีความรู้ และรู้ไม่เท่าทัน ฟุ้งทุกรัฐบาลหลังไทยรักไทยก๊อบนโยบายไปใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ถอดความคำกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “วิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำไมจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่วิกฤตการเงิน แต่เป็นวิกฤตทางปัญญา” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ของพ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนที่จะแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน โดย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวปาฐกถาว่า ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สถาบันการเงินล่มสลายจนลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นจากนักการเงินใช้จ่ายเงินเกินตัวอย่างไร้เหตุผล การกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินที่ไร้ประสิทธิภาพ และถ้าเราเชื่ออีกว่า การโยกย้ายผ่องถ่ายเงินไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ตนคิดว่า เรากำลังจะพลาดประเด็นที่สำคัญของปัญหาไปอย่างน่าเสียดาย

โบ้ย “ฉันทามติแห่งวอชิงตัน” ต้นตอวิกฤตการเงินรอบใหม่

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อว่า เราทราบกันดีว่า ต้นเหตุของวิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปี 1997 โดยการโจมตีค่าเงินบาทและลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเงินของเอเชีย ทุกประเทศในเอเชีย ยกเว้นเกาหลีเหนือได้ดำเนินนโยบายตามฉันทามติแห่งวอชิงตัน (Washington’s Mantra) ซึ่งแต่ละประเทศประสบความสำเร็จมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่ดูเหมือนว่าประเทศที่เดินตามฉันทามติแห่งวอชิงตันอย่างเคร่งครัดในครั้งนั้น กลับกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการเงินรอบใหม่ในครั้งนี้ ซึ่งฉันทามติแห่งวอชิงตันที่ทุกประเทศท่องจำจนขึ้นใจ นั้นคือ ตลาดเสรี (Free Markets) ตลาดที่เป็นอิสระจากการกำกับควบคุมดูแลและจะนำไปสู่ความมั่งคั่งอย่างไม่มีขีดจำกัดสำหรับคนทุกหมู่เหล่า

ชี้การพัฒนาทักษะถูกกล่าวหาว่าล้าหลัง

“ผมเติบโตมาในประเทศที่ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการยอมรับนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ยุคสงครามอินโดจีน ชนชั้นปกครอง เชื่อว่า ประเทศจะประสบความสำเร็จและก้าวหน้าด้วยการเปิดประเทศ ทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับใครก็ตามที่ต้องการทำธุรกิจกับเรา โดยเฉพาะเมื่อมีข้อเสนอดีๆ จาก 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ที่เวลานั้นเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แนวความคิดจากต่างประเทศได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติด้วยดี โดยไม่มีการตั้งคำถามว่า เราจะถูกกลืนเข้าไปในวังวนห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการหรือไม่อย่างไร รวมทั้งระบบการเงินที่เราไม่สามารถตีตัวออกห่างได้แม้ในยามที่เราประสบกับวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุด เราไม่สามารถมีปากเสียงที่จะไปต่อกรว่า ความเชื่อมโยงต่างๆ เหล่านี้ถูกบงการมาอย่างไร เราต้องปล่อยไปตามกระแสหรือไม่เช่นนั้นก็ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นพวกชาตินิยมและจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ การพัฒนาทักษะจากจุดแข็งที่มีอยู่ของคนในประเทศถูกกล่าวหาว่าเป็นสิ่งเชื่องช้าล้าหลัง” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

วิกฤตเกิดเพราะรัฐไม่มีความรู้-รู้ไม่เท่าทัน

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การหมุนเวียนของเงินและความหลากหลายของตราสารทางการเงินที่ถูกสร้างขึ้นจากศูนย์กลางการเงินต่างๆ ของโลกนั้นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณวันต่อวัน ความรุ่งเรืองและความถดถอยเป็นวัฏจักรของธรรมชาติ แต่จะเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากถ้าเกษตรกรและคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมของเราต้องเดือดร้อน โดยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาภายในประเทศ แต่วิกฤตกลับเกิดเพราะรัฐบาลในขณะนั้นไม่มีความรู้หรือรู้ไม่เท่าทันการไหลเวียนของตราสารทางการเงินในตลาดต่างประเทศที่อยู่ห่างไกลจากอีกซีกโลกหนึ่ง

ฟุ้ง ทุกรัฐบาลต่อจากไทยรักไทยก๊อบนโยบายไปใช้

“วิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ทำให้เราต้องกลับมาเริ่มต้นคิดใหม่ ว่า เราจะสามารถก่อร่างสร้างตัวได้อย่างไรในแนวทางที่มีเหตุมีผล ซึ่งจะทำให้เราสามารถควบคุมเศรษฐกิจให้ดำเนินไปในแบบอย่างที่เราอยากจะให้เป็นได้มากขึ้น ผลของการคิดอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบถูกร่างเป็นนโยบายของพรรคการเมืองที่ผมก่อตั้งขึ้น ด้วยแนวความคิดหลักที่ต้องการให้คนไทยทั่วทั้งประเทศทุกพื้นที่ นำจุดเด่น จุดได้เปรียบของตนเองมาผลิตสินค้าและบริการออกไปขาย และแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพได้ในตลาดโลก ทั้งยังเสนอวิธีการช่วยเหลือและพัฒนาความได้เปรียบเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม แนวความคิดนี้ไม่เชื่อเรื่องการปิดประเทศ การปิดประเทศอาจเป็นไปได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ แต่เราเลือกที่จะไม่ถอนตัวจากเศรษฐกิจโลก แต่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น และเป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ผมมีความยินดีที่จะรายงานว่า หลายนโยบายที่ผมได้พัฒนาไว้ รัฐบาลต่อๆ มาของไทยเห็นด้วย และนำมาใช้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้บางครั้งจะถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็นอย่างอื่น แต่สาระสำคัญของนโยบายยังคงอยู่เหมือนเดิม” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

แจง เป็นวิกฤตทางปัญญาของโลก

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงวิกฤตการเงินแต่เป็นวิกฤตทางปัญญาของโลก นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ถ้าคุณไปถามผู้เชี่ยวชาญว่า จะแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้อย่างไร คำตอบที่คุณจะได้รับน่าจะเป็นคำตอบว่า “ผมจนปัญญาจริงๆ ครับ” วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตทางปัญญาของโลก (Intellectual Crisis) ซึ่งเป็นผลจากการปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง และที่สำคัญที่สุด คือ ปฏิเสธที่จะคิดแก้ปัญหาจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy)

“อเมริกา-ญี่ปุ่น” เรียนรู้ความก้าวหน้าจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของอเมริกาและญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากการที่ประเทศทั้ง 2 เรียนรู้ความก้าวหน้าจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป รวมทั้งการพัฒนาทักษะความสามารถในการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อตอบสนองความต้องการของโลก นวัตกรรมใหม่ถูกคิดค้นด้วยมันสมองและแรงงานที่มีคุณภาพ แต่ในปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น นักศึกษาที่ฉลาดที่สุด เก่งที่สุด ดีที่สุด เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และ ญี่ปุ่น ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กลับหลั่งไหลไปทำงานในธุรกิจบริการด้านการเงินการธนาคาร ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่จึงถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูงลิบลิ่วเท่านั้น และถ้าหากว่ามีใครกล้าตั้งคำถามว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะมีความยั่งยืนมั่นคงเพียงใด คนแหล่านั้นก็อาจจะถูกโจมตีได้ว่า เป็นพวกมีความคิดล้าหลังและเป็นพวกต่อต้านความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคโลกาภิวัตน์

เชื่อจีนคงบทบาทแค่ผู้สนับสนุนที่ดี

“วันนี้ไม่มีใครสามารถหมุนเวลาย้อนกลับและถอนตัวจากเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ได้ สิ่งที่เศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ต้องการคือ การถูกกำกับดูแลระดับโลก (Globalized Regulation) ซึ่งยังไม่มีประเทศใดกล้าที่จะพูดถึง เพราะการทำเช่นนั้นหมายถึงการท้าทายความเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของสหรัฐอเมริกา คู่ค้าที่สำคัญอย่างประเทศจีนมีประสบการณ์มากมายในอดีตน่าจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในขณะนี้ได้แต่ก็ยังไม่กล้าทำเช่นนั้น เพราะด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ไม่ต้องการแสดงให้เห็นว่า จีนอยากแข่งขันและเป็นผู้นำของโลกแทนสหรัฐอเมริกา จีนต้องการคงบทบาทเป็นแค่เพียงผู้สนับสนุนที่ดีเท่านั้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังหาทางแก้ปัญหาวิกฤตทางปัญญาอยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ กำลังหาทางที่จะผลิตสินค้าและบริการอะไรสักอย่างที่ดีกว่าการสร้างตราสารทางการเงิน และเป็นความต้องการของตลาดโลกชิ้นใหม่ ที่สำคัญต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่จีนและอินเดียไม่สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

แนะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า อะไรคือหนทางรอดของประเทศเล็กๆ ที่เหลืออยู่ในภูมิภาคเอเชีย เราต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้ด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่ ซึ่งไม่ด้อยไปกว่าใครทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ คนของเราได้รับการศึกษาที่ดีกว่าในอดีตมาก ประกอบกับคนงานของเราไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานเหมือนกับที่ชาวอเมริกันในอุตสาหกรรมรถยนต์และเหล็กได้รับมายาวนาน ดังนั้นเราสามารถฝึกอบรมคนงานของเราใหม่ได้ไม่ยากโดยไม่ต้องกลัวกับการต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้จัดการทั้งหลายที่หมดไฟในการทำงานและขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ

ระบบเศรษฐกิจบนความคิดสร้างสรรค์คือทางออกของประเทศ

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมการเกษตรของไทยก้าวมาถึงขั้นที่สามารถปรับปรุงคุณภาพและความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างๆ ที่มีอยู่มากมายทั่วโลก อุตสาหกรรมระดับหมู่บ้านก็สามารถปรับให้อยู่ในรูปของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก คล้ายกับของประเทศอิตาลีที่สามารถเอาตัวรอดได้ในยามวิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วน ระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative Economy) ไม่จำเป็นที่จะต้องถูกผูกขาดเฉพาะชาวยุโรปเท่านั้น ระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์จะต้องถูกพัฒนาอย่างจริงจัง จะเป็นทางออกที่สำคัญของประเทศในอนาคต และจะเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ จะทำให้เกิดการสร้างงานที่มั่นคงและสังคมที่แข็งแรงในอนาคต

วอน “จีน-ญี่ปุ่น” เป็นหัวขบวนดำเนินการ “เอเชีย บอนด์”

“ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาจำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างมีเป้าหมายซึ่งสามารถทำได้ ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ใช่สิ่งที่ไม่สำคัญ แต่คงไม่มีประเทศใดใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ทั้งหมดไปกับการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพราะกลัวว่าประเทศจะประสบกับภาวะวิกฤตทางการเงิน ด้วยเหตุนี้แนวทางในการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asia Bonds) ที่ผมเป็นผู้ริเริ่มจึงมีบทบาทสำคัญ หากจีนและญี่ปุ่นยอมรับที่จะเป็นผู้นำ ประกอบกับความร่วมมือของประเทศอื่นๆ ที่มีทุนสำรองส่วนเกิน เราจะมีแหล่งเงินทุนสำหรับใช้พัฒนาเศรษฐกิจของเราในอนาคตได้อย่างมั่นใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศในเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในโลกจะอยู่ได้อย่างมั่นคงโดยไม่คำนึงถึงประเด็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาล เรายังต้องรักษาและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ดังการศึกษาของอมาตยา เซน(Amartya Sen) ที่แสดงให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยป้องกันปัญหาความอดอยาก มีแต่การพัฒนาที่สมดุลที่คนจนและคนด้อยโอกาสไม่ถูกละเลยเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งเสถียรภาพในระยะยาว” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

ให้เรียนรู้ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า เราจำเป็นต้องเรียนรู้ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ใช้นโยบายยืดหยุ่นและละเอียดอ่อนในการปกครองประชาชนและการบริหารประเทศจนประสบความสำเร็จอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้จีนกลายเป็นโรงงานของโลก ผลิตสินค้า ทำรายได้ และที่สำคัญมีเงินออมมากมายเพียงพอที่จะอุดหนุนการใช้จ่ายการบริโภคของประชาชนในประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้

ท้ารัฐประกาศไม่เอาภาษีไปเป็นโบนัสผู้บริหารที่ทำธุรกิจเสียหาย

“จากวิกฤตครั้งนี้ ถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องใช้เงินออมที่มีอยู่เป็นแหล่งทุนสำหรับการสร้างโอกาส สร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชนของตน ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ทั่วทั้งประเทศทัดเทียมและดียิ่งขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะการทำเช่นนี้นอกจากจะช่วยลดแรงกดดันทางสังคมและการเมืองที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ยังช่วยลดแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาได้อีกด้วย เราต่างรู้ดีว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิดไว้มาก จนในที่สุดรัฐบาลอาจหนีไม่พ้น จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่กำลังล่มสลาย แต่รัฐบาลของเราต้องให้ความช่วยเหลืออย่างมีความซื่อสัตย์ทางปัญญา กล้าปฏิเสธความไม่ถูกต้อง หากจำเป็นต้องเข้าไปรับผิดชอบความเสียหายของธุรกิจใดๆ ก็ตามต้องทำอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รัฐบาลต้องกล้าที่จะประกาศว่า เงินภาษีของประชาชนที่รัฐบาลจะนำไปให้ความช่วยเหลือนั้นจะต้องไม่ถูกนำไปจ่ายเป็นค่าโบนัสให้กับบรรดาผู้บริหารทั้งหลายที่สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจนั้น” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

ความสามารถในการชำระหนี้คือกุญแจสำคัญ

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะไม่มีทางแก้ไขได้ถ้านักเศรษฐศาสตร์ยังคิดว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้าต้องพึ่งพาพลังเศรษฐกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ถึงวันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า ความสามารถในการชำระหนี้ต่างหาก คือ กุญแจสำคัญไม่ใช่เรื่องของขนาดเท่านั้น ขนาดจะมีบทบาทช่วยได้ตราบเท่าที่ขนาดและความสามารถในการชำระหนี้เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ธุรกิจจะเติบโตได้ตราบเท่าที่มีความสามารถในการชำระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ย่อมเกิดจากความสามารถในการสร้างรายได้สุทธิ (Net Income) เงินออมจะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อเงินออมนั้นมาจากรายได้สุทธิเช่นกัน

แนะ ผลิตสินค้า-บริการจากวัฒนธรรม-ภูมิปัญญา

“สมมติว่า เราสามารถคลี่คลายวิกฤตสถาบันการเงินของโลกได้แล้ว ธนาคารกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง เพราะได้รับการชดเชยและสนับสนุนจากรัฐบาล ธนาคารเหล่านั้นจะทำธุรกิจอะไร พวกเขาจะให้ใครกู้เงิน และจะให้เงินกู้เพื่อทำธุรกิจแบบเดิม ๆอีกอย่างนั้นหรือ วันนี้ท่าเรือสำคัญของโลกเต็มไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์ที่อัดแน่นด้วยสินค้าที่ผลิตแบบเดียวกัน เหมือนกัน จำนวนมากมายมหาศาล เราจะผลิตสินค้าแบบนั้นเพิ่มขึ้นอีกหรือ คนงานจีนจะยังเดินหน้าผลิตรถยนต์เหมือนกับที่คนงานอเมริกันคงผลิตและขายไม่ออกอีกหรือ เราต้องยอมรับว่าสินค้ากำลังล้นตลาด การผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรม (Mass Production) มีขีดจำกัด เราจำเป็นต้องสนับสนุนการสร้างรายได้แบบใหม่ด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่อาศัยความได้เปรียบจากสินทรัพย์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาแห่งชนชาติ และการผลิตด้วยทักษะแรงงานที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างตลาดที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างท้องถิ่นที่คึกคักและมีชีวิตชีวา วันนี้จึงเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องพยายามค้นหาสินค้าและบริการเหล่านั้นให้พบ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านเงินทุนในทุกวิถีทาง เพื่อทำให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่รอด เราจึงจะสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงและสังคมที่แข็งแรงได้ในระยะยาว” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

เอเชียต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า อเมริกามีพลังของภูมิปัญญาในหลากหลายแขนง ซึ่งสามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการอย่างมีคุณภาพสูงโดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคากับใคร โลกกำลังต้องการพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ โลกกำลังต้องการเทคโนโลยีและบริการที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม อเมริกามีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกยุคใหม่นี้อย่างไม่ยากเย็น เมื่ออเมริกาเริ่มที่จะใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเหล่านี้ก็จะเป็นการบังคับให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียรวมทั้งประเทศอื่นๆ ในโลกต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ

โลกในอนาคตต้องไม่ถูกกำหนดจากวอลล์สตรีท

“สติปัญญาของชาวอเมริกันสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อชาวอเมริกันเองรวมทั้งต่อประเทศอื่นๆ ในโลก เพียงแต่ชาวอเมริกันต้องยอมรับว่า โลกในอนาคตจะต้องไม่ถูกกำหนดจากวอลล์สตรีท ที่สำคัญสินค้าและบริการต้องมีความสัมพันธ์กับการจ้างงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและนำมาซึ่งรายได้สุทธิ (Net Income) ที่คุ้มค่ากับความตั้งใจที่ใส่ลงไป” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว

วอนอเมริกายอมรับการสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวด้วยว่า การสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy) มีความสำคัญอย่างยิ่ง การค้าตราสารทางการเงิน (Paper Trading) จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสมเท่านั้น หากบรรดาผู้นำทางปัญญาในสหรัฐอเมริกายอมรับแนวคิดนี้ได้เร็วเท่าใด ผลดีที่จะเกิดขึ้นต่อเราทุกคนในโลกก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น