xs
xsm
sm
md
lg

มังกรสยายปีกรุกลงทุนทั่วโลก

เผยแพร่:

หลายศตววรษที่ผ่านมา บรรพบุรุษชาวจีนหอบเสื่อผืนหมอนใบ ลงเรือฝ่าคลื่นลมมุ่งหน้าสู่โพ้นทะเล กระทั่งสามารถรวมตัวกันเป็นชุมชนจีนขนาดใหญ่ ที่ฝรั่งเรียกว่า ไชน่า ทาวน์ บัดนี้ ชาวจีนยุคใหม่ก็บ่ายหน้าสู่โพ้นทะเลเช่นกัน ทว่าพวกเขาเปลี่ยนจากเสื่อผืนหมอนใบ เป็นหอบเงินทุนมหาศาล บุกตะลุยตลาดขนาดใหญ่ทั่วโลก โดยมีรัฐบาลจีนเป็นนายท้ายเรือคอยผลักดัน อย่างสุดความสามารถ

ช่วงทศวรรษ 1980 การรุกคืบของสินค้าและการลงทุนจากญี่ปุ่น สร้างแรงสะเทือนต่อวงการธุรกิจโลก ส่วนยุคปัจจุบันการเคลื่อนย้าย และรุกคืบจากแผ่นดินใหญ่กำลังสะเทือนวงการธุรกิจและตลาดโลก

“เราไม่ได้มองตัวเองว่า เป็นเพียงผู้บุกเบิก แต่เรายังมองว่า พวกเราเป็นนักสำรวจ” ฌอน เฉิน วัย 26 ปี ผู้ซึ่งกำลังควบคุมการก่อสร้างโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ทางภาคใต้ของสหรัฐฯกล่าว

เฉิน และคู่หมั้นของเขา จอย เฉิน ต่างเดินทางมาจากเซี่ยงไฮ้ พวกเขาเดินทางมาพำนักที่แอตแลนต้า เพื่อตั้งฐานการผลิตให้กับ เจเนอร์รัล โปรเทคท์ กรุ๊ป (General Protecht Group ) บริษัทที่บิดาของฌอนเป็นเจ้าของ แม้การรุกตลาดพญาอินทรีของบริษัทจีนจะมีเป้าประสงค์อยู่ที่การโกยกำไร ทว่าเฉินและบิดาของเขา มองอีกด้านหนึ่งว่า “นี่คือการทดลองทางสังคม เราพยายามผสานวิถีการทำงานแบบจีนและอเมริกันเข้าด้วยกัน”

“ผมอยากให้เกิดการผสานระหว่างการจัดการ ที่ทรงประสิทธิภาพแบบอเมริกัน กับการพึ่งพาอาศัยกันแบบพี่ๆน้องๆในบริษัทจีน ผมอยากรู้ว่า ทุนนิยมกับสังคมนิยมจะเข้ากันได้ไหม” ฌอน เฉินกล่าว

แม้บริษัทจีนในต่างแดนจะยังมีจำนวนไม่มากนัก ทว่าอัตราการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ค่อนข้างน่าจับตามองทีเดียว

ระหว่างปี 1996-2005 บริษัทจีนลงทุนในบริษัทต่างชาติเป็นจำนวนเงิน 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉพาะที่สหรัฐฯ และแคนาดา ปัจจุบันบริษัทจีนมีโครงการลงทุนกว่า 3,500 โครงการ เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งมีเพียง 1,500 โครงการ ผิง เติง ศ.จากมหาวิทยาลัย แมรีวิลล์ชี้ว่า “แรกเริ่มวิสาหกิจรัฐเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันบุกมาก่อน แต่ตอนนี้บริษัทเอกชนกำลังไล่ตามมาติดๆ เฉพาะการลงทุนในสหรัฐฯจีนทุ่มเงินประมาณ 4,000-7,000 ล้านเหรียญ” ส่วนในยุโรป บริษัทวิจัย ดีโลจิค (Dealogic) ประมาณว่า ปีที่แล้วบริษัทจีนทุ่มเงินควบกิจการไปแล้วราว 563.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ขณะที่สถิติการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว บริษัทจีนรวม 29 แห่งได้เริ่มระดมทุนในตลาดทุนพญาอินทรี ส่วนการออกวีซ่าให้กับผู้บริหารชาวจีนที่ย้ายมาทำงานยังสหรัฐฯก็เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็นจำนวนถึง 2,043 ใบระหว่างปีงบประมาณ 2004-2007

บริษัทจีนไม่เพียงเข้าไปลงทุนยังต่างประเทศเท่านั้น พวกเขายังบุกตลาดพัฒนาและขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง แทนที่การรับจ้างผลิตสินค้าราคาถูกให้กับบริษัทตะวันตกเพียงอย่างเดียว

ปีเตอร์ วิลเลียมสัน ศ.ด้านการจัดการระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่า “แรงแข่งขันจากจีนจะทำให้บริษัทอเมริกัน และยุโรปไม่สามารถฟันกำไรจากสินค้าไฮเทค อาทิ โทรทัศน์, เครื่องเล่นดีวีดีแบบพกพา, สินค้าเทคโนโลยีการแพทย์ และ รถยนต์ได้อีกต่อไป”

ปรากฏการณ์ที่งาน ดีทรอยด์ ออโต้ โชว์ เมื่อเดือนมกราคม ที่ รถ SUV จีนรุ่นท็อปแต่งอย่างหรู บุด้วยเบาะหนังแท้ แต่มีราคาแค่ 14,000 เหรียญสหรัฐฯ ทำเอาบรรดาบริษัทอเมริกันหนาวยะเยือกไปตามกัน

บริษัทจีนอาศัยข้อได้เปรียบจากต้นทุนราคาถูกตีตลาดตะวันตก ส่วนเรื่องรสนิยมของผู้บริโภคก็ง่ายนนิดเดียว แค่เลียนแบบรูปลักษณ์ของรถตะวันตกมา ก็เจาะตลาดได้อย่างง่ายดาย หากยานยนต์จีนมีคุณภาพระดับที่ผู้บริโภคพอใจ บรรดาค่ายรถตะวันตกคงได้แต่ยกธงขาว กุมขมับ

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯเหมือนเป็นการฉายภาพเก่าเมื่อทศวรรษ 1980 ซ้ำ ในครั้งนั้นบริษัท และสินค้าญี่ปุ่นต่างทะลักเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ จนพญาอินทรีอ่วม ขาดดุลการค้ามหาศาล
การุกคืบของบริษัทจีนทำเอาอเมริกันชนตกใจใช่เล่น กระทั่งเกิดกระแสตื่นกลัวว่า การลงทุนจากบริษัทจีนจะกระทบความมั่นคง ดีลการควบซื้อยูโนแคล และ 3 คอม โดยบริษัทจีนจึงถูกรัฐบาลและกระแสสังคมอเมริกันบล็อกไม่ให้เข้าซื้อ

นอกจากอุปสรรคในตลาดมะกันแล้ว จีนยังเจอตอเข้าอย่างจังในยุโรป

การลงทุนของ แองจี้ เฉียน เพื่อสร้างโรงแรมและห้างค้าส่งขนาดใหญ่ในสวีเดนต้องเผชิญกับโรคเลื่อน

“จีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้คนต่างเร่งรีบทำอะไรเร็ว ไม่วางแผนการไกลมากนัก แต่ที่สวีเดนจะทำอะไรต้องใช้เวลานานกว่าในจีนเยอะ” เฉียนผู้จัดการโครงการระบุ

ทั้งนี้เฉียนมีโครงการสร้างคอมเพล็กซ์เป็นโรงแรมและห้างค้าส่งขนาดใหญ่ ที่มณฑลคาลมาร์ ( Kalmar – สวีเดนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 21 มณฑล) โดยโครงการนี้มีมูลค่า 160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สาเหตุที่โครงการไม่คืบ เพราะว่า รัฐบาลจีนไม่อนุมัติให้ ฝาเหน่อตุ้น กรุ๊ป นายทุนของโครงการโอนเงินจากจีนมายังสวีเดน ทางบริษัทกล่าวว่าจะจ่ายค่าจ้างของคนงานจีนผ่านบัญชีธนาคารจีนแทนบัญชีธนาคารสวีดิช อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวทำให้การก่อสร้างล่าช้า เพราะสหภาพแรงงานชาวสวีดิชรวมตัวประท้วง ช่วยเรียกร้องผลประโยชน์ให้คนงานจีน

ขณะที่บริษัทจีนรายอื่นๆ ลงทุนไปทั่วภาคพื้นทวีปยุโรป แถมยังกระจายไปยังอังกฤษ และรัสเซีย โครงการคาลมาร์ก็ได้แต่มองตาปริบๆ

แม้บริษัทจีนจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทว่าการขยายตัวดังกล่าวก็เต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งจากประเทศที่เข้าไปลงทุน และความใจเร็วด่วนได้ของนักลงทุน จนคาดการณ์ผิด

สวนสนุกจีนแห่งหนึ่งในฟลอริด้า ที่สร้างอย่างโออ่าอลังการ ทำเอาบรรดานักลงทุนจีนขาดทุนเป็นแถว เพราะยังหาคนเข้าไปใช้บริการไม่ได้เพียงพอ

สาเหตุที่นักลงทุนจีนต้องถึงคราเหี่ยวเฉา เป็นเพราะพวกเขาคิดคำนวณผิดพลาด นักลงทุนจีนส่วนมากมักหลงไปกับความสำเร็จของการลงทุนครั้งแรก พวกเขาละเลยการวางกลยุทธ์ระยะยาว สุดท้ายจึงต้องหอบเสื่อผืนหมอนใบกลับบ้านแทน ศ.ผิง เติงกล่าว

นอกจากขาดกลยุทธ์แล้ว ปัญหาที่บริษัทจีนต้องเผชิญอีกอย่างคือ ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม อาทิ ผู้จัดการทั่วไปชาวตะวันตก มักมีปัญหางัดข้อกับนายใหญ่ชาวจีน ที่เข้ามาควบคุมจุกจิก การสั่งงานอย่างเด็ดขาดที่สามารถกระทำได้ในจีน กลับไม่ได้ผลในตะวันตก และอาจทำให้คนงานประท้วงได้ง่ายๆ

ฉะนั้นบรรดานักลงทุนเลือดมังกร จึงอาศัยแก้เกมด้วยการส่งลูกหลานเข้าสู่โรงเรียนธุรกิจของฝรั่ง

จำนวนนักศึกษาจีนที่สมัครเข้ามาเรียนใน แอนเดอร์สัน สคูล ออฟ เมเนจเมนต์ ของ ยูซีแอลเอ (UCLA’s Anderson School of Management) เพิ่มขึ้นจาก 87 คนในปี 2005 เป็น 180 คนในปี 2007 กระทั่งจำนวนนักศึกษาที่ผ่านเข้ามาเรียนในปี 2007 มีจำนวนรวม 14 คน นับเป็นจำนวนที่มากสุดในประวัติศาตร์ของสาขา

สเตลล่า หลี่ และสตีเว่น จู ลาออกจากงานที่จีน และเดินทางมาศึกษายัง ลอส แองเจลิส หลี่จะสำเร็จการศึกษาในปีนี้ ส่วนจู เพิ่งจบ เอ็มบีเอ เมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันจูทำงานเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลให้กับกูเกิ้ล ทั้งคู่กล่าวว่า ที่นี่พวกเขาสามารถซึมซับประสบการณ์ที่พวกเขาไม่เคยประสบ และหวังว่า จะนำประสบการณ์ความรู้ด้านการเงินและกลยุทธ์กลับไปใช้ที่แผ่นดินใหญ่

ปัจจุบันบริษัทจีนค่อยๆซึมซับ เรียนรู้การวิเคราะห์ข้อมูลการตลาด, การสร้างแบรนด์ และกลวิธีอื่นๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในตะวันตก

“ผมไม่อยากจินตนาการเลยว่า ถ้านักธุรกิจจีนสามารถเรียนรู้เทคนิคการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการผลิตแบบทันท่วงที” (Just in time – การผลิตแบบตามคำสั่ง โดยแยกส่วนงานผลิตต่างๆแบบที่โตโยต้าทำ เมื่อมีคำสั่งผลิตมาแล้ว บริษัทจะสั่งชิ้นส่วนต่างๆมาประกอบเข้าด้วยกัน และนำส่งจำหน่าย ทำให้ไม่ต้องเสียเงินทุนในการดูแลรักษาสต็อก สินค้าส่วนเกิน) ชาร์ล ฟรีแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน กล่าว

มีเพียงบริษัทจีนไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่สามารถหยั่งรากลงบนผืนแผ่นดินลุงแซม ส่วนมากได้แต่หอบเสือผืนหมอนใบกลับบ้าน เนื่องจากขาดทุน

วั่นเซี่ยง อเมริกา เป็นหนึ่งในบริษัทไม่กี่แห่ง ที่หยั่งรากลึกที่นี่ วันเซี่ยง อเมริกา ซึ่งมีฐานดำเนินงานที่ชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ เป็นบริษัทลูกของวั่นเซี่ยง ยักษ์ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของจีน

วั่นเซี่ยง อเมริกาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในเมืองลุงแซม เพราะวั่นเซี่ยงเข้าไปสร้างงานจำนวนมากในสหรัฐฯ ที่อิลลินอยส์ มีการประกาศ “วันวั่นเซี่ยง” เพื่อยกย่องความดีงามของบริษัท ขณะที่มลรัฐมิชิแกนก็ให้การอุดหนุนการดำเนินงานของวั่นเซี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น