รัฐมนตรีคลังอาเซียน บวก 3 หารือแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในภูมภาควันพรุ่งนี้ มีระดับรัฐมนตรีเข้าร่วม 10 ประเทศ ปลัดกระทรวงการคลังเชื่อการหารือครั้งนี้ประเทศสมาชิกสามารถนำประสบการณ์การแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศไปปรับใช้ได้
นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เกี่ยวกับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาเซีย บวก 3 สมัยพิเศษ ว่า ในวันนี้ (21 กพ.) โดยได้มีการประชุมทวิภาคีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และไทย-จีน ส่วนการประชุมอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (22 กพ.) ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาประชุมด้วยตัวเองจำนวน 10 ประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และกัมพูชา จะเป็นระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการฯหรือปลัดกระทรวงการคลัง
การประชุมในครั้งนี้ถือว่าเป็นวาระแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน บวก 3 ได้มาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกที่ค่อนข้างรุนแรง และในการประชุมครั้งนี้ทางประธานธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB มาร่วมประชุมด้วยในบางวาระ โดยประเด็นแรกที่จะมีการหารือ คือ การดูแลเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งทาง ADB มีการนำเสนอความเห็นที่มีการศึกษาวิเคราะห์ ส่วนของรัฐมนตรีก็จะได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยคงเป็นตัวตั้งในการนำเสนอการแก้ปัญหาเศรษฐกิจว่าที่ผ่านมาได้ทำอะไรมาแล้วบ้าง และหลังจากนี้จะดำเนินการอะไรบ้าง ส่วนของประเทศอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งการหารือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ในการนำข้อคิด ข้อสังเกต หรือประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้มาตรการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมาปรับใช้ทั้งประเทศเราเองหรือประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
การหารือเกี่ยวกับการประชุมจี 20 ซึ่งจะมีการประชุมในเร็วๆ นี้ โดยทางประเทศเกาหลีซึ่งเป็นสมาชิกของจี 20 ก็จะได้มีการมาพูดคุยกันว่าจะมีการนำข้อเสนอใดเพิ่มเติมไปเสนอในการประชุมดังกล่าวได้รับทราบ และการติดตามผลการประชุมร่วมรัฐมนตรีคลังอาเซียนบวก 3 ก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น หลังจากนั้นก็จะมีการแถลงและประกาศความคืบหน้าและผลการประชุมเรื่องอื่นๆ ให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีคลังอาเซียนบวก 3 ว่าจะมีกลไกความร่วมมือทางการเงินเช่นไร และท้ายสุดจะไปเริ่มให้ความเห็นชอบครั้งสุดท้ายที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และคิดว่ากลไกต่างๆ จะสามารถขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้น เพราะหากมองภาพรวมทั่วโลก คิดว่าในภูมิภาคอาเซียนยังมีความแข็งแรงมากกว่าภูมิภาคอื่น หรืออาจจะได้รับผลกระทบน้อยสุด ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่ประโยชน์ในวงกว้าง