xs
xsm
sm
md
lg

จีนแผ่อิทธิพลในกัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China presence in Cambodia grows
29/05/2008

ครอบครัวคนเชื้อจีนที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน แห่งกัมพูชา กำลังแสดงบทบาทสำคัญในการนำเอาพวกบริษัทจีนมาสัมผัสสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา และส่งผลให้เกิดข้อตกลงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

พนมเปญ – ประเทศจีน ซึ่งกำลังกระหายที่จะมีอิทธิพลและทรัพยากรธรรมชาติอันทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ กำลังผลักดันตนเองให้ผงาดขึ้นมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่รายหนึ่งในกัมพูชา จนจุดชนวนทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาว่า การไหลทะลักทะลายเข้ามาของเม็ดเงินสดจากจีน จะกลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้แก่การทุจริตคอร์รัปชั่นตลอดจนการขูดรีดที่บังเกิดอยู่แล้วในประเทศยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลกรายนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกัมพูชานั้นทั้งยาวนานและก็ทั้งขึ้นๆ ลงๆ ดีๆ ร้ายๆ โดยที่ประเทศจีนแห่งยุคเหมาอิสต์ ได้ให้ความสนับสนุนอย่างไม่มีข้อจำกัดแก่ โปลโปต (Pol Pot) ผู้นำสูงสุดของเขมรแดงที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้กลุ่มนิยมมาร์กซิสต์ของโปล โปต ถูกประณามว่า ทำให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตไปกว่า 1 ล้านคนในช่วงปี 1975-79

ทว่าระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ พวกครอบครัวคนเชื้อจีนที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน แห่งกัมพูชา ได้แสดงบทบาทสำคัญในการนำเอาบริษัทแดนมังกร ซึ่งมักเป็นบริษัทที่ได้รับการหนุนหลังจากภาครัฐของจีนด้วย มาติดต่อสัมผัสสัมพันธ์กับเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา ทั้งนี้ตามคำพูดของพวกนักเศรษฐศาสตร์และนักเคลื่อนไหวหลายต่อหลายคน

“จีนจำเป็นต้องอาศัยกัมพูชา” ทิธ นารันห์คิรี (Tith Narankiri) นักเศรษฐศาสตร์ชาวกัมพูชาที่พำนักอยู่ในสหรัฐฯให้ความเห็น “ถ้ามีปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การทำสงครามกับไต้หวัน จีนก็น่าจะจำเป็นต้องอาศัยกัมพูชา ... ประการที่สอง ในด้านเหตุผลทางเศรษฐกิจ จีนก็ต้องการแก๊สและน้ำมัน”

ตามรายงานของสำนักข่าวไชน่านิวส์เอเยนซี ของทางการจีน ประเทศจีนได้กลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในกัมพูชาไปแล้ว โดยที่มีบริษัทจีน 3,016 แห่งกำลังดำเนินการลงทุนต่างๆ รวมเป็นมูลค่า 1,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อนับถึงสิ้นปี 2007 สำหรับการค้าขายระหว่างสองฝ่ายเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่มขึ้นมาจากปี 2006 ถึง 30% จนมีมูลค่า 730 ล้านดอลลาร์

นับตั้งแต่ที่ทั้งสองฝ่ายมีการลงนามในข้อตกลงคุ้มครองการลงทุนเมื่อเดือนกรกฎาคม 1996 จีนก็ได้ให้สัญญาที่จะมาลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 350 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ในภาคป่าไม้, การผลิตไฟฟ้า, สิ่งทอ, วัสดุก่อสร้าง, และการพัฒนาการเกษตร

** จีนแสดงบทบาทสำคัญ **

“เวลานี้ประเทศจีนกำลังแสดงบทบาทสำคัญยิ่งยวดในเศรษฐกิจของเรา โดยเป็นทั้งผู้บริจาคและนักลงทุนรายสำคัญ นอกจากนั้นยังเป็นตลาดใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาด้วย” นายกสมาคมนักเศรษฐศาสตร์เขมร จัน โสภัล (Chan Sophal) กล่าว “ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเรานั้นส่งออกไปยังจีน เพียงแต่ส่งผ่านทางไทยและเวียดนามเท่านั้น เรายังเป็นตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ของจีน บทบาทของจีนในเศรษฐกิจกัมพูชากำลังโตขึ้นเรื่อยๆ” เขากล่าวต่อ

รัฐมนตรีต่างประเทศ หยางเจียฉือ ของจีนได้เดินทางมาเยือนกัมพูชาในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และสัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 55 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งจะทำการลงทุนเป็นมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าของกัมพูชา เขายังแจ้งเรื่องที่จีนยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรให้แก่ผลิตภัณฑ์ของกัมพูชารวม 400 รายการ

นอกเหนือจากการลงทุนและการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแล้ว จีนยังให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่กัมพูชาด้วย โดยเป็นผู้จัดหาเรือตรวจการณ์ 9 ลำให้แก่กองทัพเรือที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมของกัมพูชาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 ก่อนหน้านั้นก็ให้เรือรบมา 5 ลำในปี 2005

ทว่าบรรดานักเครื่องไหวด้านสิทธิมนุษยชนและนักรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ชี้ให้เห็นความจริงอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า, การแย่งยึดที่ดินจากชาวบ้าน, และการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบคนงาน ซึ่งเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นตามหลังเม็ดเงินจีน

“ผลของการมีเงินทองจำนวนมาก ซึ่งไหลเข้ามาชนิดที่มีเชือกไม่กี่เส้นผูกติดมาด้วย โดยมุ่งไปยังผู้คนจำนวนมากในคณะรัฐบาล ย่อมทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นอย่างหนักหน่วงเป็นธรรมดาอยู่แล้ว” ไซมอน เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการองค์การ โกลบอล วิตเนสส์ (Global Witness) อันเป็นกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่นระหว่างประเทศ กล่าวแสดงความเห็น

** แย่งยึดที่ดิน-ตัดไม้ทำลายป่า **
“สิ่งนี้ปรากฏโฉมให้เราเห็นในรูปของการแย่งยึดที่ดินชาวบ้าน, ไร่สวนขนาดใหญ่มหึมา, และการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย, การทำเหมืองแบบไร้ระเบียบกฎเกณฑ์, การสร้างเขื่อน, และอย่างอื่นๆ อีกในทำนองเดียวกัน” เทย์เลอร์กล่าวต่อ

ขณะเดียวกัน พวกนักเคลื่อนไหวบอกว่า ในโรงงานที่จีนมาลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สิทธิของคนงานก็มักถูกเพิกเฉยละเลย “พวกบริษัทของจีน โดยเฉพาะโรงงานสิ่งทอ เวลานี้มีปัญหากับคนงานชาวกัมพูชาเยอะแยะมากมายเลย” จัน เศวต (Chan Saveth) แห่งกลุ่มแอดฮ็อก (Adhoc) ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์เรียกร้องด้านสิทธิต่างๆ เปิดเผย “ทุกวันนี้ เรามองเห็นว่าจีนกำลังเข้าครอบงำพวกโรงงานสิ่งทอในกัมพูชา คนงานต้องลำบากเดือดร้อนกันมาก โดยที่พวกโรงงานสิ่งทอของคนจีนมีการจำกัดเสรีภาพของคนงานมากที่สุด”

อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชา ซึ่งเป็นตัวสร้างรายได้ปีละมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ คือผู้ที่ว่าจ้างคนงานจำนวนหลายแสนคน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

คนงานเหล่านี้เล่าถึงบรรยากาศการทำงานว่า พวกเขาถูกบีบคั้นให้ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มเติมอยู่เป็นประจำ แต่คนงานก็มีความวิตกกังวลในเรื่องเกี่ยวกับการเงินของพวกเขาอยู่มากเกินไปแล้ว ประกอบกับแทบไม่ค่อยมีเวลาว่างเหลือพอที่จะสร้างความยุ่งยากให้แก่ฝ่ายบริหารจัดการของโรงงาน นอกจากนั้น โรงงานเหล่านี้ยังมีการหักเงินค่าจ้างแบบไม่ถูกระเบียบไม่ถูกกฎหมายอยู่เป็นประจำ รวมทั้งมีน้อยมากที่ยอมจ่ายค่าจ้างเมื่อคนงานลาป่วย

** การประท้วงในเขตป่าเขา **

พวกนักเคลื่อนไหวบอกว่า เม็ดเงินของจีนยังไปผูกอยู่กับโครงการขูดรีดหาประโยชน์จากป่าไม้และการเกษตรขนาดใหญ่โตมหึมา ซึ่งกำลังทำลายวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน อาทิ การหาหน่อไม้ และการเก็บยางไม้

ทั้งนี้รัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัมปทานป่าไม้ในเขตมณฑลคีรีแบบลับๆ เป็นพื้นที่ถึง 200,000 เฮกตาร์ ซึ่งเป็น 20 เท่าตัวของที่กฎหมายอนุญาต แก่บริษัทเฟียพิเม็กซ์ (Pheapimex) อันเป็นเครือข่ายธุรกิจจดทะเบียนในกัมพูชาของคนเชื้อจีนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน

เฟียพิเม็กซ์ได้ทำข้อตกลงร่วมลงทุนกับกิจการไร่ส่วนขนาดใหญ่ที่ชื่อ อู่จื้อซาน (Wuzhishan) ของจีน เพื่อเข้ามาหาประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว โดยขับไล่ผลักใสผู้คนชนกลุ่มน้อยพื้นถิ่น ที่พึ่งพาอาศัยป่าเขาแถบนั้นเพื่อการยังชีพตามประเพณีของพวกเขา

กลุ่มโกลบอล วิตเนสส์ บอกว่า ข้อตกลงในกัมพูชาซึ่งทางบริษัทที่รัฐจีนหนุนหลังอยู่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งมีขนาดใหญ่โตขึ้นเท่าใด ก็ดูเหมือนจะมีความโปร่งใสน้อยลงไปเท่านั้น อีกทั้งยังจะได้รับการคุ้มครองปกป้องอย่างเข้มแข้งที่สุดจากกองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐบาล โดยเมื่อชาวบ้านในมณฑลคีรีทำการประท้วงต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า ทางการก็จะส่งกองทหารเข้าไปกำราบปราบปราม

“จากมุมมองของผุ้คนในกัมพูชาที่ต้องการตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการ ... มันก็กลายเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากข้อตกลงที่ทำกันไปในช่วงหลังๆ นี้ บางข้อตกลงเป็นการเจรจาต่อรองกันแบบลับๆ โดยสิ้นเชิง” เทย์เลอร์กล่าว

เขาบอกต่อไปว่า สิ่งที่ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทต้องประสบจากข้อตกลงในลักษณะเช่นนี้ก็คือความหายนะ “พวกเขาไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จนกระทั่งถึงตอนที่รถบูลโดเซอร์แล่นรี่เข้ามาและเริ่มพังกระท่อมที่พักของพวกเขาแล้ว”

** ความช่วยเหลือนานาจากปักกิ่ง **

“ถ้าพวกเขาประท้วงต่อต้าน พวกเขาก็ต้องเผชิญกับกลไกอำนาจรัฐอย่างเต็มกำลังกันทีเดียว ... ปราบปรามสยบความพยายามของพวกเขาที่จะเปล่งเสียงออกมาให้คนอื่นได้ยินได้ทราบกัน” เขากล่าวต่อ

ตัวฮุนเซนเองได้ประกาศห้ามการตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย และพูดถึงการที่เมื่อก่อนเขาปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ ว่าเป็น “ความผิดพลาดใหญ่หลวงที่สุด” แห่งอาชีพนักการเมืองของเขา นอกจากนั้นทัศนะเช่นนี้ของเขายังได้รับการสนับสนุนด้วยสุนทรพจน์ต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าของบรรดารัฐมนตรี ทว่าสิ่งเหล่านี้แทบไม่ได้มีผลจริงจังอะไรเลย

จัน โสภัล กล่าวว่า จีนมองผลประโยชน์ต่างๆ ในกัมพูชาด้วยความชัดเจนมาก “พวกเขาช่วยเหลือเรา แต่พวกเขาก็เล็งมายังทรัพยากรต่างๆ ที่เรามีอยู่ อาทิ เหมืองแร่, น้ำมัน, ทอง, เหล็ก, และที่ดิน พวกเขาต้องการได้ที่ดินไปปลูกพืชการเกษตรและพืชอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อสนองความต้องการของประชากร(ของจีน)”

** ประวัติศาสตร์แห่งสายสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นสดใส **

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเขมรนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี 1958 ระหว่างทศวรรษที่ 1970 ประเทศจีนที่พวกเหมาอิสต์มีอิทธิพล ได้ให้ความสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นมั่นคงแก่ โปลโปต ผู้นำเขมรแดง ซึ่งกลุ่มมาร์กซิสต์ของเขาถูกประณามว่าทำให้มีประชาชนล้มตายไปมากกว่า 1 ล้านคน

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างสองประเทศ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอีกภายหลังการตกจากอำนาจของเขมรแดงในปี 1979 โดยผ่านทางพระเจ้านโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ผู้ซึ่งยังคงถือจีนเป็นเสมือนบ้านแห่งที่สอง อีกทั้งมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับทางปักกิ่ง

จีนได้ประกาศยกเลิกหนี้สินจำนวนมากให้แก่รัฐบาลกัมพูชาเมื่อ 6 ปีก่อน นอกจากนั้นระหว่างที่นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า ของจีนมาเยือนกัมพูชาในเดือนเมษายน 2006 ก็ได้ให้เงินกู้และเงินให้เปล่าก้อนใหม่ๆ รวมเป็นมูลค่าราว 600 ล้านดอลลาร์

ขณะที่เงินเหล่านี้ไม่ได้มีเงื่อนไขผูกพันใดๆ แต่พวกนักวิเคราะห์ก็มองว่าปักกิ่งกำลังเขม้นหมายในการหาทางเข้าสู่เมืองท่าสีหนุวิลล์ ที่อยู่ทางภาคใต้ของกัมพูชา ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เป็นจุดขนถ่ายน้ำมันนำเข้า

รายงานชิ้นนี้มาจากวิทยุเอเชียเสรี(Radio Free Asia) รายงานนี้ในตอนแรกเริ่มเขียนเป็นภาษาเขมร โดย มายาฤทธิ์ (Mayarith), แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย เจีย มาคารา (Chea Makara), หัวหน้าบริการภาคภาษาเขมรของวิทยุเอเชียเสรี คือ เขม โสส (Kem Sos), ต่อมามีการวิจัยเพิ่มเติมโดย บริการภาคภาษากวางตุ้งของวิทยุเอเชียเสรี, ผู้อำนวยการภาคภาษากวางตุ้งของวิทยุเอเชียเสรี คือ ชินนี ลี (Shiny Li), หลังจากนั้นได้เขียนและผลิตสำหรับขึ้นเว็บเป็นภาษาอังกฤษ โดย ลุยเซตตา มูดาย (Luisetta Mudie), และแก้ไขเรียบเรียงโดย ซาราห์ แจ๊กสัน-แฮน (Sarah Jackson-Han)

กำลังโหลดความคิดเห็น