ประธานศาลปกครองสูงสุด ออกโรงติงรัฐบาลปฏิรูปการเมือง ชี้ ยังขาดการศึกษาหารากเหง้าที่แท้จริง แนะต้องดูว่าจะแก้อะไรกันแน่ ไม่ใช่ปฏิรูปการเมืองแล้วทุกอย่างจะจบ ระบุยังขาดผู้นำที่เป็นศูนย์รวมนำการปฏิรูป เผย รัฐธรรมนูญไม่ใช่ต้นตอปัญหา เชื่อ หากค้นหาต้นตอที่แท้จริงเจอจะแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองได้ พร้อมมองบทบาท “ตุลาการภิวัฒน์” เพราะไม่สนองการเมือง ทำให้ถูกมองอย่างกล่าวหากลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง
วันนี้ (6 มี.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงกระแสการปฏิรูปการเมืองในขณะนี้ ว่า คำว่า ปฏิรูปการเมืองที่พูดกันตอนนี้ยังเป็นนามธรรม ไม่ชัดเจนว่า เขามองเห็นว่าปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วจะแก้ปัญหานั้นด้วยวิธีอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาที่มีอยู่ทุกวันนี้ อาจจะแก้ได้ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การปฏิรูปการเมืองก็ได้ เช่น ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้องหาให้พบก่อนว่ารากเหง้าของมันคืออะไร
“การที่เขาจะเริ่มการปฏิรูปนั้นเขาคงมองว่ามันมีปัญหา แต่ต้องถามว่าจะแก้อะไร เพราะการปฏิรูปฯคงไม่ใช่แค่การแก้รัฐธรรมนูญหรือแก้กฎหมาย แต่ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และแก้แล้วจะได้ผลจริงหรือไม่ แต่ปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองนั้นคงมีมาก เพราะขณะนี้เขายังคิดกันคนละทาง ส่วนการหาคนกลางมาที่มีคนยอมรับเป็นแกนนำการปฏิรูปการเมืองนั้น ผมเองก็ยังมองไม่ออกว่าจะหาได้จากไหน เพราะจะหานักวิชาการสักคนก็ยังมีคนยอมรับว่าเป็นกลางได้ยาก”
เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญมีความจำเป็นต้องแก้ หรือเพราะหลักเกณฑ์ไปรัดตัวนักการเมืองมากเกินไป เช่น เมื่อยุบพรรคกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายอักขราทร กล่าวว่า จะมองว่ารัดแน่นเกินหรือไม่ ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญประเทศอื่นเขาก็มีด้วย แต่ที่พูดกันเหมือนกับว่ามีแต่เฉพาะประเทศไทย จริงแล้วต้องดูด้วยว่าที่บางประเทศเขาไม่มีเรื่องนี้ เพราะเขาไม่เผชิญปัญหารุนแรงอย่างที่ประเทศเราเจอใช่หรือไม่ ตรงนี้ต้องมีการศึกษาจึงจะตอบได้ว่าสิ่งที่เราใช้อยู่นั้นมีเหตุมีผลหรือไม่ แต่เวลานี้เราใช้ความรู้สึกมาพูดกันเท่านั้นไม่ได้ใช้สิ่งที่ผ่านการศึกษามาพูด
เมื่อถามย้ำว่า สามารถใช้รัฐธรรมนูญ 50 ไปก่อนยังไม่จำเป็นต้องแก้ไขใช่หรือไม่ ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ดีที่สุดในแต่ละห้วงเวลา แต่ปัญหาคือบางครั้งการแก้จุดอื่นที่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญยังให้ผลดีกว่าการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะแก้ไม่สำเร็จ เช่น การแก้ที่คน โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้ใหญ่ที่ควรจะพูดจาออกความเห็นก็ควรจะต้องทำ ต้องรับผิดชอบบ้านเมืองให้มากกว่านี้ ไม่ใช่กลัวแต่จะได้รับผลกระทบกระเทือน
“ที่หวังว่า จะแก้ปัญหามันก็อาจจะได้ แต่เราก็ไม่อาจมั่นใจว่ามันจะได้อย่างนั้นจริงหรือไม่ มันต้องมีการศึกษาที่ชัดเจน จนรู้ปัญหาก่อนว่าเกิดจากอะไรก่อน ผมไม่ได้ต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ แต่มองในฐานะคนติดตามดูว่ามันจะได้ผลหรือไม่” ประธานศาลปกครอง กล่าว
ส่วนที่มีการมองว่า อำนาจตุลาการภิวัฒน์ในรัฐธรรมนูญนี้ควรมีการแก้ไขลดทอนลง ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ถ้าหมายถึงในระบบการตรวจสอบปกติในประเทศอื่นเขาก็มีกันทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง แต่ถ้าหมายถึงการเข้าไปเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ คิดว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญตอนยกร่างก็คิดว่าจะไว้ใจใครให้มาทำหน้าที่นี้ได้ ซึ่งการทำหน้าที่ในกรรมการสรรหาก็เพียงช่วยคัดเลือกเบื้องต้นเท่านั้น ก่อนให้วุฒิสภาตัดสินว่าจะรับหรือไม่รับ
“ไม่เข้าใจที่เขาว่าตุลาการเข้ามายุ่งเกี่ยวมันหมายความว่าอะไร เพราะตุลาการที่เข้ามาเป็นกรรมการองค์กรอิสระแต่ละคนก็โอนพ้นจากความเป็นตุลาการไปแล้ว เหมือนเป็นแค่นักกฎหมายคนหนึ่ง ส่วนที่ตุลาการไปช่วยในเรื่องการสรรหา ก็เป็นการด้วยการช่วยคัดเลือกในเบื้องต้นก่อนให้วุฒิสภาตัดสิน โดยผมจะมองจากแง่ผลงาน วิธีคิด การแสดงออกในอดีต ไม่ใช่มาตัดสินเขาจากการที่ให้เขาแสดงวิสัยทัศน์” นายอักขราทร กล่าว
ทั้งนี้ ที่มีการมองว่าตุลาการตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง นายอักขราทร กล่าวว่า การตั้งโจทย์และหาเหตุผลมาตอบโจทย์เป็นสิ่งที่ในบ้านเราทำกันมากเวลานี้ แต่ถ้าตุลาการฯคิดอยู่เสมอว่าหน้าที่เราคืออะไร และทำหน้าที่ให้ดีที่สุดก็พอแล้ว ซึ่งผมไม่คิดว่าศาลเป็นเครื่องมือของการเมือง แต่อาจเพราะบางทีศาลตอบโจทย์เขาไม่ได้ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจและมีการกล่าวหาในเวลาต่อมาว่า ศาลเป็นเครื่องมือ
นายอักขราทร ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่านายกฯเป็นผู้นำในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ได้หรือไม่ เพียงแต่กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ใครคิดจะทำก็ทำได้สำเร็จแม้จะมีเจตนาดี เพราะมันต้องประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย จึงต้องเคลียร์กับบุคคลเหล่านี้ให้ชัดเจนให้เข้าใจปัญหา จากนั้นถ้าคนส่วนใหญ่เห็นว่าใช่ก็คือใช่ แต่เวลานี้ยังมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต้องนำมาวิเคราะห์ก่อนให้รู้ว่าอะไรที่เป็นปัญหาที่แท้จริง และปัญหานั้นจะต้องแก้โดยใคร ไม่ใช่แค่พูดว่าปฏิรูปการเมืองแล้วก็จะแก้ไขได้ทั้งหมด