“อภิสิทธิ์” ชี้ชัด ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด และปัญหาทุจริตนมโรงเรียนเชื่อมโยง เตรียมขยายฐานแจกจ่ายนมโรงเรียนในระดับประถม 6 เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์และยกเลิกระบบฮั้วประมูล โอนให้ท้องถิ่นจัดการมาตรฐานน้ำนมโดยรัฐจะจัดสรรงบประมาณให้
วันนี้ (8 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ถึงปัญหานมโรงเรียนบูด ว่า เป็นปัญหาค่อนข้างที่จะยืดเยื้อมานับตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่ง เริ่มต้นมาก็มีปัญหา คือ ปัญหาเรื่องของน้ำนมดิบซึ่งล้นตลาด รัฐบาลก็พยายามแก้ไขมาโดยลำดับ ช่วงปีใหม่ได้มีการจัดบรรจุเป็นนมถุงแจกจ่ายพี่น้องประชาชน ช่วงต่อมาได้มีการดำเนินโครงการรับซื้อต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาไม่หมด และที่จะซ้ำเติมความรู้สึกของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ก็คือว่า ในภาวะที่น้ำนมดิบล้นตลาด ก็เกิดมีปัญหาในเรื่องของการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างนมโรงเรียนด้วย ซึ่ง 2 เรื่องนี้ความจริงเกี่ยวพันกัน และขณะนี้ตนได้มีการเรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพบปะกับพี่น้องเกษตรกรในเรื่องของโคนม น้ำนมดิบ แล้ว ก็คิดว่าขณะนี้น่าจะได้ทางออก ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะคลี่คลายปัญหาได้
นายกฯ กล่าวอีกว่า ประเด็นก็คือว่า ตลาดที่จะรองรับน้ำนมดิบ ถ้าเราขยายการดื่มนมในโรงเรียนจากที่เราให้เด็กเล็กจนถึง ป.4 ขยายไปถึง ป.5-ป.6 ที่ตกลงกันคือว่า ขยายไปถึงป.6 และให้ดื่มปีหนึ่ง 265 วัน พูดง่ายๆ คือทุกสัปดาห์ แต่สัปดาห์ละ 5 วัน คือ เว้นวันเสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น ตรงนี้ถ้าพูดจากตัวเลขปริมาณแล้วจะรองรับผลผลิตได้ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ โดยราคาในการที่จะซื้อ ในเบื้องต้นจะยึดถือตามข้อตกลงที่ทำไว้กับพี่น้องเกษตรกรจนถึงวันที่ 28 เมษายน จากนั้นจะมาประเมินต้นทุนกันใหม่ร่วมกับพี่น้องเกษตรกร และดูว่าราคารับซื้อต่อไปที่เหมาะสม และไม่ฝืนตลาด ขณะเดียวกันพี่น้องเกษตรกรก็มีค่าตอบแทนที่ดีพอสมควร ควรจะเป็นเท่าไหร่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า พร้อมๆ กันไปเราต้องสะสางปัญหาในเรื่องของนมโรงเรียน และปัญหาในเรื่องของการทุจริต หรือการสมยอมหรือที่เรียกกันว่าฮั้ว โดยการมีการไปตั้งเงื่อนไขในเรื่องของการประมูล หรือการจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องของนม ซึ่งไปจำกัดในเรื่องของเขตพื้นที่ ขณะนี้คือว่าจะมีการยกเลิกเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว จะให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ คำนวณงบประมาณเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะจัดให้แน่นอน แต่ในเบื้องต้นจะขอความร่วมมือของท้องถิ่นเพื่อความคล่องตัวและรวดเร็ว ดำเนินการโครงการนี้ไปก่อน แต่ยืนยันว่า รัฐบาลจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณไปชดเชยให้กับท้องถิ่นทั้งหลาย และการปรับปรุงตรงนี้จะรวมไปถึงในเรื่องของการดูแลเรื่องของคุณภาพมาตรฐานของนม และดูแลว่าเราสามารถที่จะมีความคล่องตัว ความยืดหยุ่นในการส่งนมข้ามเขต หรือว่าเก็บไว้ได้นานขึ้น เพราะฉะนั้น จะมีแผนของการปรับในเรื่องของนม สัดส่วนของนมกล่องจะเพิ่มขึ้น และลดในสัดส่วนของนมถุงลงไป โดยจะพยายามดูแลไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย อันนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผมหวังว่า จะเป็นการวางระบบใหม่ และช่วยแก้ปัญหา
“ซึ่งในความรู้สึกของพี่น้องประชาชนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ขัดและซ้ำเติมความรู้สึกอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเห็นพี่น้องเกษตรกรไปเทน้ำนมดิบทิ้งในขณะที่มีปัญหาในเรื่องของนมโรงเรียน ก็ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบไปแล้ว” นายกฯ กล่าว