การจัดโรดโชว์ประเทศไทย หรือ “Team Thailand Road Show 2009” ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดูจะเป็นพึ่งพอใจของคณะที่ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย
โดยเฉพาะ กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ที่เดินทางไปร่วมโรดโชว์อะเมซิ่งไทยแลนด์ เพื่อเชิญชวนให้นักธุรกิจท่องเที่ยวญี่ปุ่นสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทย
นางศิริพร มโนหาญ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยอมรับว่าไทยค่อนข้างพอใจต่อเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นอย่างมาก และเชื่อว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นในปี 2009 ให้ได้มากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 1.3 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังมีนโยบายจะสนับสนุนให้ประชากรของตนเดินทางท่องเที่ยวภายนอกประเทศให้ได้ 20 ล้านคนในปี 2010 ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยที่จะเก็บเกี่ยวรายได้จากการท่องเที่ยวได้เป็นกอบเป็นกำ
สำหรับแผนการจัดทำแคมเปญในปีนี้ การท่องเที่ยวฯวางไว้หลายรูปแบบ แต่ที่น่าสนใจคือ การดึงเอา ภาพลักษณ์ของ ความใหม่สด ของนายกรัฐมนตรี คนหนุ่มไฟแรงของไทยอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นพรีเซนเตอร์ โดยจัดทำเป็นสปอตโฆษณาเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆมาเที่ยวในประเทศไทย เชื่อว่าน่าจะดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังได้เสนอไอเดียให้ฟีฟ่ามาจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกในเมืองไทย ซึ่งจะเป็นการโปรโมตประเทศไทยได้อย่างดี ดูเหมือนหลายคนจะเห็นด้วย โดยรมว.การท่องเที่ยวฯเตรียมที่จะติดต่อสปอนเซอร์เพื่อมาสนับสนุนแผนการนี้ โดยเล็งเป้าไปที่ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่แห่ง ธุรกิจน้ำเมา คือ เบียร์ช้าง ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี และ เบียร์สิงห์ ของตระกูลภิรมย์ภักดี ก็ต้องรอลุ้นว่าไทยจะล็อบบี้ฟีฟ่าได้สำเร็จหรือไม่
หากจะมองในเนื้องานก็ถือว่าน่าสนใจ และควรให้การสนับสนุนเพื่อให้มีรายได้เข้ามาทำให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในบ้านเราได้
แต่ก็ไม่วาย ที่จะสังเกตเห็นถึงความขัดแย้งภายในของพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ได้อยู่ลึกๆ
เพราะ เป็นที่รู้กันดีว่า กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา เป็นกระทรวงที่พรรคชาติไทยพัฒนาของมังกรการเมืองอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา ยึดคุมมาหลายสมัย ถือเป็นกระทรวงที่อุดมไปด้วยงบประมาณ
แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจตรวจสอบการใช้งบเท่าไหร่ จึงถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สมบูรณ์พูนสุขของบรรดานักการเมืองได้เป็นอย่างดี
พลันที่ ครม.มีมติจัดงบด่วนกลางปี จำนวน 1.16 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รมว.การท่องเที่ยว ที่มีนายชุมพล นั่งกุมบังเหียน ได้เสนอตัวเลขสูงถึง 6,000 กว่าล้านบาท แต่สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์เฉือนแบ่งมาให้เพียง 550 ล้านบาท
จึงไม่แปลกใจ ที่จะเห็นบิ๊กเติ้งออกอาการไม่พอใจ
จนเมื่อรัฐมนตรีผู้น้องได้มีโอกาสมาร่วมคณะโรดโชว์ที่ ญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คลื่นการเมืองก็ปรากฏออกมาให้เห็นระลอกหนึ่ง ในระหว่างที่ นายกฯอภิสิทธิ์กำลังเดินสายเจรจาต่อรองกับนักธุรกิจญี่ปุ่น ทางฝ่ายบิ๊กเติ้ง ก็ออกมาให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนทำนองเรียกร้องให้เพิ่มงบให้กับกระทรวงท่องเที่ยว เพราะ550 ล้านบาทถือว่าน้อยไป แถมตอกย้ำถึงเบื้องหลังที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้แรงหนุนของพรรคชาติไทยพัฒนา สอดประสานกับรมว.ท่องเที่ยวฯที่พยายามล็อบบี้กลุ่มตัวแทนสมาคมนักธุรกิจผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ร่วมไปกับคณะ
กดดันการตัดสินใจของนายกฯ
ครั้งนี้ ดูเหมือนนายชุมพลจะ ไม่ค่อยปลื้ม กับการทำงานของ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ซักเท่าไหร่ เพราะจะเป็นคนที่คุมกระเป๋าเงินทั้งหมด
ในช่วงหนึ่งระหว่างที่รอเข้าพบนายกฯ มีเสียงวิจารณ์การทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ถึงความอืดในการจ่ายงบประมาณ ทำนองเชื่องช้า ยืดยาด ไม่ทันใจ เพราะสถานการณ์ในยามนี้ต้องเน้นการตัดสินใจรวดเร็ว และจ่ายงบออกไปให้เร็วที่สุด
“เวลานี้สถานการณ์ไม่ปกติ แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังมาห่วงแต่เรื่องว่าเงินจะรั่วไหลมันไม่ได้ เราต้องแอ๊กชั่นออกไปรวดเร็ว อันไหนจ่ายได้ต้องจ่าย อย่าติดยึดกับความคิดเก่าๆ เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ ไม่อย่างนั้นทุกคนก็ตายกันหมด”
นอกจากนี้ตัวแทนผู้ประกอบการยังชงเรื่องต่อ นายกฯอภิสิทธิ์ ขอให้จัดงบอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสถาบันเงินกู้ให้กับสถานประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว อย่าง พวกโรมแรม สปา ได้กู้เงินกับธนาคารของรัฐในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาให้มีคุณภาพ และสร้างสภาพคล่อง เพื่อให้สอดรับกับการโปรโมตของการท่องเที่ยว
แต่งานนี้ นายกฯอภิสิทธิ์เห็นว่า ในช่วงเศรษฐกิจอย่างนี้ สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำคือ การเอาเงินไปช่วยระดับรากหญ้า โดยตรง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด ดังนั้นหากไม่จำเป็น ก็ไม่ควรใช้จ่ายงบฟุ่มเฟือย
แต่อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพภายในก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐบาลผสม จึงไม่แปลกใจที่การประชุมครม.เมื่อวานนี้(10 ก.พ.) จึงได้อนุมัติงบเพิ่มให้กับกระทรวงการท่องเที่ยวไปอีก 1,000ล้านบาทตามคำเรียกร้อง แต่เงินส่วนนี้เป็นงบปกติไม่ใช่งบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชาติไทยฯต้องการ โดยอ้างว่าเบิกจ่ายได้ช้า
สำหรับงบก้อนโตอีก5,000ล้านบาท จะมีการดันเข้าพิจารณาในครม.เศรษฐกิจที่จะมีการประชุมกันในวันนี้(11ก.พ.)อีกครั้ง มีแนวโน้มว่าจะไม่น่ามีปัญหา
เพราะ มีการชี้แจงว่าแม้กระทรวงท่องเที่ยวฯจะไม่ได้รับงบประมาณไปโดยตรง แต่หลายโครงการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไปรวมอยู่ใน18 โครงการของงบกระตุ้นเศรษฐกิจในธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ SME แล้ว ต้องจับตามองการพิจารณาในที่ประชุมสภาในวาระ 2 และ3 ในวันนี้
งานนี้ ถือว่าน่าจะเป็นเรื่องทำให้พรรคชาติไทยพัฒนาพึงพอใจ และสามารถสยบกระแสคลื่นใต้น้ำไปได้ระยะหนึ่ง !