xs
xsm
sm
md
lg

G8ชี้สังคมต้องมีเสถียรภาพเศรษฐกิจจึงฟื้นได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีแรงงานของกลุ่ม 8 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 8) ระบุเมื่อวันจันทร์ (30 มี.ค.) ว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่มีทางฟื้นตัวได้ หากปราศจากมาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพของสังคมอย่างชัดเจน ขณะที่องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ก็ออกโรงเตือนว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงในประเทศร่ำรวยและทั่วโลกจะประสบกับความยากลำบาก

"ความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเข้มแข็ง มีความสำคัญต่อการจัดวางประเด็นการคุ้มครองการจ้างงานและสังคมให้เป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกจะต้องรับมือ" ฮวน โซมาเวีย ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของกลุ่มจี 8 และรัฐมนตรีด้านแรงงานหรือสังคมจากประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ 6 ประเทศคือ จีน อินเดีย บราซิล เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และอียิปต์

"เราตีค่าตลาดสูงเกินจริง แต่ตีค่ารัฐต่ำไป และไม่ให้คุณค่าใดๆ กับความภูมิใจในการทำงาน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และความเป็นปึกแผ่นของสังคม" เขายังเสริมอีกว่า "ทั้ง 14 ประเทศที่เป็นตัวแทนในที่ประชุมแห่งนี้ มีแรงงานอยู่ในราวครึ่งหนึ่งของทั่วโลก สิ่งที่ถกเถียงกันในที่นี้ย่อมมีศักยภาพในการกำหนดแนวโน้มที่สำคัญยิ่งต่อไปได้"

ทั้งนี้ การประชุมของ "กลุ่ม 14" ดังกล่าวเริ่มขึ้นในวันจันทร์และต่อเนื่องไปเป็นเวลา 3 วันด้วยกันที่กรุงโรม การประชุมดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางเสียงเตือนอย่างหนักต่อปัญหาความไม่สงบของสังคม หลังจากที่มีการประท้วงในเมืองใหญ่หลายแห่งของยุโรปก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา 20 ประเทศ (จี 20) ที่กรุงลอนดอนในวันพฤหัสบดี (2) ซึ่งจะมีวาระสำคัญคือการแก้วิกฤตการณ์ทางการเงินโลก

มัวริซิโอ ซัคโคนี รัฐมนตรีแรงงานของอิตาลี กล่าวว่าการประชุมที่โรมในครั้งนี้จะกระตุ้นให้ผู้นำกลุ่มจี 20 ได้ "พิจารณาว่าเสถียรภาพด้านสังคมนั้นเป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ"

เขายังแสดงความหวังด้วยว่าการประชุมจี 20 "จะยุติลงด้วยการตัดสินใจอย่างแน่ชัดถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในเรื่องของเสถียรภาพและการกำกับดูแลด้านการเงิน ไปในหนทางที่เป็นการเยียวยาไม่ให้วิกฤตการณ์ดังกล่าวกลับคืนมาอีก"

ส่วนแองเกล เกอร์เรีย ประธานองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) บอกว่า "การฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง แต่ประเด็นเชิงจริยธรรม ศีลธรรม สังคมและมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน"
กำลังโหลดความคิดเห็น