xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:นโยบายการลงทุนแบบจีน +1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศจีนยังคงเป็นที่หมายปลายทางในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติทั่วโลก ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 83,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ด้วยภาวะเงินเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมกับค่าแรงที่สูงขึ้นในจีน ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การแข็งตัวของค่าเงินหยวน และการทยอยสิ้นสุดลงของสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จีนให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ นักธุรกิจต่างพยายามมองหา ประเทศเป้าหมายในการลงทุนแห่งใหม่ “จีน + 1” ในที่นี้เป็นคำเรียกในวงการธุรกิจซึ่งหมายถึงกลยุทธ์การกระจายการลงทุนจากประเทศจีน ไปสู่ประเทศข้างเคียงอีกหนึ่งประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนาม

ด้วยเหตุที่อัตราค่าตอบแทนแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมหลายประเภทของจีนได้ปรับเพิ่มสูงกว่าร้อยละ 25 ต่อปี จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่บริษัทต่างชาติทั้งหลายกำลังหันไปสนใจลงทุนในเวียดนามที่มีค่าแรงถูกกว่าด้วย ทั้งนี้ แรงงานไร้ฝีมือในจีนโดยเฉลี่ยได้รับค่าแรงประมาณ 120 เหรียญสำหรับการทำงาน 40 ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ เทียบกับในเวียดนามซึ่งได้รับค่าแรงแค่ 50 เหรียญสำหรับ 48 ชั่วโมงทำงาน ด้วยความแตกต่างนี้เอง จึงทำให้บริษัทต่างชาติที่ผลิตสินค้าซึ่งใช้เทคโนยีขั้นต่ำ เช่น ผลิตเสื้อผ้าและชุดชั้นใน ได้ตัดสินใจเพิ่มฐานการผลิตที่เวียดนามที่ดูแล้วน่าจะมีต้นทุนการผลิตโดยรวมที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ ในขณะเดียวกันก็ดำเนินการปรับปรุงโรงงานที่จีนเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานลง โดยรัฐบาลจีนเองก็ได้เล็งเห็นปัญหาด้านแรงงานนี้จึงได้ปรับนโยบายโดยหันไปมุ่งเน้นที่การผลิตสินค้าซึ่งใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นไป (high-tech product) ซึ่งได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรกลที่มีความละเอียดและเที่ยงตรงสูง เช่น ชิ้นส่วนเครื่องรถยนต์

ขณะนี้บริษัทแคนนอน และนิสสัน ได้ยกเลิกการขยายโรงงานในประเทศจีน แล้วหันมาลงทุนขยายฐานการผลิตแถบชานกรุงฮานอย นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Hanesbrands หรือแม้แต่ Texhong Textile ของจีนเองก็กำลังลงทุนเปิดโรงงานใหม่ในเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ปิดโรงงานในจีน แต่กลับขยายโรงงานในประเทศอื่น ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยง และลดค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทได้ เป็นไปตามแนวกลยุทธ์การลงทุนแบบ “จีน + 1”

รัฐบาลเวียดนามได้ให้การสนับสนุนการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทต่างชาติในสี่ปีแรก และจะเก็บภาษีเพียงครึ่งเดียวในสี่ปีถัดไป ขณะนี้ถึงกับเกิดความเชื่อในหมู่นักลงทุนว่าเวียดนามจะเป็นจีนลำดับต่อไป และกัมพูชาซึ่งยิ่งมีค่าแรงที่ถูกกว่า ก็จะเป็นเวียดนามลำดับถัดไป การส่งต่อเป็นทอดๆ นี้ ไม่แน่ใจว่าจะไปสิ้นสุดที่ใด แต่ว่าที่แน่ๆ นั้น มันช่วยให้สินค้าที่ผู้บริโภคในอเมริกา และยุโรปนั้นยังคงมีราคาถูกอยู่ แม้ว่าราคาน้ำมันนั้นจะสูงขึ้นมากในขณะนี้ ซึ่งจะมีส่วนหลักช่วยชะลอภาวะเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เวียดนามก็ยังเผชิญกับปัญหาการขนส่งสินค้าภายในประเทศ การจราจรที่ติดขัด และการวางแผนด้านการขนส่งที่ไม่ดี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิดเพิ่มขึ้นจากความล่าช้า นอกจากนี้ ปัญหาการลาออกของพนักงานเวียดนามนั้น ได้ถูกจัดว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก (จีนอันดับสอง) การเปลี่ยนงานนั้นเกิดขึ้นบ่อยมากจนทำให้บริษัทขาดทุนจากการที่ต้องฝึกงานให้กับพนักงานใหม่ บางบริษัทต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30-40 ให้พนักงานเพื่อจะดึงตัวให้อยู่กับบริษัทขณะเดียวกันก็เพื่อให้พนักงานสามารถอยู่ได้ภายใต้สภาวะเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 25 ในเวียดนามขณะนี้

ข้อได้เปรียบของเวียดนามในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติก็คือ การมีเสถียรภาพทางการเมือง นักลงทุนกลับมองว่าการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้ทหารถูกควบคุมและไม่สามารถทำการปฏิวัติได้ เกิดความแน่นอนทางนโยบาย ซึ่งเสถียรภาพนี้ทำให้เกิดภาพความมั่นใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติมากกว่าประเทศประชาธิปไตยแถบนี้ เช่น ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่ผลักดันนักลงทุนต่างชาติออกไป ตัวเลขที่น่าตกใจก็คือเงินลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่ไหลเข้าไทยในปี 2550 ลดลงร้อยละ 25 ต่างกับของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 136 ซึ่งขณะนี้ยอดรวม FDI ของเวียดนามได้สูงกว่าของไทยไปแล้ว (13,000 ล้านเหรียญ เทียบกับ 8,000 ล้านเหรียญ)

ข้อสรุปเตือนใจทุกฝ่ายในประเทศไทยก็คือ ขณะนี้สมการการลงทุนใหม่ ๆ ของนักลงทุนต่างชาติไม่ได้มีประเทศไทยเป็นตัวแปรอยู่ในนั้นเลย ดังจะเห็นได้จากกรณีของกลยุทธ์การลงทุนแบบ “จีน + 1” ที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งประเทศที่จะเพิ่มเข้ามาในสมการก็คงไม่หนีไปจากเวียดนามนั่นเอง คำถามก็คือ 2 ปีที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรลงไปและปัจจุบันเรากำลังทำอะไรกันอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น