xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ลั่นคุมเสียงข้างมากอยู่ เชื่อไม่แห่หนุน กม.ปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“อภิสิทธิ์” ย้ำไม่มีแนวคิดเสนอกฎหมายปรองดองแห่งชาติเข้าสภา ชี้ เป็นเรื่องของพรรคการเมือง และ ส.ส.เผย เร่งประสานฝ่ายค้านดันปฏิรูปการเมือง แย้มอีก 6 เดือนได้เห็นความคืบหน้า ยันไม่รีบเพราะมีปัญหาเรื่องปากท้องที่ต้องเร่งจัดการก่อน พร้อมรับฟังข้อเสนอฝ่ายค้าน ลั่นกุมเสียงข้างมากได้ เชื่อพรรคร่วมยังเป็นเอกภาพ ไม่แห่หนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

วันนี้ (16 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอ พ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติ ว่า รัฐบาลจะเสนอควบคู่กันไปหรือไม่ ว่า รัฐบาลไม่มีความคิดที่จะเสนอกฎหมายนี้ แต่ในส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมือง ส.ส.มีสิทธิ์เสนอได้ แต่รัฐบาลคงไม่เสนอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะปฏิรูปการเมืองมีความคืบหน้าแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพยายามและปรึกษากับฝ่ายค้านอยู่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากฝ่ายค้าน สำหรับฝ่ายค้านที่มีบทบาทตนก็พยายามคุย เพราะไม่อยากเดินฝ่ายเดียว หากจะตั้งวันนี้ก็ตั้งได้ แต่ถ้าตั้งแล้วคนบอกว่าไม่อยากได้รูปแบบนี้ มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ฉะนั้น ตนก็จะพยายามใช้เวลาสักนิดคงไม่เป็นไร ขอให้ขบวนการเริ่มต้นแล้วเป็นที่ยอมรับ มันจะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า

เมื่อถามว่า จะต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ถึงจุดหนึ่งตนก็จะต้องตัดสินใจ ว่า เขามีปัญหาเรื่องอะไร ถ้าคิดว่าในที่สุดแล้วจำเป็นต้องเดินหน้า และมั่นใจว่า มีเหตุผลเพียงพอ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ แต่ไม่อยากทำอย่างนั้น อยากให้เขามีส่วนร่วม

เมื่อถามว่า จะต้องเร่งให้เร็วกว่านี้หรือไม่ เพราะสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองยังไม่ยุติ นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์ที่มีความสงบเรียบร้อย แต่มีความเคลื่อนไหวของประชาชน หรือกลุ่มคนที่ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็ให้ดูแล ไม่ให้มีการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่ให้มีการทำผิดกฎหมาย แม้จะมีคณะกรรมการอะไรก็ตาม ตนไม่เชื่อว่า การเคลื่อนไหวต่างๆ จะยุติลง แต่เงื่อนไขอะไรที่จำเป็น จะต้องได้รับความมั่นใจมากขึ้น ว่า มีการดำเนินการชำระสะสาง เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะเร่งรัด เช่น คดีความต่างๆ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้คุยกับตนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะไปสรุปมาให้เห็นความคืบหน้าต่อไป เพราะครั้งสุดท้ายที่ตอบกระทู้ถามก็ผ่านมา 2 สัปดาห์แล้ว ดังนั้น จะสรุปให้เห็นความคืบหน้า รายงานให้ประชาชนและสังคม และทุกฝ่ายได้รับทราบตลอดเวลา

นายกฯ กล่าวอีกว่า เรื่องการปฏิรูปฯถ้าฝ่ายค้านตกลงในความคิดที่เสนอไป ก็จะเดินตามนั้น ถ้าเขาคิดว่ามีทางเลือกอื่น ข้อเสนออื่น ก็จะมาร่วมพิจารณาด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดขณะนี้อยู่ที่กระบวนการ เรื่องการปฏิรูปการเมือง ตนไม่อยากให้มีธง ที่ไปจากรัฐบาลว่าทำอย่างนั้นหรือไม่ทำอย่างนี้ เพราะจะมีความเสี่ยงที่เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งอีก ฉะนั้น เอากระบวนการที่เป็นที่ยอมรับ สาระไปว่าตามกระบวนการนั้น เช่นเดียวกัน เรื่องความปรองดองที่จะดูแลความเป็นในเรื่องคดีความหรือกฎหมายต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะไปแทรกแซง แต่มีกลไกที่จะอำนวยความสะดวก และสร้างความมั่นใจมากขึ้น ว่า การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นไปโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมในภาพรวม และการให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งตอนนี้มีความคิดเพิ่มเติมเข้ามาอีก กำลังพิจารณากันอยู่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะถ้าไม่เรียบร้อยแล้วเสนอไป ก็จะมีการวิจารณ์กัน มันจะเป็นปมขัดแย้งได้

เมื่อถามว่า จะต้องคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้จุดยืนตรงกันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นสิทธิของเขา ในส่วนรัฐบาลมีจุดยืนของรัฐบาล ต้องยึดตามนโยบายรัฐบาล ในแนวทางปฏิรูปการเมือง ต่อข้อถามว่า ถ้าพรรคร่วมเอาด้วยจะเป็นปัญหาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าเสนอในนามพรรคการเมือง ก็เป็นดุลยพินิจของแต่ละพรรคการเมือง แต่ไม่ใช่กฎหมายของรัฐบาล และการดำเนินการในสภาต้องมาจบลงที่คณะกรรมการประสานงาน

ต่อข้อถามว่ามั่นใจว่า คุมเสียงพรรคร่วมได้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มั่นใจ ว่าพูดคุยกันรู้เรื่อง เพราะตนยังยืนยันและเชื่อว่าทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลในขณะนี้รู้ว่าเป้าหมายสำคัญคือการฟื้นเศรษฐกิจ และการไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง เมื่อถามว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์มาร่วมปฏิรูปการเมืองมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีเงื่อนไข มีแต่พูดกันถึงเรื่องปฏิรูปการเมือง ซึ่งเขียนไว้ในนโยบายรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่า จะทำให้ประชาชนสับสนหรือไม่ นายกฯพูดอย่าง แต่พรรคร่วมพูดอย่าง นายกฯ กล่าวว่า ต้องดูที่ผล และบทบาทของแต่ละฝ่าย รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ไปห้าม ส.ส.แต่รัฐบาลต้องสามารถบริหารราชการแผ่นดิน และกุมสภาพเสียงข้างมากในสภาได้ตามระบบ เมื่อถามว่าวันหนึ่งคุมเสียงข้างมากไม่ได้จะทำอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่เกิดขึ้น และมั่นใจว่า จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ด้วยเหตุผลไม่มีปัญหา เมื่อถามว่าในระยะเวลา 6 เดือนของรัฐบาล จะได้เห็นความคืบหน้าการปฏิรูปการเมืองและการตั้งคณะกรรมการเหล่านี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อีกตั้ง 5 เดือน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ถามว่า 6 เดือน เพราะคิดว่านานเกินไป ถ้าจะใช้เวลามากกว่านั้น นายกฯ กล่าวว่า คงไม่ทิ้งไว้ถึง 6 เดือน แต่ต้องยอมรับว่า 1.ความเร่งด่วนของเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน ขณะที่ว่าถ้าไม่เกิดขึ้นในช่วงวัน 2 วันนี้ สัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์นี้แล้วจะเสียหาย เราก็ดูภาพรวมของนโยบาย ในการสร้างบรรยากาศของเสถียรภาพในบ้านเมือง และจำกัดวงความขัดแย้ง 2.ไม่มีประโยชน์ที่จะรีบทำและในที่สุดไม่ได้แก้ปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น