xs
xsm
sm
md
lg

"ในหลวง"ทรงย้ำตุลาการศาล ปค.กล้าหาญ-เหนียวแน่นในความยุติธรรม ไม่เช่นนั้นเท่ากับทรยศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวลา 17.44 น.วันนี้ (25 ม.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ ออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ตำแหน่งตุลาการศาลปกครองกลาง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โอกาสนี้ นายสุชาติ เวโรจน์ เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทให้ยึดถือคำปฏิญาณ และพิจารณาตัดสินปัญหาในการปกครองประเทศด้วยความละเอียดรอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริต และยุติธรรม

"... ตัดสินอะไรที่ควร ที่ไม่ควร ที่ดี ที่ไม่ดี ดังที่ท่านได้ปฏิญาณนี้มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย คือท่านต้องจัดการให้ปัญหาได้ การปกครองของประเทศเป็นไปได้เรียบร้อย และท่านสามารถที่จะตัดสินที่จะพิพากษา ซึ่งหมายความว่าท่านจะต้องชี้แจงว่าอะไรควร ไม่ควร ฉะนั้นเป็นงานที่ท่านต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ และด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ประเทศชาติมีความเป็นธรรม
ความเป็นธรรมนี่ก็หมายความว่าทำอะไรที่เป็นจริง ที่เรียบร้อย ไม่ใช่ทำให้ไม่ได้ มีความอยู่เย็นเป็นสุข งานของท่านมีความสำคัญไม่น้อย การพิพากษาเป็นหน้าที่ของท่านผู้เป็นสมาชิกของศาล จะต้องพิพากษาเพื่อความเป็นธรรม เพื่อความเป็นธรรม เป็นธรรมนี้หมายความว่าอะไรที่เรียบร้อย ที่ถูกต้อง ที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี
เพราะฉะนั้นท่านต้องมีหน้าที่สำคัญ และจะต้องทำตามคำพิพากษา คำปฏิญาณที่ท่านได้กล่าวเรื่องหน้าที่ของท่านต้องจำว่าท่านได้ปฏิญาณตนว่าจะทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเป็นธรรม
ความเป็นธรรมนี่ก็หมายความว่าอะไรที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ใช่ง่าย เพราะว่าแต่ละคนมีความคิดแตกต่างกัน ถ้าไม่มีความแตกต่างกันก็ไม่มีคดี แต่เมื่อมีคดีก็หมายความว่ามีความคิดแตกต่างกัน ฉะนั้นท่านจะต้องพิจารณาอะไรที่แตกต่างกัน และให้เห็นว่าอะไรที่ควรจะทำโดยที่เป็นกลาง ที่เป็นความจริง ซึ่งเป็นความยุติธรรม
ความยุติธรรมนี่ก็หมายความว่าการยุติในธรรม คือตัดสินว่าอะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม ซึ่งดูจะง่ายนะ แต่ความจริงไม่ง่าย เพราะว่าแต่ละคนมีความคิดของตัว ถ้าใครที่ยึดติดในทางของตัว ก็นึกว่าตัวเป็นยุติธรรม ความจริงยุติธรรมมีอย่างเดียว ทำอย่างเดียว คือความเป็นยุติธรรม ซึ่งก็น่าจะง่าย แต่แท้จริงไม่ง่าย เพราะแต่ละคนนึกถึงความดี หรือบอกว่าเป็นยุติธรรมแก่ตัว แท้จริงความยุติธรรมนี้ที่มีอันหนึ่งอันเดียว มีหลาย แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน เหตุผลต้องการของแต่ละคนต่างกัน แต่ท่านจะต้องอยู่ตรงกลาง บางทีท่านถูกว่าถูกกล่าวว่าท่านเป็นคนที่ไม่ดี เพราะว่าไปตัดสินในสิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจของอีกฝ่าย แต่ท่านอยู่ตรงกลาง อันนี้สิข้อสำคัญของผู้ที่ทำหน้าที่ทางยุติธรรม ต้องเป็นกลาง แล้วเป็นกลางนี้ยากมาก เพราะต้องมีความคิดที่เป็นกลางนั่นเอง ฉะนั้นท่านต้องเหนียวแน่นในความเป็นกลาง เหนียวแน่นในความยุติธรรม
ถ้าท่านทั้งหลาย ท่านได้ทำหน้าที่ของท่าน แต่ถ้าท่านทำไม่ได้ เท่ากับท่านทรยศต่อความยุติธรรม และการทรยศนี่ไม่มีใครอยากจะทำ เพราะความทรยศเป็นความไม่ดี เป็นความน่าเกลียด ฉะนั้นท่านต้องพิจารณาว่าท่านปฏิญาณที่จะทำรักษาความยุติธรรม ก็ต้องทราบว่าความยุติธรรมเป็นอะไร คดีก็มีความยุติธรรมของคดีนั้น ซึ่งถ้าท่านพิจารณาแล้วคนคิดว่าอะไรเป็นยุติธรรม ซึ่งมีอะไรที่เป็นกลาง ที่ถูกต้อง ท่านก็ชนะในความจริง ฉะนั้นท่านต้องรักษาความยุติธรรม และปฏิบัติด้วยความกล้าหาญ เหนียวแน่น..."
กำลังโหลดความคิดเห็น