xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนุ่มสีว์ กั๋วเจี๋ย วัย 23 ปี ในเครื่องแต่งกายแจ็กแก็ตยีน สวมรองเท้าสเกตบอร์ด ดูเท่ไม่เบา เขาทำงานในโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ พอถึงเทศกาลตรุษจีนก็ได้หยุดงานนานนับสัปดาห์ ตามประกาศของรัฐบาล

ทว่าตรุษจีนคราวนี้ อาตี๋สีว์ขอลาหยุดเพิ่มอีก 2 สัปดาห์ แถม ยังกะด้วยว่า เมื่อกลับมาทำงาน นายจะเพิ่มค่าจ้างให้อีก 100 หยวน (13.98 ดอลลาร์) จากที่ได้อยู่แล้วเดือนละ 1,500 หยวน

เหตุใดคนงานจีนอย่างสีว์ถึงกล้าหาญชาญชัยนัก แตกต่างอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือจากเรื่องราวชีวิตรันทดของแรงงานจีนเท่าที่โลกเคยรับรู้กันมา?

“เจ้านายเค้าน่าจะขึ้นค่าแรงให้ผมนะ ดีกว่าหาคนใหม่มาฝึก” ยังกล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจเสียอีกระหว่างมาเยี่ยมโรงนาขนาด 3 ห้องของพ่อแม่ในเหอหนัน มณฑลภาคกลาง แหล่งแรงงานอพยพหลายล้านคน ที่กระจัดกระจายไปหางานทำทั่วประเทศในแต่ละปี

นับเป็นเวลาเนิ่นนานหลายทศวรรษมาแล้ว ที่ผู้ใช้แรงงานมือจำนวนมหาศาล ในโรงงานและตามไซต์ก่อสร้างบนแผ่นดินใหญ่ ชีวิตแทบไม่มีทางเลือก พวกเขาจึงจำต้องอดทนทำงานหนักเป็นเวลายาวนาน สถานที่ทำงานก็มักมีสภาพเลวร้าย เพียงเพื่อแลกกับเศษเงิน ชีวิตเช่นนี้ดำเนินไปวันแล้ววันเล่าเหมือนต้องคำสาป !

จนกระทั่งในปี 2522 จีนได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่ง ผลลัพธ์ของมันในอีกไม่กี่ทศวรรษต่อมา เหมือนอรุณเบิกฟ้าเหนือแดนมังกร ส่องให้เห็นหนทางเลือกมากขึ้นในชีวิตของแรงงาน

กฎหมายฉบับดังกล่าวห้ามคู่สมรสมีบุตรมากกว่าหนึ่งคน และชาวจีนรุ่น ที่ถือกำเนิดภายใต้“นโยบายลูกคนเดียว” ขณะนี้มีอายุอยู่ในช่วง18-35 ปี อันเป็นเรี่ยวแรงหลักสำหรับโรงงาน

และหนุ่มสีว์นี่แหละ คือตัวอย่างเพอร์เฟ็กต์ที่สุดตัวอย่างหนึ่งของแรงงานรุ่น “นโยบายลูกคนเดียว”

ในท่ามกลางธุรกิจที่กำลังบานสะพรั่ง โรงงานผุดระดะระดาราวดอกเห็ดในฤดูฝน ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนตอนในอันเฉื่อยเนือยของประเทศ ทว่าแรงงานจีนกำลังหดตัวลง อันเป็นผลมาจากนโยบายดังกล่าว
ในสภาพการณ์เช่นนี้ แรงงานจึงเริ่มมีอำนาจต่อรองในการหางาน ค่าจ้างถูกเรียกร้องให้สูงขึ้น แต่กำไรของบริษัทถูกบีบให้ลดลง คงไกลเกินความจริง หากจะกล่าวว่า แอ่งแรงงานมหาศาลกำลังเหือดแห้งไปบนดินแดน ที่มีประชากร 1,300 ล้านคน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งยังคงอาศัยในไร่นา ทว่าการลดลงของจำนวนแรงงาน ก็ทำให้มีโอกาสเลือกมากขึ้นว่า พวกเขาอยากทำงานที่ไหน?

แรงงานอพยพส่วนใหญ่ยังคงบ่ายหน้าไปหางานทำตามเมืองแถบชายฝั่งทะเล กลับมาเจอหน้าครอบครัวปีละครั้งในช่วงเทศกาลตรุษจีน จากนั้น ก็รีบกลับไปทำงานต่อ แต่แรงงาน ที่กำลังมองหางานทำใกล้บ้าน ก็มีมากขึ้น พวกโรงงานขนาดเล็กพากันทิ้งศูนย์กลางการผลิตใกล้กับฮ่องกง ที่นิยมกันมาแต่ดั้งเดิม ทยอยเข้ามายังดินแดนตอนใน อันแร้นแค้น ไม่เว้นแม้แต่อำเภอชนบทฟุ้งตลบด้วยฝุ่นแดง อย่างเฟิงจิ่ว เพราะถูกเย้ายวนจากมาตรการละเว้นภาษี และผ่อนคลายการควบคุมมลพิษของรัฐบาล ซึ่งพยายามกระจายการพัฒนาประเทศให้มีระดับสม่ำเสมอกัน

เมื่อแรงงานลดจำนวน แต่งานกลับเพิ่มขึ้น และกระจายตัวในหลากหลายท้องถิ่น สภาพการณ์จึงแปรเปลี่ยนเป็นไปสู่การแย่งแรงงานกันในหมู่เจ้าของธุรกิจ โจนาธาน แอนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์ของยูบีเอสคำนวณว่า ค่าจ้างแรงงานอพยพกำลังปรับสูงขึ้นถึงร้อยละ 15 ต่อปี จากไม่กี่ปีก่อนหน้า ที่มีการปรับขึ้นในอัตราตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ

คนงานในโรงงาน คนงานในฟาร์ม

จากผลสำรวจของทางการ จะเห็นว่า ประชากรจากดินแดนหลังชายฝั่งทะเลไหลบ่าออกไปหางานทำทั่วอาณาจักรแล้วถึง 30 ล้านคน พวกเขาทำงานเป็นพ่อครัว, บริกร,คนทำความสะอาด,คนงานก่อสร้าง และคนงานสร้างทางรถไฟ

ส่วนแรงงานที่เหลืออยู่ในชนบทอีก 530 ล้านคนนั้น นักเศรษฐศาสตร์มองว่า พอกล้อมแกล้มหาเลี้ยงชีวิตไปได้ในท้องถิ่นแถวนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือชนบทไม่ใช่แหล่งแรงงานสำรองอันกว้างใหญ่ ที่มีชาวนาประเภทหาเช้ากินค่ำและหวังแต่จะอพยพไปหางานทำในเมืองอีกต่อไปแล้ว

“หมู่บ้านเรามีแต่เด็กกับคนชรา นอกนั้นเปิดหนีไปหมด” ตู้ ซื่อเฉิง บอก

ชาวนา วัย 51 ปีผู้นี้อาศัยอยู่ในเขตเฟิงจิ่ว ,มณฑลเหอหนัน ลูกสองคนโตเป็นผู้ใหญ่ และไปทำงานที่โรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือทางภาคตะวันออก จนสามารถส่งเงินมาให้ทำให้พ่อกับแม่สร้างบ้าน 2 ชั้นได้เมื่อปีที่แล้ว แต่บ้านกลับใหญ่โตกว้างขวางเกินไปไปสำหรับสองสามีภรรยา และหลานอีกหนึ่งคน นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นทั่วไปในชนบทของจีน

หรัน เทา ผู้เชี่ยวชาญด้านชนบทศึกษาของสถาบันรัฐศาสตร์จีนมองว่า แม้แรงงานอพยพส่งเงินกลับบ้านคิดเป็นอัตราถึงร้อยละ50 ของรายได้ในท้องถิ่นชนบท แต่ขณะเดียวกัน การอพยพไปทำงานที่อื่นก็เป็นตัวทำลายหมู่บ้านอย่างสิ้นเชิง นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก

ตู้เล่าว่า ที่หมู่บ้านมีผู้คนอาศัยตามบัญชีสำมะโนครัว 2,000 คน แต่มีเพียง 1,500 คนเท่านั้น ที่อาศัยอยู่ชั่วนาตาปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็ผมหงอกกันแล้ว

ในเมื่อนโยบายลูกคนเดียวได้ผลดีเกินคาดไปหน่อย รัฐบาลจีนจึงมิอาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป เพราะจำนวนผู้สูงอายุนับวันจะเพิ่มมากขึ้น แต่คนหนุ่มสาวลดน้อยลง รัฐบาลจีนจึงกำลังศึกษาว่า ควรมีการผ่อนคลาย หรือล้มเลิกนโยบายลูกคนเดียวไปเลยให้รู้แล้วรู้รอด

“มีความต้องการให้แก้ไขเรื่องนี้กันมาก” นายเจ้า ไป๋เกอ รัฐมนตรีช่วยว่าการคณะกรรมาธิการวางแผนประชากรและครอบครัวแห่งชาติ ออกมาแย้ม ๆ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์

“เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ในหมู่ผู้กำหนดนโยบาย”

ฝ่ายเจ้าของกิจการเองก็ออกมาโวยวายอย่างไม่กระดากอายเรื่องที่ขนหน้าแข้งร่วง เพราะต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น

เสียงโวยวายยิ่งแหลมปรี๊ดในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง หรือแม่น้ำไข่มุก ฐานการผลิตทางตอนใต้ของประเทศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเตือนว่า โรงงานถึงราว 15,000 รายอาจต้องปิดตัวลง โรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ผลิตเครื่องนุ่งห่ม และถุงเท้า ซึ่งพึ่งแรงงานราคาถูก และเป็นการผลิตที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเบาทั้งหมดในจีนทำกำไรต่อเนื่องจนน่าพิศวง แต่ในปี 2551 นี่แหละ น่าจะได้เห็นผู้ผลิตถูกบีบให้ต้องลดความสามารถในการทำกำไรลง” แอนเดอร์สันแห่งยูบีเอส คาดคะเน

จีนยังมีแรงแข่งขัน

ทว่าผลกำไรไม่ใช่ปัญหาน่าวิตกกังวลเท่าใดนักสำหรับบริษัทผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์ ,ชิ้นส่วนเครื่องบิน และสินค้าที่ใช้ทักษะการผลิตสูงอื่น ๆ บริษัทเหล่านี้กลับได้รับประโยชน์จากแรงงานมีฝีมือ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่แล้วในจีน

สตีเฟ่น กรีน นักเศรษฐศาสตร์ของแสตนดาร์ด ชาร์เติร์ดระบุในรายงานเมื่อไม่นานว่า การเพิ่มขึ้นของแรงงานฝีมือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง ดังนั้น ค่าแรงที่สูงขึ้นในเวลานี้จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการไล่ตามทันของแรงงานจีน เมื่อเทียบกับชาติอื่น

นอกจากนั้น ค่าแรงในจีนยังนับว่าไม่แพง เมื่อเทียบกับอีกหลายชาติ เช่น เม็กซิโก ซึ่งค่าแรงในจีนถูกกว่าถึงร้อยละ 25

“จีนจะยังคงรักษาอัตราการแข่งขันไว้ได้อีกมากในอีก 5 ปีข้างหน้า” กรีนระบุ

นอกจากนั้น ยังปรากฎสัญญาณชัดเจนด้วยว่า อำนาจทางเศรษฐกิจภายในจีน ที่เคยเอียงกระเท่เร่ไปทางนายจ้างมานานหลายปี กำลังค่อย ๆ เอียงไปทางลูกจ้างแล้ว

กระทรวงแรงงานในมณฑลกว่างตงระบุว่า หลังตรุษจีน แรงงานอพยพร้อยละ 11 ไม่หวนกลับมาทำงานที่นี่อีกเลย เจ้าของธุรกิจต้องตาลีตาเหลือก ควานหาคนงาน จับยัดใส่ตำแหน่งที่ว่าง

นอกจากนั้น แรงงานยังมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นในการต่อสู้เรื่องค่าแรง, สภาพการทำงานที่เลวร้าย หรือกรณีนายจ้างละเมิดสัญญา ซึ่งเกิดขึ้นดาษดื่นในโรงงานทั่วประเทศ โดยแรงงานมักมีมือกฎหมาย ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิลูกจ้าง คอยช่วยเหลือ

ตลาดนัดแรงงานในเมืองเจิ้งโจว สะท้อนให้เห็นสภาพการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไปได้อย่างชัดเจน พวกโรงงานดินแดนตอนใน และบริษัทจากเขตอุตสาหกรรมชายฝั่ง ต่างแย่งรับสมัครคนงานกันจ้าละหวั่น
แต่โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนัน โดนใจฝูงชนผู้เสาะแสวงหางานมากกว่าใครเพื่อน

จาง ซื่อเหล่ย หนุ่มวัย 23 ปี ก็อยู่ในข่ายนี้ เมื่อปีที่แล้ว เขาทำงานในตำแหน่งช่างเครื่องจักรที่เมืองกว่างโจว ได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,000 หยวน

“ค่าจ้างที่นี่ (แผ่นดินตอนใน) ถูกกว่าทางใต้อยู่แล้วล่ะครับ แต่ก็ต่างกันไม่เท่าไร แถมค่าครองชีพที่นั่นว่าไปแล้ว ยังสูงกว่ามากอีกด้วย ” จางเล่า

เทศกาลตรุษจีนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาพอากาศหนาวจัดผิดปกติ หิมะตกหนัก กองท่วมทับเส้นทางรถไฟ จางต้องเสียเวลาเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านนานถึง 3 วัน พออยู่กับครอบครัวได้แป๊บเดียว ก็ต้องรีบกระหืดกระหอบกลับมาทำงาน จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่เขาอยากได้งานทำใกล้ ๆ บ้าน

“ดินแดนตอนในเจริญเร็วจะตาย เราหางานทำที่นี่ก็ได้นะ ผมว่า ” จางพูดอย่างมั่นใจ

“ผมอยากอยู่ใกล้เตี่ยกับแม่”




แปลและเรียบเรียงจาก “Chinese workers spell end of cheap labour” ของสำนักข่าวรอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น