xs
xsm
sm
md
lg

กก.พิทักษ์ระบบคุณธรรมยันปลอดการเมือง-แนะอดีตปลัด มท.ยื่นร้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.พ.เปิดช่องทางให้ข้าราชการร้องทุกข์ ผ่านกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หากโยกย้ายไม่เป็นธรรม “ศราวุธ” แนะปลัดมหาดไทย ร้องเรียนถูกโยกเข้าทำเนียบได้ พร้อมพิจารณา เผย อำนาจ ก.พ.ค.ถือเป็นที่สุด ยันการเมืองไม่แทรกแซง พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

วันนี้ (23 ม.ค.) นายศราวุธ เมนะเศวต ประธานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการ ก.พ.ค.ทั้ง 7 คน ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบพิทักษ์คุณธรรมในภาคราชการนั้น ตามกระบวนการนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่มีความรวดเร็ว ลดขั้นตอน และเป็นกลาง รวมทั้งให้ข้าราชการได้รับความคุ้มครองตามระบบคุณธรรม ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคลแนวใหม่ของข้าราชการพลเรือน

ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ถือได้ว่าสามารถลดขั้นตอนในการพิจารณาอุทธรณ์ร้องทุกข์ให้ผลของการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ก.พ.ค.เป็นที่สุด ซึ่งต่างจากกฎหมายเดิม หรือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ที่ต้องมีการรายงานนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาออกคำสั่ง หลังจากที่ ก.พ.ได้พิจารณามีมติ อีกทอดหนึ่ง และนอกจากนั้น ตามกฎหมายใหม่ เมื่อผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการ ก.พ.ค.ก็สามารถฟ้องคดีไปที่ศาลปกครองสูงสุด โดยไม่ต้องนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ดังเช่นคดีปกครองทั่วไป

ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 นี้ ยังได้กำหนดระยะเวลา การพิจารณาวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจน โดยจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่รับอุทธรณ์ และให้ขยายเวลาการพิจารณาวินิจฉัยเมื่อมีเหตุขัดข้องได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 วัน จึงทำให้การพิจารณาวินิจฉัยมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

ประธาน ก.พ.ค.กล่าวอีกว่า ในส่วนของกรณีของ นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ถูกย้ายเข้าสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ก็สามารถมายื่นเรื่องที่ ก.พ.ค.ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการยื่นร้องทุกข์เพื่อขอความเป็นธรรมที่เกิดจากปลัดกระทรวง รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรีก็ต้องมายื่นเรื่องที่ ก.พ.ค.แต่ถ้าต่ำกว่าระดับนั้นก็ต้องไปยื่นเรื่องที่ต้นสังกัด

ส่วนในการดำเนินการของ ก.พ.ค.หลังจากรับเรื่องแล้ว ก.พ.ค.จะดูว่าเรื่องร้องทุกข์นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่จะรับไว้หรือไม่ เช่น ยื่นเกิน 30 วัน หลังจากทราบเหตุที่เป็นทุกข์หรือไม่ แต่ถ้าอยู่ในอำนาจคณะกรรมการ ก.พ.ค.ก็จะพิจารณาว่าการร้องทุกข์นั้นคณะกรรมการจะวินิจฉัยทั้งคณะ คือ 7 คนก็ได้ หรือตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยก็ได้ รวมทั้งมอบให้กรรมการ ก.พ.ค.คนใดคนหนึ่งเป็นผู้วินิจฉัยก็ได้

“ก.พ.ค.ปลอดจากการเมืองแน่นอน เพราะการเมืองไม่มีอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซง หรือสั่งการ เพราะกรรมการมีความอิสระจากกระบวนการสรรหา มีประธานศาลปกครองเป็นประธานและไม่ขึ้นกับการเมืองเลย” ประธาน ก.พ.ค.กล่าว

ด้าน นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ.กล่าวว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ คณะกรรมการ ก.พ.ค.ผ่านการคัดเลือกมาจากคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค.ที่ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด รองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกาหนึ่งคน กรรมการ ก.พ.ผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคนที่เลือกโดย ก.พ.และเลขาธิการ ก.พ.

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.พ.ค.มีทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย 1.นายศราวุธ เมนะเศวต เป็นประธาน 2.นางจรวยพร ธรณินทร์ 3.นางสุภาวดี เวชศิลป์ 4.นายภิรมย์ ศรีจันทร์ 5.นายบุญเลิศ ลิ้มทองกุล 6.นายภิรมย์ สิมะเสถียร และ 7.นางสาวทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์ โดยคณะกรรมการ ก.พ.ค.ทั้ง 7 คน จะดำรงตำแหน่ง 6 ปี อยู่ได้เพียงวาระเดียว และมีองค์คณะวินิจฉัยเพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัย เรื่องอุทธรณ์ เรื่องร้องทุกข์ และเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรมที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม โดยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศใช้กฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจาณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ.2551 และกฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจาณาวินิจฉัยร้องทุกข์ในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น