“อภิสิทธิ์” ยิ้มหน้าบาน หลังดันกฎบัตรอาเซียนกระตุ้นให้ประชาคมอาเซียนเห็นความสำคัญการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยอมรับแม้ไม่สำเร็จในเวลาอันสั้น แต่เชื่อดีกว่าไม่เริ่มทำอะไร ฟุ้งการเมืองไทยยังแน่นปึ้ก แม้จะเปลี่ยนตัวผู้นำบ่อย เผย 9 ผู้นำอาเซียนไม่ห่วงการเมืองไทย ระบุ เตรียมนำผลการประชุมอาเซียนหารือที่ประชุมจี 20 กับกลุ่มประเทศร่ำรวย หวังสะท้อนปัญหาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โปรยยาหอมขอบคุณชาวชะอำ-หัวหิน เสียสละร่วมเป็นเจ้าประชุมอาเซียน จนผ่านไปด้วยดี
วันนี้ (1 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังสรุปผลการประชุมผู้นำอาเซียนโดยเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวถึงกรณีความคาดหวังว่าจะนำผลการประชุมอาเซียน ไปหารือในที่ประชุมจี 20 ร่วมกับกลุ่มประเทศร่ำรวยในเดือนเมษายนนี้ ว่า แง่บวกเห็นท่าทีของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เชื่อในความจริงใจที่อยากจะเห็นภูมิภาคต่างๆ สะท้อนปัญหาทั้งเรื่องวิกฤตเฉพาะหน้ากับการป้องกันวิกฤตในอนาคต สิ่งที่คาดหวังได้ คือว่า การที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะได้รับฟังมุมมองเสียงสะท้อนเศรษฐกิจจากประเทศไทย ในรอบนี้ต้องบอกว่าเราได้รับผลกระทบเศรษฐกิจอย่างแรง ไม่ว่าเป็นเรื่องการส่งออก ท่องเที่ยว ให้เศรษฐกิจหดตัว คนตกงานทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีปัญหาพื้นฐานเลย แต่เราได้รับผลประทบความรุนแรงทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐฯ ยุโรป ตรงนี้ถือเป็นโอกาส ส่วนความคาดหวังที่มีต่อการประชุมจี 20 ดูแล้วสูงมาก เนื่องจากทุกคนต้องการให้พ้นเศรษฐกิจแบบนี้ไปเร็วที่สุด แต่ข้อเท็จจริงเศรษฐกิจในสหรัฐฯ หรือในยุโรปสถานการณ์ยังไม่นิ่ง จี 20 ถูกคาดหวังว่าจะทำให้สถานการณ์นิ่งได้หรือไม่ในสภาพความเป็นจริงมันไม่ง่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนมีความตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุด
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ หากมองให้ยาวออกไปความคาดหวังถึงขั้นที่ว่าจะสามารถเริ่มต้นออกแบบระบบสถาบันการเงินของโลก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือธนาคารโลกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการที่จะป้องกันเศรษฐกิจเช่นนี้ ถือเป็นปัญหาที่ยากมาก เพราะโดยข้อเท็จจริงทั่วโลกตกอยู่ในเศรษฐกิจเดียวกัน อย่างที่บอกเราไม่ได้มีปัญหา แต่เมื่อเพื่อนมีปัญหาอยู่ดีๆ เศรษฐกิจเราก็หดตัว 4-5 เปอร์เซ็นต์ แต่เราไม่มีองค์กรไหนที่จะสามารถบริหารนโยบายเศรษฐกิจของโลก สมมติอยากจะเอาเงินสำรองที่มีอยู่ในเอเชียไปช่วยอีกฝั่งหนึ่งก็ไม่มีใครทำได้ เพราะเรายังต้องใช้กรอบของแต่ละประเทศหรือแม้กระทั่งกรอบการรวมตัวของแต่ละภูมิภาค จึงได้บอกว่าไม่ง่ายที่จี 20 จะตอบข้อสนองต่างๆ แต่ถือว่าเจตนาที่ดีและการแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกภูมิภาคน่าจะมีส่วนช่วยเรียกความเชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดการพึ่งซึ่งกันและกันดีกว่าต่างคนต่างอยู่ ไปใช้มาตรการที่เกลียดซึ่งกันและกัน โดยปัญหาไปให้คนอื่นสุดท้ายทุกคนก็จมด้วยกัน
เมื่อถามว่า ในฐานะหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน และมีการเปลี่ยนตัวผู้นำบ่อยๆมีผลกระทบต่อการเจรจาในเวทีอาเซียนหรือไม่ โดยเฉพาะระดับทวิภาคีและนอกรอบการประชุมผู้นำอาเซียนให้ความสนใจสถานการณ์การเมืองในบ้านเราหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประการแรกต้องบอกก่อนว่าคนที่มาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เป็นหัวหน้ารัฐบาลไทยจะทำอะไรก็อยู่ในนามรัฐบาลและในนามประเทศ นายกรัฐมนตรีในอดีตที่ได้ไปแสดงท่าที จุดยืน ถือเป็นการแสดงท่าทีของประเทศในนามรัฐบาลไทย เมื่อตนมารับช่วงต่อก็ต้องเคารพในจุดยืนตรงนั้นและสานต่อจุดยืนตรงนั้น อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์หรือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก แต่ในแง่นนั้นจะไปบอกว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกันทีหนึ่งมาเริ่มต้นกันใหม่ คงไม่ถึงขนาดนั้น ซึ่งแน่นอนถ้ามีผู้นำรัฐบาลที่ทำงานได้อย่างต่อเนื่องก็ได้เปรียบในแง่ของการมีประสบการณ์ในเวทีต่างๆ มากกว่า
“จริงๆ ผมพบกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ท่านยังเอ่ยขึ้นมาว่า ตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของประเทศไทยที่ทำงานด้วย ซึ่งของเขาคนเดียว ของเราผ่านไปแล้ว 10 คน แต่ตนเชื่อว่า ทุกคนเข้าใจ ในสังคมการเมืองโดยเฉพาะการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ แต่การเปลี่ยนแปลงถ้าอยู่ในกรอบและคนที่มาทำงานตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องสานต่องานของประเทศและเปลี่ยนแปลงปรับปรุงไปตามสถานการณ์ก็เป็นเรื่องที่เราต้องรู้จักในการบริหารจัดการของเรา ผมคิดว่าไม่ได้มีปัญหา ช่วง 2-3 วันที่ทำหน้าที่ไม่ได้พบว่าผู้นำประเทศอื่นติดใจว่าไทยเปลี่ยนผู้นำอีกแล้ว ไม่สามารถเป็นประธานได้ ไม่มีอย่างนั้นเลย ส่วนความห่วงใยในสถานการณ์การเมืองคิดว่าเขาติดตามข่าว แต่จากการพูดคุยเป็นการส่วนตัวมองเห็นว่า มันมีเสถียรภาพมากขึ้น ทุกคนทราบดีว่างานในแง่นี้ยังไม่เสร็จและยอมรับตลาดเวลาว่าเรื่องของการสร้างความปองดองสมานฉันท์ต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่สำคัญได้ยืนยันไปว่าเราเดินหน้าทำจริงจัง อย่างไรก็ตามจะไม่ให้กระทบกับงานของเพื่อนๆเราในภูมิภาค อย่างน้อยก็ต้องกลับมาประเทศไทยในปีนี้อีกสองครั้ง เพื่อให้มีความมั่นใจว่าไทยจะทำหน้าที่นี้อย่างดี ผู้นำมาเลเซียก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในปีหน้า ก็ยังเดินทางมาประชุมเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ถือเป็นเรื่องปกติ ในที่ประชุมถือโอกาสนี้ของนายกฯมาเลเซีย ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญในอาเซียนมาโดยตลอด” นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่า การเชิญผู้นำนอกอาเซียนร่วมประชุมครั้งหน้า มีเหตุผลใดที่ต้องการให้ผู้นำนอกอาเซียนมาร่วมประชุมด้วย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ช่วงก่อนหน้านี้ เลขาธิการอาเซียนมีแผนการเชิญผู้นำองค์กรมาร่วมประชุมด้วย แต่บังเอิญช่วงนั้นจัดประชุมไม่ได้ ได้ยกเลิกไป แต่มองว่าขณะนี้จริงๆ แล้วในเอเชียที่นอกอาเซียน แต่ยังมองอยู่ในกรอบของเอเชีย อย่างมากสุดก็เอเชียแปซิฟิกมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจในเอเชียยังเป็นพื้นฐานที่ดีศักยภาพเศรษฐกิจยังสูง ถ้าเราผนึกกำลังกันน่าจะเป็นผลดีในการสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลก และเป้าหมายสำคัญในอาเซียนยังประสงค์ที่จะมีบทบาทสำคัญในเอเชีย เป็นศูนย์กลางระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือกับเอเชียใต้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดรวด
เมื่อถามว่า ทราบกันดีว่าประเทศในอาเซียนแตกต่างกันหลายมิติในการที่อาเซียนจะเป็นประชาคมในปี 2015 การเป็นประชาคมอาเซียนจะสามารถคลี่คลายความแตกต่างได้มากน้อยขนาดไหน และไทยในฐานะเป็นเจ้าภาพปีนี้เชื่อมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่า ความหลากหลายยังไงก็ไม่หมดไป แต่สิ่งที่เป็นกลไกขณะนี้คือการมีกฎบัตรเหมือนเป็นธรรมนูญที่จะต้องจัดตั้งกลไกต่างๆ มาช่วยดูว่าสิ่งที่เป็นข้อตกลงมาตรฐานที่เป็นของกลุ่มจะต้องมีการปฏิบัติตามหรือถ้าไม่มีการปฏิบัติตามก็ต้องให้มีกลไกต่อไปในการติดตาม เพื่อให้เกิดความเคารพในข้อตกลงตามเจตนารมณ์ของกฎบัตร เรื่องของสิทธิมนุษยชนถือเป็นตัวอย่างต้องมีตั้งองค์กรสิทธิสิทธิมนุษยชนของอาเซียนขึ้นมา ถามว่าปีนี้ถ้าจะตั้งองค์กรนี้ให้สำเร็จและถ้าถามว่าจะแก้ไขปัญหาในปีนี้ได้สำเร็จหรือไม่บอกได้เลยว่าเราแก้ไม่ได้ แต่คิดเสมอว่าก้าวแรกอาจเป็นก้าวที่สำคัญที่สุด ขอให้ได้ก้าว ไม่ยืนหยุดอยู่กับที่ ให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องอาจจะไม่ไกล ไม่เร็วอย่างที่เราหวัง แต่ต้องเริ่มคิดว่าสิ่งที่ตกลงกันวันนี้จะได้เริ่มแน่นอนในปีนี้ได้ เราถึงใช้คำว่ากลไกนี้ต้องเป็นที่น่าเชื่อถือ หมายความว่า เดินไปข้างหน้าแน่ ขณะเดียวกันต้องเดินบนความเป็นจริง ไม่ใช่ออกวิ่งแล้วสะดุดหกล้มแล้วต้องมาเริ่มต้นกันใหม่เลยไม่มีใครยอมทำต่อไป อย่างที่คุยกันในลักษณะภาคประชาสังคมอยากให้มันดีกว่านี้ มาได้เท่านี้ดีกว่าไม่ทำ
ต่อข้อถามว่า จากการไปเดินตลาดโต้รุ่งหัวหิน บรรยากาศเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นความตั้งใจที่อยากขอบคุณคนที่นี่ เชื่อว่าชะอำและหัวหินได้ประโยชน์เรื่องของชื่อเสียงและมีคนสนใจที่จะมาท่องเที่ยวในวันข้างหน้า แต่ก็รู้ว่าช่วงสองสามวันนี้เขาต้องเสียสละ เพราะการจัดการอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำ ร้านค้าต้องเสียโอกาส แต่ที่ชื่นใจที่สุด คือแม่ค้าบอกว่าไม่เป็นไรทำเพื่อชาติ ซึ่งเรามากันเป็นพัน บางทีลืมไปว่าเจ้าของพื้นที่เขาได้รับผลกระทบ เมื่อตนไปก็ขอขอบคุณ วันนั้นได้รับการต้อนรับอย่างดีเลยถือโอกาสนี้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่าน รวมทั้งประชาชนและสื่อมวลชนสำหรับความสำเร็จในช่วงสองถึงสามวันนี้