xs
xsm
sm
md
lg

ก.พ.ค.เดินหน้าเคลียร์ปัญหา ขรก.ถูกการเมืองแทรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เดินหน้าปลดทุกข์ข้าราชการ หลังถูกฝ่ายการเมืองแทรกหนัก ยันอำนาจเทียบเท่า ป.ป.ช.สามารถสั่งยกเลิกคำสั่งได้หากพบไม่ถูกต้อง ย้ำอิสระและเป็นกลาง หากผู้ร้องไม่พอใจผลสอบ สามารถยื่นฟ้องศาลปกครองต่อได้ เผยกรณี “อดีตปลัด มท.” มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่สำนักงาน ก.พ.ดร.จรวยพร ธรณินทร์ โฆษกคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเพื่อปกป้องความเป็นธรรมของข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ค.) แถลงภายหลังการประชุม ว่า คณะกรรมการจะมีการประชุมทุกวันพุธ เพื่อพิจารณาเรื่องร้องทุกข์และเรื่องอุทธรณ์ของข้าราชการพลเรือนที่ยื่นเรื่องร้องทุกข์ ทั้งนี้ ขั้นตอนการร้องทุกข์และยื่นอุทธรณ์ ผู้ร้องสามารถส่งเรื่องมายังคณะกรรมการ ก.พ.ค.ได้ เมื่อตัวเองรับทราบคำสั่งภายใน 30 วัน ซึ่งการพิจารณาจะแยกออกเป็น2 กรณี ในกรณีอุทธรณ์ ถือเป็นเรื่องหนัก เป็นการถูกลงโทษทางวินัยมีทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง และเพื่อให้ความเป็นธรรม ทางคณะกรรมการได้กำหนดระยะเวลาในการไต่สวนไว้ 120 วัน หากยังไม่เสร็จสามารถขยายระยะเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 60 วัน สรุปแล้วต้องทำให้เสร็จภาย 240 วัน หรือ 8 เดือน นับจากวันที่ยื่นเรื่อง

ดร.จรวยพร กล่าวต่อว่า หลังการวินิฉัยหากผู้ร้องอุทธรณ์ไม่พอใจ สามารถร้องศาลปกครองสูงสุดได้ ทันทีภายใน 90 วัน โดยไม่ต้องไปเริ่มที่ศาลชั้นต้น ส่วนเรื่องการร้องทุกข์ จะต้องยื่นเรื่องภายใน 30 วัน และคณะกรรมการจะใช้เวลาในการพิจารณาภายใน 90 วัน และสามารถขยายเวลาได้ แต่ไม่ได้ล็อกช่วงเวลาในการขยาย ซึ่งในเรื่องการร้องทุกข์หากผู้ร้องไม่พอใจผลการวินิจฉัยสามารถส่งเรื่องฟ้องศาลปกครองชั้นต้นได้ ทั้งนี้ หากผู้ร้องเห็นว่าตัวคณะกรรมการคนใดอาจจะไม่ให้ความเป็นธรรม สามารถขอเปลี่ยนตัวคณะกรรมการได้ หรือคณะกรรมการขอถอดตัวออกได้ เพื่อความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ดร.จรวยพร กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ต้องมีคณะกรรมการ ก.พ.ค.เพราะต้องการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกร้องและต้องการให้เห็นว่าคณะกรรมการปลอดจากการเมือง ซึ่งดูได้จากการที่คณะกรรมการแต่ละคน ถูกสรรหามาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ไม่สามารถต่ออายุได้ การทำงานใช้ระบบไต่สวนเหมือนศาลปกครองชั้นต้น การพิจารณาจะตัดสินเสมอด้านทุกกระทรวงและใช้กติกาเดียวกัน แตกต่างจากการไต่สวนของ อ.ก.พ.กระทรวงที่มีอยู่เดิม

ส่วนความเป็นมาของ ก.พ.ค.นั้น ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งมาตั้งวันที่ 30 ต.ค.2551 ทางคณะกรรมการได้ออกกฎระเบียบและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 7 ฉบับ ซึ่งจะต้องทั้งหมด 14 ฉบับ คาดว่า ในปีนี้ จะสามารถออกได้ครบ ส่วนการับเรื่องร้องทุกข์ และเรื่องอุทธรณ์มีเข้ามาทั้งหมด 33 เรื่อง เป็นเรื่องอุทธรณ์ 7 เรื่อง ร้องทุกข์ 5 เรื่อง รวม 12 เรื่อง ส่วนอีก 21 เรื่อง ไม่สามารถที่จะรับวินิจฉัยได้ เพราะไม้เข้าหลักเกณฑ์ของ ก.พ.ค.เพราะเป็นลูกจ้างประจำ นั้นต้องไปร้องที่อธิบดีของแต่ละกระทรวง ทาง ก.พ.ค.จะรับเรื่องเฉพาะผู้ร้องที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งตั้งแต่ ระดับปลัด รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก.พ.ค.จะทำให้ผู้ร้องมั่นใจได้อย่างไร ว่า ก.พ.ค.ปลอดจากการเมือง ดร.จรวยพร กล่าวว่า ก.พ.ค.เป็นองค์กรอิสระ คล้ายกับ ป.ป.ช.และมีความเป็นมือาชีพ เงินเดือนเทียบเท่าตุลาการศาลปกครองชั้นต้น วิธีการทำงานใช้มาตรฐานเดียวกัน รับประกันหลักความเป็นธรรม เพราะมีกำหนดระยะเวลาการพิจารณาไว้อย่างชัดเจน ถ้าไม่พอใจก็สามารถไปฟ้องศาลปกครองสูงสุดได้ ในส่วนของการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์สามารถไปร้องได้ที่ศาลปกครองชั้นต้น หลักการวิจฉัยจะใช้หลักการไต่สวน ฟังคู่ความ ให้สิทธิ์จ้างทนายความมาดำเนินการได้

เมื่อถามว่า อำนาจของ ก.พ.ค.มีมากน้อยเพียงใด ดร.จรวยพร กล่าวว่า สามารถยกเลิกคำสั่งที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ร้องได้ โดยจะส่งเรื่องไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่ออกคำสั่งให้ปฏิบัติตาม ภายใน 30 วัน หากไม่ปฏิบัติตามถือว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ เข้าข่ายผิดระเบียบวินัย

เมื่อถามว่า กรณีของ นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ถ้ามีการมายื่นเรื่องกับ ก.พ.ค.แล้วมีคำวินิจฉัย ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมได้หรือไม่ ดร.จรวยพร กล่าวว่า นายพีรพล สามารถมายื่นเรื่องอุทธรณ์ ต่อคณะกรรการ ก.พ.ค.ได้ เพราะอยู่ในอำนาจ ส่วนการคืนตำแหน่งได้หรือไม่นั้น ต้องรอผลการไต่สวนก่อน ซึ่งคณะกรรมการ ไม่อยากชี้โพรงอะไรในตอนนี้ เพราะขณะนี้ นายพีรพล ยังไม่ได้มายื่นเรื่องอุทธรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น