“คำนูณ” ชำแหละเบื้องหลังนักวิชาการเข้าชื่อแก้ กม.หมิ่นฯ ยังฝังใจกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ได้ข้อมูลมาผิดๆ ยืนยันตั้งอนุ กมธ.วุฒิฯ เพื่อศึกษาการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิม ไม่ได้แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มโทษ ย้ำหากเลิก ม.112 รัฐธรรมนูญไทยไร้ความหมายทันที จวกยุค “ระบอบแม้ว” กม.หมิ่นถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามมากที่สุด กระตุก “มาร์ค” อย่ามัวนิ่ง รีบแจงโต้นักวิชาการ ยืนยันความชอบธรรม ม.112
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์นายเติมศักดิ์ จารุปราณ ในรายการ “คนในข่าว” ทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน เมื่อคืนวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา กรณีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งยื่นข้อเรียกร้องถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกหรือแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า นักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้หนึ่งในนั้นคือ นายธงชัย วินิจจะกุล อดีตผู้นำนักศึกษาช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ ที่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา
นายคำนูณกล่าวต่อว่า นายธงชัยยังมีความหลังกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และมีความเจ็บปวด มีความเสียใจที่เพื่อนนักศึกษาถูกฆ่าตาย ซึ่งจริงๆ แล้วหลายคนก็เป็นเพื่อนรุ่นน้องของตน นอกจากนี้ นายธงชัยยังมีความปักใจเชื่อในข้อมูลที่ผิดพลาดบางประการ ที่ส่งผลสะท้อนมายังการเคลื่อนไหวทางวิชาการของนายธงชัยมาตลอด และเชื่อว่าเป็นแรงผลักดันอันสำคัญมาสู่การเคลื่อนไหวในครั้งนี้
“ก็คืออดีตเมื่อ 6 ตุลลาคม 2519 ที่มีการเข่นฆ่ากันกลางเมืองนั้น ยังคงประทับอยู่ในใจนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ประสบเหตุการณ์โดยตรง และมีความปักใจเชื่อในข้อมูลที่ผิดพลาดบางประการ นำมาสู่การเคลื่อนไหวในวันนี้ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วในกรณีนี้ มันพูดได้ยาว ซึ่งอาจจะไม่เหมาะที่จะพูดในที่นี้ เพราะว่าการเคลื่อนไหวระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 นั้น แม้ในหมู่ขบวนนักศึกษาที่เคลื่อนไหว ในหมู่ที่ถูกเรียกว่าฝ่ายซ้ายเอง ผมเองก็อาจจะอยู่ในกลุ่มหนึ่งในจำนวนนั้น มันก็มีระดับความคิดที่แตกต่างกัน หลากหลายกันอยู่บ้างตามสมควร
มีระดับของการเคลื่อนไหวที่หลายคนถูกจัดตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์ หรือโดยเครือข่ายของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย แล้วบางคนก็ไม่อยู่ แล้วก็มีระดับความเชื่อที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในขณะนั้น เดินตามพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุค แก๊งออฟโฟร์ หรือแก๊งสี่คน ซึ่งมีแนวทางการเคลื่อนไหวที่เขาเรียกว่า ลัทธิฉวยโอกาสเอียงซ้าย หรือ ซ้ายจัด การนำเสนอคำขวัญของคนบางกลุ่มในขณะนั้น เต็มไปด้วยความรุนแรง หักโค่น เสนอคำขวัญเผาวรรณคดี เสนอคำขวัญไล่รื้อทุกอย่างที่เป็นอดีตของสังคมไทย ซึ่งก็เป็นความคิดเดียวกับขบวนการเรดการ์ดในอดีตของประเทศจีน ซึ่งในระยะหลังในจีนก็มีการเปลี่ยนแปลง พอเติ้งเสี่ยวผิงกลับขึ้นมาหลังอสัญกรรมของประธานเหมา ซึ่งตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พอดี
หลังจากนั้นประเทศจีนก็เปลี่ยน แล้วก็เลิกหนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย พรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็ล่มสลาย หลายท่านก็อกหัก เพราะว่าการต่อสู้นั้นไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ ซึ่งผมเข้าใจความรู้สึกของคนเหล่านี้ดี แต่ถ้ามาเคลื่อนไหวเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นี่ ก็ขออนุญาตโต้แย้ง ไม่เห็นด้วยในหลักการ ในทางวิชาการเช่นกัน”
นายคำนูณกล่าวต่อว่า สำหรับข้อเรียกร้องข้อที่ 1 ของนายธงชัยและพวกที่ว่า “โปรดยุติการพยายามสร้างมาตรการกดดันปราบปรามที่เข้มงวดยิ่งกว่านี้” จะเป็นการสื่อสารมาที่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ ที่นายคำนูณเป็นเลขาณุการอยู่โดยเฉพาะหรือไม่นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า เขาไม่ได้เอ่ยชื่อตน และชื่อกรรมาธิการ และที่จริงคณะอนุกรรมาธิการฯ ของวุฒิสภาชุดนี้ ที่เสนอญัตติให้มีการจัดตั้งขึ้น ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขกฎหมายให้ลงโทษเพิ่มขึ้น อย่างที่นายใจ อึ้งภากรณ์ เอาไปบิดเบือน
นายคำนูณกล่าวอีกว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังคงอยู่ และในขณะนี้ ในสภาผู้แทนเสนอแก้ไขเข้ามา 4 สำนวน เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 จำนวน 2 สำนวน สำนวนหนึ่งเป็นของนายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเก่า อีกสำนวนหนึ่งเป็นของรัฐมนตรีพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ยังไม๋เป็นรัฐมนตรี อีกสำนวนหนึ่งของนายพีระพันธุ์ แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิฯ อาญา ให้กระบวนการพิจารณาคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 มีความรวดเร็วขึ้น เพื่อไม่เกิดความเสียหาย อีกสำรวนหนึ่งเป็นร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นายพีระพันธุ์ เป็นผู้เสนอเข้ามาเช่นกัน กฎหมายฉบับนี้ ถ้าสภาล่างผ่าน ก็ต้องถูกเสนอขึ้นมาที่วุฒิสภา คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาก็เพื่อศึกษากฎหมายเหล่านี้ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ประการใด
นอกจานั้น กรรมาธิการฯ พยายามที่จะศึกษาถึงการแก้ไขปัญหานี้อย่างถาวร ซึ่งไม่เพียงแต่แก้ไขมาตรการทางกฎหมายเท่านั้น เราพูดถึงมาตรการทางสังคม มาตรการทางการเมืองด้วย
“ไม่ได้มุ่งจะไปกวาดล้างกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง เพราะเราเห็นว่ามาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวมันแก้เรื่องนี้ไม่ได้ มาตรการทางกฎหมายถ้าใช้อย่างไม่ระวัง มันจะเป็นไปในลักษณะที่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ อะไรที่ยิ่งปิด บางคนก็ยิ่งอยากรู้อยากเห็น โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบัน แต่ตราบใดที่กฎหมายยังมีอยู่ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และเต็มที่ ไม่ใช่เข้าเกียร์ว่าง”
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเราก็ไม่เห็นด้วยที่จะใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการประหัตประหารกันทางการเมือง ซึ่งเขาพยายามจะสื่อว่าฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรคประชาธิปัตย์พยายามใช้กฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือประหัตประหารทางการเมืองพวกสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ก็ให้ข้อมูลมาแล้วว่า ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณเอง หรือรัฐบาลที่ตามมานั่นแหละ พยายามใช้กฎหมายนี้ในการประหัตประหารปรปักษ์ทางการเมืองของตัวเองด้วยเช่นกัน แน่นอนเราไม่เห็นด้วยกับทั้งสองทาง
ต่อคำถามที่ว่า การที่กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นเพราะจุดอ่อนในตัวกฎหมายเองหรือว่า เป็นเพราะความคลุมเครือของกฎหมายนี้เองในเนื้อหา หรือว่าเป็นเรื่องในเชิงรัฐศาสตร์ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ กล่าวว่า มันไม่ใช่จุดอ่อน และไม่ใช่ความคลุมเครือ มันเป็นเรื่องที่รัฐบาลในขณะนั้น ต้องการใช้กฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือกำจัดฝั่งตรงข้าม ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเห็นชัดเจนเลย เมื่อปี 2549 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกฟ้องในข้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ชุมนุมครั้งหลังปี 2551 นายสนธิ ชี้ให้ประชาชนเห็นว่า ดา ตอร์ปิดโด ที่พูดไฮปาร์คอยู่ท้องสนามหลวงหมิ่นพระมหากษัตริย์อย่างไร ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ท้องสนามหลวงไม่ดำเนินการอะไร ทั้งที่เป็นความผิดซึ่งหน้า และที่พูดไม่ใช่วิชาการอะไรเลย โจมตีอย่างเดียวเลย พอนายสนธินำความนั้นมา พุดนิดเดียวเพื่อจะเรียกร้องให้รัฐบาลหรือตำรวจทหารในขณะนั้นดำเนินการกับดา ตอร์ปิโด พอนายสนธิเรียกร้อง วันรุ่งขึ้นกองทัพบก มีหนังสือจี้ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินคดี จึงมีการดำเนินคดีกับดา ตอร์ปิโด
“เมื่อดำเนินคดีกับ ดา ตอร์ปิโด เสร็จ กลับมาเอาคุณสนธิไปด้วย คนชี้ให้จับโจรกลับถูกข้อหามาตรา 112 นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดในสมัยของนายสมัคร สุนทรเวช เห็นได้ว่าในยุคของเขา เขาใช้มาตรานี้มาเรื่อย ผมไม่เห็นมีใครมาเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เลย แต่มา ณ บัดนี้ เจตนาของคุณสนธิ กับเจตนาของดา ตอร์ปิโด เจตนาของคุณจักรภพ เจตนาของคุณวีระ ผิดกัน ลีลาการพูด เจตนานั้นผิดกัน พอพวกนี้โดนเข้าก็เลยเรียกร้อง”
นายสุวัตร กล่าวต่อว่า ความจริงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคงไม่อยากให้ดำเนินคดีเท่าไหร่ พระองค์เคยตรัสไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 และให้สังเกตว่าทุกครั้งที่คนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สมัยนายวีระ ก็พระราชทานอภัยโทษให้ สมัย ส.ศิวรักษ์ ก็พระราชทานอภัยโทษ ล่าสุดผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็พระราชทานอภัยโทษให้ เห็นว่าจริงๆ แล้ว พระองค์ทรงไม่ประสงค์ที่จะให้ใครได้รับโทษ
แต่ถ้าเราไม่มีมาตรา 112 รัฐธรรมนูญเราจะเป็นหมันทันที เพราะว่า ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 2 บอกว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาตรา 3 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ขณะที่มาตรา 8 บัญญัติว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้"
“มาตรา 8 คือกฎหมายมหาชน เมื่อบัญญัติไว้แล้ว ไม่มีกฎหมายอาญารองรับ ไม่มีมาตรา 112 รองรับ รัฐธรรมนูญนี้เป็นหมันทันที ดังนั้น ถ้ายกเลิกมาตรานี้ ก็จะไม่มีกฎหมายใดมารองรับ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายมารองรับ เช่น การชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 63 นักวิชาการพวกนี้กำลังเสนอให้ยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่แล้วที่สอดคล้องและรับ และเป็นไปตามจารีตปรเพณี เป็นไปด้วยหลักเหตุผล จะมายกเลิก มาตรา 112 โดยอ้างว่า ขัดต่อบัญญัติทางวิชาการ แต่มันไม่ขัด ถ้าเป็นบรรยากาศทางวิชาการแล้ว มาตรา 329 คุ้มครองอยู่แล้ว ทำได้อยู่แล้ว ซึ่งเวลาขึ้นศาลเราพิสูจน์ได้ไม่ยาก เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”
นายสุวัตรกล่าวถึงนิยามของคำว่า “ดูหมิ่น” ว่า คือการแสดงท่าทางกิริยา พูดจา หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นใจความเชิงดูถูกว่ามีฐานะต่ำต้อย หรือไม่ดีจริง ไม่เก่งจริง เป็นต้น พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตนอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ ถ้าใครไปดึงพระองค์ลงมาต่ำ เช่น อย่างคราวที่แล้ว มีการไปแจ้งความในเรื่องว่า ถ้าจะให้นายกฯ ลาออกต้องมากระซิบข้างหู คำว่าให้มากระซิบ มันเป็นการพูดระหว่างเพื่อนกับเพื่อน เราเป็นข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในหลวงจะมากระซิบมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ใครพูดให้องค์พระมหากษัตริย์ดูต้อยต่ำ หรือ ไม่ดีจริง ไม่เก่งจริง ก็ถือว่าดูหมิ่น
นายคำนูณกล่าวเสริมว่า มาตรา 112 นั้น มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และสอดคล้องกับสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมเปิดก็จริง เราเอารูปแบบการปกครองของตะวันตกมา แต่เราน่าจะคงวัฒนธรรมความเป็นไทยไว้ได้ ไม่ใช่ไปบอกว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นทุกตำแหน่งต้องมาจากการเลือกตั้ง นั่นหมายถึงว่าประมุขของรัฐต้องมาจากการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่นายใจ อึ๊งภากรณ์เสนอ เราจะเอาอย่างนี้หรือ ถ้าอย่างนี้ใครมีเงินก็ซื้อประเทศได้ เป็นประมุขของประเทศได้ อย่างนี้มันไม่ได้
นายคำนูณกล่าวต่อว่า ตนเคารพการเคลื่อนไหวของนายธงชัย แต่ก็ขอแสดงความไม่เห็นด้วย และอยากเรียกร้องให้รัฐบาล จะนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องชี้แจง เพราะเป็นเรื่องที่ชี้แจงได้ รัฐบาลต้องชี้แจงว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีความชอบธรรมแล้วอย่างไร มีหลักที่มาอย่างไร มีการทบทวนมาแล้วอย่างไร ไม่ขัดหลักประชาธิปไตยอย่างไร ทำไมจะทำไมได้
“ทำไมไปเงียบ ทำไมนิ่งเฉย มันก็เลยกลายเป็นว่า คนที่จะเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ อะไรก็แล้วแต่ แต่ถูกผนวกรวมอยู่ในขบวนการที่ไม่ประสงค์ดีต่อสถาบันนั้นเขาเป็นฝ่ายรุกทางการเมือง เคลื่อนไหวทั้งในประเทศ เคลื่อนไหวทั้งทางต่างประเทศ เคลื่อนไหวโดยไม่มีขีดจำกีด แต่ฝ่ายที่จะพิทักษ์ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นตกเป็นฝ่ายรับ แล้วก็รับอย่างไร้ยุทธศาสตร์ ไร้กระบวนท่า เพราะเราไม่ได้เป็นรัฐบาล เราทำอะไรมากไม่ได้
แล้วที่สำคัญก็คือ สังคมไทยดูเหมือนจะถูกจองจำอยู่ในมายาคติ ประการหนึ่งที่ว่า การพูดถึงสถาบันกษัตริย์นั้นไม่ควรพูด โดยที่ไม่จำแนกแยกแยะว่า การพุดนั้นพูดเพื่อพิทักษ์ ปกป้องต่อสู้ หรือพูดเพื่อทำลาย ในขณะที่คนที่พูดเพื่อทำลาย หรือพูดในด้านลบ เขาไม่ต้องคำนึงเลย อยากจะพูด อยากจะรณรงค์ อยากจะชูป้าย อยากจะไปปาฐกถาที่ไหนเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ก็ทำเต็มที่ แต่คนที่จะพิทักษ์ปกป้อง กลับถูกตำหนิจากคนบางกลุ่ม ที่น่าเสียใจคือบุคคลบางคนบางกลุ่มนั้นก็มีภาพของความใกล้ชิดสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง
“จะไปบอกว่า ความเท็จไม่สามารถทำอะไรสถาบันได้ นั้น ไม่จริง เพราะความเท็จถ้าพูดกรอกหูทุกวัน ความเท็จคนก็เชื่อว่าเป็นจริงได้” นายคำนูณกล่าว
ด้าน นายสุวัตรกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ในประมวลกฎหมายแพ่งนั้น การนิ่งเฉย ถือว่าเป็นการยอมรับ และอยากฝากถึงรัฐบาลประชาธิปัตย์ ว่าสิ่งที่ควรทำต้องรีบทำ ที่ไม่ควรทำก็ไม่ต้องทำ สิ่งที่นักวิชาการเรียกร้องมา ตนเห็นด้วยเรื่องเดียว ที่ว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ตกเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคุกคามผู้อื่น และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายด่างพร้อยต่อชื่อเสียงของประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์บนเวทีสากลยิ่งไปกว่านี้” ตนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลใดก็ตามที่ใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือ จะเห็นว่าการกระทำความผิดของบุคคลต่างๆ เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่ผลเพิ่งออกมาตอนนี้
นายสุวัตรย้ำว่า สิ่งที่นักวิชาการเรียกร้องนั้น โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ต้องชี้แจงว่า ไม่ควรแก้มาตรา 112 เพราะอะไร พวกเราได้อธิบายเหตุผลแล้ว แต่เวลาเราออกอธิบายเราออกเอเอสทีวี ฟรีทีวีก็ยังไม่รับรู้ ประชาชนอีกเยอะแยะไม่รู้ เรื่องพื้นฐานจารีตประเพณีของไทยเรา มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมายังไง พระมหากษัตริย์ของไทยมีลักษณะพิเศษกว่าพระมหากษัตริย์ที่ใดในโลก ทรงเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณความเป็นชาติ เพราะฉะนั้น ใครที่มาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ มันเป็นจารีตประเพณีเรา การเคารพไม่ต้องถึงพระมหากษัตริย์หรอก ใครดูหมิ่นพ่อเรา เราก็ไม่ยอมแล้ว นี่ดูหมิ่นพ่อของแผ่นดิน มันเป็นเรื่องที่คนไทยไม่มีทางที่จะยอมได้
นายคำนูณกล่าวเสริมว่า การทำผิดมาตรา 112 นั้น คนทำผิดพูดไปแล้ว การที่จะถ่ายทอดให้คนรู้ว่า พูดอะไรนั้น ทำไม่ได้ ทำให้คนทั่วไปไม่รู้ว่าผิดอย่างไร และอาจทำให้เกิดความสงสารคนที่ถูกลงโทษ หรือบางทีก็อาจคิดว่า เรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริง จึงพูดไม่ได้ จะรู้กันแต่ในเฉพาะชั้นศาล สภาวการณ์แบบนี้ มันบดบังการที่จะตอบโต้ในเชิงวิชาการอย่างมีเหตุมีผลได้ และคนที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คือ นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกฯ นั่นเอง ที่พูดตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งว่างานแรกที่จะทำคือการปกป้องสถาบัน จึงอยากเป็นว่ารูปธรรมคืออะไร ทั้งนี้ นายกฯ สามารถที่จะให้คนที่มีความรู้ความน่าเชื่อถือว่า มาชี้แจงแทนได้ เช่น ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายอานันท์ ปันยารชุน ทั้งนี้ ถ้าจะตั้งรับ ต้องตั้งรับอย่างมียุทธศาสตร์ มีกระบวนการท่า อย่านิ่งๆ ๆๆ ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่ปัญหาอันดับแรกของความร้ายแรงของประเทศไทย แต่ปัญหานี้แหละ ปัญหาใหญ่ที่สุด
นายสุวัตรกล่าวเสริมว่า กฎหมายที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่คนบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งนักวิชาการรณรงค์ราวกับว่าความผิดอยู่ที่ตัวกฎหมาย มันไม่ใช่ มันอยู่ที่พนักงานสอบสวน ซึ่งจริงๆ พนักงานสอบสวนมีสิทธิจะใช้ดุลพินิจได้ว่า คนที่พูดมีเจตนาเช่นใด เช่น กรณีของนายสนธิ ซึ่งเจตนาต่างจากนางดา แต่นายสนธิไม่ปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และอาจเป็นการสร้างฎีกาขึ้นมาใหม่ และตนรู้ว่ามัน มีฎีกาเดิมอยู่แล้วว่า ผู้ใดที่นำคำพูดคนอื่นที่หมิ่นฯ ไปพูดต่อจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อเจตนาเดียวกัน อย่างเช่น นายสนธิถ้ามีเจตนาเดียวกับนางดาจึงจะมีความผิด แต่นายสนธิพูดเพื่อเรียกร้องปกป้องสถาบัน เรียกร้องให้ตำรวจทหารทำงาน ตนจึงเชื่อว่าไม่ผิด เพราะเจตนาต่างกัน
นอกจากนี้ นายสุวัตรกล่าวถึงรายชื่อนักวิชาการที่ลงชื่อในหนังสือเรียกร้องว่า ส่วนใหญ่เป็นคนต่างประเทศ ถามว่าคนเหล่านี้รู้เรื่องจารีตประเพณีไทยดีหรือเปล่า คิดว่ากษัตริย์ไทยเหมือนกับกษัตริย์ในประเทศเขาอย่างนั้นหรือ พระมหากษัตริย์ของเราไมได้นั่งอยู่เฉยๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง โครงการพระราชดำริ พระองค์ทำเพื่อพสกนิกรมาตลอด ทรงเป็นพ่อของแผ่นดิน แล้ววันหนึ่งนักวิชาการเหล่านี้ออกมาบอกว่า ต่อไปนี้ด่าพ่อได้ ตนคนหนึ่งจะสู้เรื่องนี้อย่างหัวชนฝา ไม่มีทางยอม