xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองยกฟ้อง “ปราโมช” สั่งทีไอทีวีจอดำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปราโมช รัฐวินิจ
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกฟ้องอธิบดีกรมประชาฯ ปลัด สปน.กรณีถูกผู้ชมรายการทีไอทีวีร้องคำสั่งปิดสถานี ชี้เป็นการปฏิบัตหน้าที่เป็นไปตาม กม.และ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้แทรกแซงฝ่ายข่าวตามคำร้อง

วันนี้ (30 ม.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกคำฟ้องกรณีที่ นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม กับพวกรวม 105 คน ซึ่งเป็นประชาชนผู้รับชมรายการสถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี และพนักงานทีไอทีวี ยื่นฟ้องนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ที่คำสั่งลงวันที่ 14 ม.ค. 51 ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบยูเอชเอฟ (ทีไอทีวี) ยุติการแพร่ภาพออกอากาศตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของวันที่ 14 ม.ค.2551 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ นายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการศาลปกครองกลางเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำสั่งระบุเหตุผลของการยกฟ้องว่า เหตุผลในการออกคำสั่งดังกล่าวเนื่องจาก พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2551 ได้ประกาศบังคับใช้ในวันที่ 15 ม.ค. 51 มีผลให้บรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ และภาระผูกพันของสปน.ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ และของสำนักงานบริหารกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ สปน.และกรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับโอนไปเป็นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการนโยบายคณะกรรมการบริหาร และผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหาร และดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การ โดยในวันที่ 15 ม.ค. 51 ที่มีการโอนบรรดากิจการของสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ (ทีไอทีวี) มาเป็นกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ (ทีพีบีเอส) โดยผลของกฎหมาย ครม. ยังไม่ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายในการดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551

ดังนั้น อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จึงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะบริหารจัดการคลื่นความถี่ดังกล่าวที่มีการโอนกลับมา โดยคำสั่งยุติการแพร่ภาพของอธิบดีฯดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานรูปแบบพิเศษพ.ศ.2548 และคำสั่งดังกล่าวไม่ได้เป็นการแทรกแซงหรือขัดขวางการทำงานของฝ่ายข่าว ซึ่งเป็นการขัดตามต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 46 และพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯ มาตรา 56 ตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้างแต่อย่างใด คำสั่งของอธิบดีรกรมประชาสัมพันธ์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ในการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ฝ่ายพนักงานทีไอทีวีเดิมไม่มีใครเดินทางมาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด มีเพียง นายไสว ชุติกชุษณพงศ์ จากกองกฎหมายและระเบียบของกรมประชาสัมพันธ์ ตัวแทนฝ่ายผู้ถูกฟ้องเดินทางมา ซึ่ง นายไสว กล่าวว่า แม้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่ผู้ฟ้องก็มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น