นายกรัฐมนตรี เตรียมบินเยือนญี่ปุ่น 5-7 ก.พ.นี้ เล็งสานสัมพันธ์แน่นแฟ้นกว่าเดิม ทั้งยังหอบความมั่นใจเสถียรภาพประเทศโชว์ พร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า ลงทุน หวังดึงนักลงทุน-นักท่องเที่ยว กลับคืน เผย หลังเจเทปป้ามีผลบังคับใช้ ทำท่องเที่ยว-ลงทุน บูมถึง 20 เปอร์เซ็นต์
วันนี้ (4 ก.พ.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาทำงาน (Working Visit) ระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ โดยนายกฯและคณะ ประกอบด้วย บุคคลระดับสูงภาครัฐ อาทิ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยวัตถุประสงค์ของการเยือนครั้งนี้ คือ 1.เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย 2.เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจและนักลงทุนของญี่ปุ่น ต่อศักยภาพของประเทศไทยและตลาดไทย 3.เพื่อเชื้อเชิญ เชิญชวนนักท่องเที่ยวของญี่ปุ่นให้เดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น 4.เพื่อแจ้งนโยบายของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งรายงานสถานการณ์ทางการเมืองของไทยแก่ชาวญี่ปุ่นและรัฐบาลญี่ปุ่น ว่า สถานการณ์ได้กลับสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
นายปณิธาน กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีในการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ คือ การกล่าวสุนทุรพจน์ในงานสัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวของประเทศไทย” โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ชี้แจงแนวทาง นโยบายในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศไทย ทั้งนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ของนโยบายในด้านการลงทุน และการท่องเที่ยว สำหรับการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นการพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศในรอบสองปี ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการเจรจาเพื่อสานต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่น และยังสามารถใช้โอกาสนี้แสดงภาวะผู้นำในฐานะประธานอาเซียนอีกด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการพบปะกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น โดยมีนักธุรกิจของญี่ปุ่นจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในภาคธุรกิจกลุ่มหนึ่งของญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศคู่ค้า คู่ลงทุน และคู่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของไทย โดยร้อยละ 35.89% ของการลงทุนต่างประเทศทั้งหมดของไทยมาจากนักลงทุนญี่ปุ่น และจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งหลักจากที่มีข้อตกลง JTEPA การค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นเกือบ 20% ซึ่งการเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจ และเน้นย้ำในศักยภาพของไทยแก่นักลงทุน