xs
xsm
sm
md
lg

พลังประชาชน – ประชาธิปัตย์ มุมมองด้านกฎหมายที่แตกต่าง

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

เพราะได้เกาะติดประเด็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมานานวัน ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ผมจึงได้ยื่นกระทู้ด่วนถามนายกรัฐมนตรีเรื่อง “มาตรการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้ถามจริง-ตอบจริงในที่ประชุมสภาฯ แต่ก็ดีไปอย่าง เพราะทำให้มีโอกาสศึกษาข้อมูลเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมไว้

การศึกษานั้นผมเน้นมาตรการทางกฎหมายเป็นสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายจากผู้มีอำนาจหน้าที่ ซึ่ง ณ เวลานี้คือคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จึงได้พบข้อมูลที่ควรนำมารายงานประชาชน ณ ที่นี้ว่า....

ส.ส.พรรคพลังประชาชนกับส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มีมุมมองที่แตกต่างกัน!

ควรเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ภาษากฎหมายอย่างเป็นทางการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร) หมวด 1 (ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) มาตรา 112

“มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ถ้าเป็นการกระทำความผิดโดยทางคอมพิวเตอร์หรือผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ก็มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 14 (3)

“มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ........

“(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา”


และมาตราอื่นๆ ที่ระบุความผิดไปถึงผู้สนับสนุน

แต่การกระทำความผิดก็ยังเกิดขึ้นอย่างหนาแน่น ทั้งในโลกจริง และโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกไซเบอร์ที่โจ่งแจ้งชนิดไม่ยำเกรงกฎหมาย ผมจึงสงสัยว่ากฎหมายที่มีอยู่ คือประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพียงพอแล้วหรือไม่ หรือเจ้าหน้าที่บกพร่องในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายใหม่ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผสมผสานกับความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนสืบสวน

ดร.มั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีที ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ผม ไม่รู้จะเป็นวันศุกร์ที่จะถึงนี้หรือไม่ เมื่อไรก็เมื่อนั้น เราจะได้รู้กัน

เรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ และอุปสรรค จึงขอเว้นไว้ก่อน มาพิจารณาเฉพาะเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่

เพราะเห็นส.ส.พรรคพลังประชาชนขยันเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับตนเองและพรรคพวกกันหลากหลาย โดยเฉพาะประเภทนิรโทษกรรมต่างๆ จึงอยากรู้ว่าพวกท่านเสนอร่างกฎหมายในกรณีนี้บ้างหรือไม่

มีครับ!

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.พรรคพลังประชาชาชน และคณะ เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเข้ามา โดยมีหลักการเพื่อกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่รู้ถึงการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แล้วไม่นำความเข้าแจ้งต่อพนักงานสอบสวน แต่กลับนำไปกว่างไขข่าวแพร่หลายต่อหน้าธารกำนัลหรือประชาชนเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยกำหนดโทษไว้เท่ากับโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทีเดียว

“มาตรา 112/1 ผู้ใดรู้ว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่นำความเข้าแจ้งต่อพนักงานสอบสวนแต่กลับนำความไปกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายต่อหน้าธารกำนัลหรือประชาชนว่ามีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้นเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 นั้น”

คนคิดแก้ไขกฎหมายแบบนี้อยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าการไขข่าวว่ามีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นสำคัญ

ไม่ใช่เพื่อปกป้องสถาบัน

หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน แม้แต่การตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีของผม ก็อาจถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมาย (ใหม่) เพราะผมยังไม่ได้ไปแจ้งความ

มิพักต้องพูดถึงการปราศรัยของชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ที่จะต้องโดนแจ้งความรายวันแน่นอน!


ถ้าการบังคับใช้กฎหมายดีพอ ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดี ชาวบ้านร้านตลาดก็คงไม่ต้องรู้กันว่ามีขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ผมไม่ต้องพูดซ้ำนะว่าการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันมีปัญหาเพียงใด

ร่างกฎหมายที่อาจจะมีวัตถุประสงค์ในเชิงบวก อาจจะให้ผลในเชิงลบได้
พรรคประชาธิปัตย์จะมีท่าทีอย่างไรต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ – ผมยังไม่ทราบ!
ทีนี้ หันมาดูร่างพระราชบัญญัติทางด้านพรรคประชาธิปัตย์บ้าง

ผมได้อ่านข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ว่าคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 วันก่อนมีโอกาสปะหน้าคุณถาวร เสนเนียม จึงเอ่ยปากขอสำเนามาศึกษาดู ท่านก็ดีใจหาย ไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็นำกลับมาให้

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ไม่ได้บัญญัติความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นการเฉพาะ คงมีแต่มาตรา 14 (3) เท่านั้น ผมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อยู่ด้วยในยุค สนช. กรรมาธิการที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าในเมื่อมีบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำมาบัญญัติซ้ำ

แต่ร่างพระราชบัญญัติของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นำมาบัญญัติซ้ำไว้เป็นการเฉพาะในหลายบทหลายมาตรา

เพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับให้สูงขึ้นไปอีก

และวางมาตรการอื่นๆ เพิ่ม เพื่อให้เกิดความเข้มข้นขึ้นในการบังคับใช้ การป้องกัน และการพิจารณาคดีในชั้นสอบสวนและชั้นศาล

แสดงให้เห็นว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เห็นภยันตรายใหญ่หลวงของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผ่านเว็บไซต์

ด้วยความเป็นธรรมเช่นกัน - ผมยังไม่ทราบว่าพรรคพลังประชาชนจะมีท่าทีอย่างไรต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

เป็นเรื่องที่ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะต้องติดตาม!
กำลังโหลดความคิดเห็น