“ส.ว.คำนูณ” ยื่นกระทู้ถามด่วนนายกฯ “ใจ อึ๊งภากรณ์” ออกแถลงการณ์-เคลื่อนไหวปล่อยข่าวผ่านสื่อนอกทำลายสถาบันเบื้องสูงให้ร้ายประเทศไทย จี้ตั้งข้อหาเพิ่มกรณีแพร่ “สยามแดง” พร้อมทวงถามแนวทางชี้แจงตอบโต้ ทวงความคืบหน้าแผนปกป้องพิทักษ์สถาบัน เผยมติอนุ กมธ.ยกกรณี “ใจ” เข้าข่ายกระทบความมั่นคง จับตาอัยการส่อไม่ฟ้อง “เพ็ญ” หมิ่นฯ
วันนี้ (3 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ได้ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เพื่อยื่นกระทู้ถามด่วนนายกรัฐมนตรี เรื่องการกระทำอันเป็นการให้ร้ายประเทศไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ของนายใจ อึ๊งภากรณ์ ความโดยสรุปว่า ตามที่นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ต้องหาในคดีดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ดำเนินการเผยแพร่ข้อเขียนเรื่อง “แถลงการณ์สยามแดง” หรือ “Red Siam Manifesto” อันมีลักษณะผิดประมวลกฎหมายอาญาหลายบทหลายมาตรา ไปทั่วประเทศ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552 ก่อนที่จะเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศอังกฤษ และยังได้ดำเนินการเผยแพร่ความคิดอันมีลักษณะให้ร้ายประเทศไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องในประเทศอังกฤษ โดยการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Guardian ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างๆ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ไปทั่วโลก เขียนบทความส่งเข้าเผยแพร่ในประเทศไทย และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ไปบรรยายพิเศษที่วิทยาลัยอาฟริกันและบูรพศึกษา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน มีลักษณะให้ร้ายประเทศไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจเข้าข่ายความผิดฐานความมั่นคงต่อรัฐ เนื้อหาคำบรรยายดังกล่าวยังได้รับการเผยแพร่ต่อทางระบบอินเตอร์เน็ตไปทั่วโลก แต่จวบจนบัดนี้ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขเยียวยาโดยมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการเมืองแต่ประการใด จึงขอถามนายกรัฐมนตรีรวม 3 ข้อ
1. นอกเหนือจากข้อหาเดิม (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) แล้ว รัฐบาล โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการพิจารณาตั้งข้อหาใหม่แก่นายใจ อึ๊งภากรณ์กรณีเผยแพร่ข้อเขียนเรื่อง “แถลงการณ์สยามแดง” และการกระทำอื่นในประเทศอังกฤษหรือไม่
2. รัฐบาลมีแนวทางในการชี้แจงความจริงตอบโต้การให้ข้อมูลเท็จของนายใจ อึ๊งภากรณ์อย่างไร ทั้งในขอบเขตประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ
3. รัฐบาลมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมอย่างไรในการปฏิบัตินโยบายพิทักษ์ปกป้องสถาบันพระมหา กษัตริย์ อันเป็นทั้งนโยบายสำคัญข้อแรกของรัฐบาล และคำประกาศแรกหลังรับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี
นายคำนูณเปิดเผยว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากระทู้นี้จะได้รับการบรรจุเมื่อไร แต่มีกระทู้ทำนองเดียวกันนี้ของนายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ส.ว.สรรหา ได้รับการบรรจุในระเบียบวาระการประชุมวันที่ 6 มี.ค.2552 นี้แล้ว
ในวันเดียวกัน ได้มีการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา โดยได้พิจารณารายงานความคืบหน้าของคณะอนุกรรมาธิการ 3 คณะ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติเห็นด้วยกับมติของคณะอนุกรรมาธิการติดตามคดีความที่เสนอว่ากรณีของนายใจ อึ๊งภากรณ์และขบวนการเกี่ยวเนื่องที่เริ่มต้นมาจากกรณี “แถลงการณ์สยามแดง” เป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่แต่เพียงคดีดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่านั้น เพราะเป็นการเสนอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยไปเป็นระบบสาธารณรัฐ โดยมีข้อเสนอให้จัดตั้งพรรคการเมือง มีการระบุยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมให้ตั้งข้อสังเกตให้จับตาการตัดสินสั่งคดีของเจ้าพนักงานอัยการในคดีที่นายจักรภพ เพ็ญแขถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการไปปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551 และส่งเรื่องไปยังเจ้าพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2552 และเชื่อว่าจะมีการสั่งคดีโดยเจ้าพนักงานอัยการภายในวันที่ 5 มี.ค.2552 นี้
“มีอนุกรรมาธิการบางท่านเชื่อว่าเจ้าพนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หลังจากได้พูดคุยกับเจ้าพนักงานอัยการระดับสูงหลายคน แต่กรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่เชื่อ เพราะยังเชื่อในการทำงานที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เคร่งครัดต่อกฎหมาย รวมถึงการมองเห็นภาพรวมของประเทศ ของเจ้าพนักงานอัยการ แต่ก็ขอให้กรรมาธิการทุกท่านช่วยกันจับตาดู” นายคำนูณ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าว