xs
xsm
sm
md
lg

คลังลุ้นเช็คดันจีดีพี 1.4% รายได้ปีนี้วูบ 2.4 แสน ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงการคลัง ยอมรับรายได้รัฐปีนี้อาจลดลง 2.4 แสนล้านบาท จากประมาณการเดิมที่ตั้งไว้เพียง 1.8 แสนล้านเท่านั้น ชี้ ปรับโครงสร้างภาษีใหม่เมษายนนี้ อาจช่วยต่อลมหายใจได้ ยังหวังเช็คช่วยชาติกระตุ้นจีพีดีโต 1.4% ขณะที่ สศค.แนะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแทนนโยบายการเงินการคลังหวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อสู้กับประเทศในภูมิภาคได้

นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์จัดเก็บรายได้ ล่าสุด ถึงเดือน มี.ค.นี้ คาดว่า แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐสุทธิ อาจลดลงถึง 2.4 แสนล้านบาท หรือลดลงถึง15% จากที่ก่อนหน้านี้ คาดว่า รายได้รัฐบาลน่าจะลดลง 1.8 แสนล้านบาท หรือ ลดลงเพียง 10% เท่านั้น ทำให้กระทรวงการคลัง ต้องหาช่องทางในการหารายได้อื่นมาชดเชย ซึ่งกระทรวงกำลังดูเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปหาแนวทางอุดช่องโหว่ ที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลง พร้อมทั้งดูภาษีตัวใหม่ที่จัดเก็บเพิ่มได้ โดยเพาะภาษีสรรพสามิต คาดว่า ในดือน เม.ย.นี้ จะได้ข้อสรุป ว่าจะขึ้นภาษีรายการใดบ้าง

“การเก็บภาษีสรรพสามิต ชา กาแฟ สุรา เบียร์ และ เอสเอ็มเอส เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล นั้น ยังต้องรอความชัดเจนจากคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นในการศึกษาการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ทั้งระบบ คาดว่า จะสรุปเสนอให้พิจารณาได้ภายในกลางเดือนนี้ และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะเสนอต่อ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เพื่อเสนอต่อ ครม.ตัดสินว่าจะเก็บภาษีสินค้าชนิดใดบ้าง โดยยืนยันว่า การปรับโครงสร้างระบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่นี้ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเกิดความเป็นธรรมกับสินค้าทุกชนิด ส่วนจะเก็บภาษีชา กาแฟ ด้วยหรือไม่นั้น ต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการก่อน” นพ.พฤฒิชัย กล่าวและว่า ส่วนเช็คช่วยชาตินั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตัวเลขจีดีพีโต 0.2% ได้ และหากหมุนได้ 7 รอบ จะมีเงินหมุนในระบบมากถึง 1.4 แสนล้านบาท ช่วยกระตุ้นจีดีพีให้โตได้ 1.4% โดยสรุปถึงวันที่ 30 มี.ค.นี้ มีผู้มารับเช็คฯไปแล้วกว่า 60% จากจำนวนผู้ที่มีสิทธิ์เกือบ 9 ล้านคน

จี้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนบริหารเศรษฐกิจ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาไทยใช้นโยบายการคลังและการเงินอย่างเต็มที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจก็ยังชะลอลง เนื่องจากผลกระทบหนักจากวิกฤตโลก ที่มีปัญหาทำให้ผู้ซื้อสินค้าส่งออกหลักของไทยซื้อสินค้าได้น้อยลงทำให้การส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน ดังนั้น นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะต้องนำมาใช้บริหารเศรษฐกิจ แต่ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2552 ค่าเงินบาทไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียอ่อนค่าลงเพียง 1.61% ขณะที่ประเทศคู่แข่งและคู่ค้าอย่างอินโดนีเซียค่าเงินอ่อนลงที่ 5.53% สิงคโปร์อ่อนลง 4.68% และเกาหลีอ่อนลง 9.57% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สื่อให้เห็นบางอย่าง ฉะนั้นรัฐจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออัตราแลกเปลี่ยนเพื่อบริหารเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ แม้ผลกระทบจากวิกฤตโลกจะส่งผลต่อสถาบันการเงินไทยน้อยมาก แต่คาดว่าหนี้เสียในปีนี้จะปรับตัวสูงขึ้นจากขณะนี้ที่หนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบอยู่ที่ 5-6% ดังนั้นทางออก คือ ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องเร่งปล่อยกู้แก่เอกชน เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ดูแลเต็มที่จากนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปล่อยกู้หรือค้ำประกัน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ฉะนั้นหากธนาคารพาณิชย์ไม่ช่วยด้วยก็อาจเกิดวิกฤตกับเอกชนต่อไปได้

ยันเลื่อนขึ้น VAT ออกไปก่อน

สำหรับการประมาณการรายได้ใหม่ ขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่เรียบร้อยและยังไม่ได้เสนอให้ครม.พิจารณาได้ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ แต่สัปดาห์นี้จะเชิญสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มารับฟังประมาณการใหม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นอาจจัดเก็บต่ำกว่าเป้าเกือบ 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันจะไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในปีนี้ แม้ว่าการจัดเก็บเพิ่ม 1% จะทำให้รายได้เพิ่ม 5-6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมและจะไปซ้ำเติมการจับจ่ายประชาชนเพิ่มเติมได้ แต่สิ่งที่จะทำได้ คือ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ

ส่วนกรณีการออกมาโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่เห็นด้วยกับการออกพรก.กู้เงินฉุกเฉินเพิ่มเป็น 60% ต่อจีดีพี ซึ่งจะมีผลให้ต้องจัดเก็บภาษีกับประชาชนเพิ่มนั้น ขอยืนยันว่า ในภาวะเศรษฐกิจชะลอรัฐจำเป็นต้องหาเงินเพิ่มเพื่อใช้ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ โครงสร้างพื้นฐาน ต่อยอดรายได้ของประชาชนและสร้างความมั่นใจแก่เอกชน ซึ่งเงินเพิ่มเหล่านี้จะไม่มีเพื่อแจกเงินอย่างเช่นที่ผ่านมาอีก ฉะนั้น เมื่อโครงการลงทุนชัดเจน และเงินที่ลงไปนั้นคุ้มค่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงก็จะเป็นการส่งกลับรายได้คืนมาอัตโนมัติด้วย ก็เท่ากับขยายฐานภาษีไปในตัวไม่จำเป็นต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มหรือเพิ่มฐานภาษีแต่อย่างใด

แนะล้อโมเดลส่งออกเกาหลี

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า ในช่วงทั่วโลกขาดกำลังซื้อ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือสำคัญ เช่น เกาหลีใต้เงินอ่อนค่าถึง 9% ส่งผลดีต่อการชะลอเลิกจ้างแรงงานในภาคส่งออก อีกทั้งยืดระยะเวลาที่เงินงบประมาณจะลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมไปกับการให้ซอฟต์โลนส่งออก มาตรการเหล่านี้สามารถทำให้เกาหลีใต้สามารถแย่งตลาดส่งออกจากประเทศคู่แข่งได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจเกาหลีใต้คล้ายประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบภาคราชการ กระทรวงการคลัง และประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาสยาม กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือช่วยบริหารเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นในช่วงระยะสั้นไม่ฝืนธรรมชาติระยะยาว และสิ่งสำคัญต้องไม่ประกาศต่อสาธารณะ ทั้งนี้ สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกตนยังมองว่ายังไม่ถึงจุดต่ำสุด ต้องติดตามต่อเนื่อง แต่ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หากอ่อนค่าลงมากจนนำไปสู่สถานการณ์ที่หลายประเทศไม่อยากถือครองอีกจะเกิดวิกฤตอย่างมาก ซึ่งผลการประชุมจี 20 ครั้งนี้ ค่อนข้างสำคัญ หากมีการเสนอให้เปลี่ยนแปลงการใช้เงินตราระหว่างประเทศใหม่ก็จะเปลี่ยนอำนาจของเศรษฐกิจโลกทันที

ด้าน นายวิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาฝ่ายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าความเป็นจริง เพราะเท่ากับว่าเรานำเงินงบประมาณไปปรนเปรอผู้บริโภคต่างประเทศ จากการที่ได้เงินเท่าเดิมแต่ต้องขายของจำนวนมากขึ้น ดังนั้น รัฐจึงควรมีเครื่องมือบริหารเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น การสกัดเงินทุนไหลเข้าออกให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หรือการใช้เวทีระดับโลกเพื่อต่อรองมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น