xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” หารือ 3 ผู้นำอาเซียนลุล่วง - ใช้กลไกภูมิภาคแก้โรฮิงยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“อภิสิทธิ์” แถลงผลหารือผู้นำพม่า พร้อมสานต่อความร่วมมือแก้ปัญหายาเสพติด-แรงงาน ช่วยฟื้นฟูเหยื่อนาร์กิส ส่วนการหารือผู้นำเขมรเห็นชอบใช้กลไกเจบีซีเป็นหลักในการแก้ปัญหาเขตแดน พร้อมถกปัญหาทับซ้อนทางทะเลมากขึ้น ด้านผู้นำมาเลย์รับทราบแนวทางพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะปัญหาโรฮิงยา ยกให้เป็นเรื่องของภูมิภาค โดยใช้กระบวนการบาหลีแก้ไข

เมื่อเวลา 15.25 น.วันที่ 27 ก.พ. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้หารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ต่อด้วยหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตามด้วยหารือนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และสุดท้ายได้หารือกับลอร์ดมัลล็อค บราวน์ (Malloch Brown) ผู้แทนนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ณ บริเวณ ชั้น 1 โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

โดยภายหลังการหารือ เวลา 17.40 น. นายอภิสิทธิ์ได้แถลงที่ห้องแถลงข่าว ศูนย์สื่อมวลชน รร.ดุสิตธานี ว่าได้หารือแบบทวิภาคีกับนายกฯ ทั้ง 3 ประเทศ โดยในส่วนของพม่าได้มีการแลกเปลี่ยนในการที่ต้องร่วมแก้ปัญหาหลายปัญหาซึ่งเรื่องปกติของชาติที่มีพรหมแดนติดกัน อาทิ เรื่องยาเสพติด ปัญหาแรงงาน ทั้งนี้ประเทศไทยจะยังมีบทบาทสนับสนุนการฟื้นฟูพม่าหลังเกิดภัยพิบัติพายุนาร์กิสต่อไป และสิ่งที่สำคัญในเรื่องการทำงานจองคณะทำงาน 3 ฝ่ายที่จะหมดอายุลง ก็คาดว่าจะมีการต่ออายุไปเพื่อยืนยันการมีส่วนร่วมกัน สำหรับเรื่องภายในของพม่านายกฯ พม่าก็พูดเรื่องการเดินหน้าเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งไทยต้องการให้เดินไปตามเจตนารมณ์ ต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

โดยช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวได้ถามนายอภิสิทธิ์ว่าจะเดินทางไปเยือนพม่าหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบว่า จะเดินทางเยือนทุกประเทศให้ครบ แต่ทราบดีว่าในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ของไทยตนจะต้องใช้เวลาช่วงแรกอยู่ประเทศเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้การเมืองมีเสถียรภาพ มาตรการเศรษฐกิจก็ผลักดันให้ผ่านสภาแล้ว ดังนั้นมั่นใจว่ากลางปีจะเยือนอาเซียนได้ครบรวมทั้งพม่าด้วย

ในส่วนการหารือกับนายกฯ กัมพูชา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการพูดถึงความร่วมมือต่างๆ แม้จะมีความกระทบกระทั่งเรื่องชายแดนก็ยังเห็นตรงกันว่าจะยังยึดกรอบเจบีซี ที่จะให้กรอบเดินหน้าต่อไป และสิ่งที่พูดมากขึ้นคือเรื่องของความเป็นไปได้เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เรื่องของพลังงาน ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องความคิดเห็นแต่เป็นเรื่องของเทคนิค ที่จะต้องดูต่อไปว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร นอกจากนั้นก็หารือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง การท่องเที่ยว การพัฒนาสามเหลี่ยมมรกต (ไทย-กัมพูชา-ลาว) ที่จะมีการใช้วีซ่าใบเดียว

“เราถือว่ากลไกที่มียังทำงานได้ แน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายยั่งยืนยันว่าจะไม่ให้การกระทบกระทั่งไม่ให้เป็นอุปสรรคการทำงานด้านอื่นๆ แต่เรื่องพลังงานยังไม่ได้ลงรายละเอียด เพราะต้องมีคณะทำงาน แต่ทางเทคนิคจะตกลงกันได้เมื่อไรก็ต้องให้เขาหรือกันก่อน แต่ความมั่นคงเรื่องพลังงานเป็นส่วนสำคัญของทั้งสองประเทศ” นายกฯ กล่าว

ส่วนการหารือกับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียนั้น นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวว่า นายกฯ มาเลย์ยืนยันความสัมพันธ์ ซึ่งตนก็ได้เรียนให้ทราบถึงแนวนโยบายแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เน้นการพัฒนามากขึ้น โดยจะผลักดันเรื่องการศึกษา การสร้างโอกาส การสร้างงานและธุรกิจในพื้นที่

และสุดท้ายในการหารือกับทางอังกฤษ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการพูดถึงการประชุมจี 20 ที่ประธานอาเซียนจะมีบทบาท โดยมีการพูดถึงวาระของการประชุมซึ่งจำเป็นที่จะต้องคลอบคลุมปัญหาในเรื่องของการรักษาความการหดตัวของเศรษฐกิจที่ต้องมีการดูระยะยาวด้วย เพื่อป้องกันไมให้เกิดวิกฤติอีก

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการหารือเพื่อแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงยาว่า ปัญหาโรฮิงยาทุกคนเห็นตรงกันว่าจะต้องแก้ที่ภูมิภาค เพื่อจะปัญหาได้ยั่งยืน และทุกฝ่ายจะได้มีความมั่นใจในการรักษาความมั่นคงของประเทศ และรักษาสิทธิมนุษยชนด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ชาวโรฮิงยาที่เข้ามาใน จ.ระนอง ไทยจะรับไว้ชั่วคราวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทราบว่าหลักการไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าพิสูจน์ว่ามีที่มาจากที่ใดจะส่งไปได้เรียบร้อยในประเทศต้นทาง ทั้งนี้เมื่อเรานำทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง 5-6 ประเทศก็น่าจะแก้ปัญหาได้ โดยเราจะให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้ามาเกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่าชาวโรฮิงยา 78 คนสุดท้ายที่ยังอยู่ในไทยจะทำอย่าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าจะส่งตัวกลับได้สำเร็จ และเชื่อว่ามีการดำเนินการ และจะส่งไปที่ประเทศต้นทางที่เขาเข้ามา

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนด้วยว่าจะเสร็จเรียบร้อยในการหารือกันช่วง ต.ค. ซึ่งจะเป็นกลไกที่น่าเชื่อและปฏิบัติได้ในความหลากหลายของภูมิภาค โดยในวันที่ 28 ก.พ.ตนจะได้พบภาคประชาสังคม ซึ่งความเห็นของเขาอาจจะไม่ตรงกับร่างที่ทำมาขณะนี้ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด 6-7 เดือนที่จะถึงนี้ก็ได้

ก่อนหน้านั้น เวลา 17.00 น. นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่เมืองพัทยาว่า ได้หารือในการประสานงานความร่วมมือเพื่อให้แน่ใจว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความปลอดภัย มีความมั่นคง โดยทุกชาติได้ตกลงเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรทางการทหารสำหรับช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับชาติสมาชิกที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสร้างความมั่นใจและใช้ประโยชน์ของยุทโธปกรณ์ที่มีในยามมีภัยธรรมชาติ จึงถือว่ากลุ่มรมต.กลาโหมไปไกลแล้วในเรื่องนี้ ตนก็ขอขอบคุณ

นายสุรินทร์กล่าวถึงบรรยากาศการหารือแก้ปัญหาโรฮิงญาว่า พวกเขาได้หารืออย่างเปิดเผย สำหรับตนอดีตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่เคยเห็นว่ามีการหารือแบบเปิดเผยเช่นนั้น โดยพวกเขาได้ตัดสินใจว่าประเด็นโรฮิงญานั้นเป็นประเด็นระดับภูมิภาคที่ต้องหารือกัน ต้องพิจารณาในกระบวนการระดับภูมิภาค

“พวกเรามองรอบๆ ตัวและเห็นว่ากระบวนการบาหลีเป็นกระบวนการจัดการที่ดีที่สุด โดยการหารือชั้นต้นจะมีการหารือที่บาหลีในวันที่ 14-15 เม.ย.โดยจะมีการหารือทั้งเรื่องของบาหลี เรื่องโรงฮิงญา แต่เพื่อยกระดับการหารือก่อนที่จะไปถึงบาหลี เพราะนั้นการประชุมครั้งนี้เป็นมากกว่าอาเซียนเพราะจะได้นิยามประเด็นและได้ความคิดในชั้นต้นว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรในกรอบของอาเซียน” นายสุรินทร์ กล่า วและว่า ตนได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้ประสานการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตั้งแต่นี้เป็นต้นไป โดยจะเป็นตัวประสานหลักของอาเซียน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการจัดประชุมระดับภูมิภาคมากกว่าบาหลีหรือไม่ นายสุรินทร์ กล่าวว่า จะหารือกันอย่างเข้มข้น รวมทั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนก็จะกำหนดประเด็นในการหารือก่อนที่จะไปถึงการหารือที่บาหลี ทั้งนี้แต่ละชาติจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าแต่ละประเทศมีชาวโรฮิงญากี่คน เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และจากนั้นจะตัดสินใจในวงที่กว้างที่บาหลี และหวังว่าจะให้ความชัดเจนเรื่องนี้ได้ที่บาหลี

นายสุรินทร์กล่าวถึงบทบาทของเลขาธิการอาเซียนในเรื่องนี้ว่า ตนต้องทำงานภายใต้กรอบที่เขาให้มา แต่ทั้งนี้การประสานงานชั้นต้นจะนำไปสู่การประนีประนอมกันเพื่อให้เข้าใจในประเด็น จะได้มีความมั่นใจว่ามีคนประเภทไหนบ้าง ที่เรียกว่า โรฮิงยา หรือพื้นเพเบงกาลีที่เป็นคนของพม่า ดังนั้นเราต้องดำเนินการทีละประเด็น แม้เป็นประการบวนการที่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่เราต้องทำงานร่วมกัน เรียนรู้กัน ประนีประนอมและเข้าใจร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น