“วอร์รูม ปชป.” จับตาม็อบเสื้อแดง คาดระดมทั่วประเทศปิดล้อมทำเนียบฯ ได้แค่ 4 หมื่นคน หวั่นเหตุการณ์บานปลายหาก “แกนนำหัวขวด” ปั่นกระแสน้ำผึ้งหยดเดียว ด้าน “โฆษก ปชป.” แฉแผนชุมนุยืดเยื้อ-จ่อสร้างสถานการณ์ความรุนแรงโดยไม่รับผิดชอบ หวังล้มกระดานรัฐบาล
วานนี้ (23 ก.พ.) คณะทำงานเพื่อปฏิบัติการทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ (วอร์รูม) ที่มีนายชำนิ ศักดิเศรษฐ ประธานคณะทำงานฯ ได้มีการประเมินสถานการณ์ถึงการชุมนุมของกลุ่มมวลชนเสื้อแดงว่าจะมีระดมคนกลุ่มเสื้อแดงทั่วประเทศ ประมาณ 4 หมื่นคนขึ้นไป โดยจะเข้าไปรวมตัวชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากจัดที่สนามรัชมังคลากีฬาสถาน ที่มีกลุ่มเสื้อแดงกว่า 5 หมื่นคนเข้าร่วม ซึ่งการชุมนุมในวันที่ 24 ก.พ.นี้จะมีการรวมตัวที่สนามหลวง ก่อนที่เคลื่อนตัวมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นการสำแดงพลัง ว่าจะมีอำนาจต่อรองทางการเมืองเพื่อกดดันรัฐบาล ให้ทำตามเงื่อนไข 4 ข้อ ที่เคยยื่นเอาไว้กับรัฐบาล
กลุ่มเสื้อแดงมีการเตรียมการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มผู้ชุมนุมออกเป็นสายๆ เช่น ส่วนประสานงานกับแกนนำต่างๆ ฝ่ายส่งกำลังบำรุงอาหาร และการจัดยานพาหนะ ในการเคลื่อนไหวปิดล้อมสถานที่ต่างๆ สำหรับการชุมนุมครั้งนี้จะยืดเยื้อนาน 3 วัน และหากยังไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น บรรดากลุ่มแกนนำเสื้อแดง จะมีการสร้างสถานการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเข้าไปดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้นเหตุการณ์ก็จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เพื่อที่จะรวมกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เดินทางกลับ โดยกลุ่มแกนนำจะปฏิเสธความรับผิดชอบว่า ไม่ใช่คนในกลุ่ม และเหตุการณ์ดังกล่าว และจะกลายเป็นการชุมนุมยืดเยื้อต่อไป
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ประเมินแล้วว่ามีข้อบงชี้ในการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำสู่ความขัดแย้ง จนอาจนำสู่ความรุนแรงอีกครั้งในสังคมไทยได้ ฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ขอแสดงความห่วงใย และความวิตกในการขับเคลื่อนการเมืองนอกสภา 3 แนวทาง คือ 1.ความเคลื่อนไหวของ นปช.ที่แสดงเจตนาจะชุมนุมยืดเยื้อ และปฏิเสธความรับผิดชอบ รวมทั้งปฏิเสธความรับผิดชอบล่วงหน้าต่อเหตุการณ์ในอนาคต โดยอ้างถึงเสื้อแดงเทียม การจัดซื้อเสื้อโปโลแดง และพูดถึงความรุนแรงจากมือที่ 3 แล้วยังยึดแนวทางการปฏิเสธเจรจา
“นอกจากนี้ยังมีการสร้างกระแสปลุกระดมอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อมวลชน และสื่อแท็กซี่บางส่วน ซึ่งเงื่อนไขหลายอย่างคล้ายกับการชุมนุมก่อนวันที่ 1 ก.ย.50 ที่มีการบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ 2.ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมสร้างเงื่อนในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการเมืองนอกสภาที่ชัดเจน มีการขัดขวางการทำงานของสภาทุกวิถีทาง และสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งนอกสภา เช่น การจุดประเด็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การปล่อยข่าวเรื่องการจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการสร้างความหวั่นไหวให้ประชาชน อีกทั้งยังมีการแถลงข่าวร่วมกับกลุ่ม นปช.ทุกสัปดาห์ และยังมีการเล่นการเมืองแบบเก่าด้วยการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบมุ่งทำลาย ทำให้ประชาชนหวั่นไหว จนเกิดความต้องการที่จะให้ระบบรัฐสภาเป็นทางออกของประเทศ” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า 3.การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เกาะฮ่องกง แม้ประชาชนจะให้ความสนใจน้อยลง แต่ ส.ส.กลับออกมาให้ข่าวเป็นรายวัน ซึ่งส่งสัญญาณชัดเจนว่า หลังจากความวุ่นวายในการชุมนุมทางการเมืองดำเนินการมาถึงที่สิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้ข่าวว่าจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันที่ 1 มี.ค. เพื่อตอกย้ำปัญหาภายในประเทศ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการใช้สถานการณ์ภายในประเทศเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง
“ทั้ง 3 ข้อนี้ พรรคประชาธิปัตย์ขอแสดงความห่วงใยต่อการดำเนินการ และขณะเดียวกันยอมรับว่า แม้สังคมจะมีความแตกต่างที่ต่อเนื่องจากวิกฤตบ้านเมือง ซึ่งการเลือกจังหวะที่มีแขกบ้านแขกเมืองมาร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทนั้น ถือเป็นการจงใจใช้จังหวะที่จะมีสื่อมวลชนมาจากทั่วโลก เพื่อทำให้เห็นภาพความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่ออกมาสู่ท้องถนน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่เพิ่งเริ่มจะดีขึ้น” นพ.บุรณัชย์ กล่าว
นพ.บุรณัชย์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นจึงอยากฝากไปยังทุกฝ่ายให้ช่วยกันประคับประคองประเทศ เพราะทิศทางของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ถดถอยลงใน 2 ไตรมาสนั้น มีผลมาจาก 2 แนวทาง คือ แนวทางการฟื้นความเชื่อมั่นให้คืนมา และแนวทางการทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศผ่านสงครามจิตวิทยามวลชน ส่วนเงื่อนไขในการแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ บ้านเมืองต้องไม่แตกแยก และประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีส่วนในการร่วมมือกัน แต่เราเห็นว่าเหตุการณ์ยังไม่ถึงทางตันตามที่บางฝ่ายทำนายไว้ เพราะคิดว่าสังคมจะทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น และเริ่มกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองร่วมกัน