ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติไม่รับเรื่องกรณี “เรืองไกร” ยื่นสอบ 3 รัฐมนตรีลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ชี้ ไม่มีอำนาจ เตรียมตั้งอนุกรรมการสอบ “บุญจง” แจกเงิน ส่วนกรณีปลากระป๋องเน่า ของ “วิฑูรย์” เผยหลักฐานยังไม่พอ แต่กำลังรวบรวมข้อมูลสอบอยู่ เผย เตรียมประกาศราชกิจจาให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐให้คุณให้โทษได้
วันนี้ (5 ก.พ.) ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงผลการประชุม ว่า ตามที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ในการลงมติเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ปรากฏว่า มีรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกเสียงลงคะแนน จำนวน 3 คน คือ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา 177 วรรค 2 ตามแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ห้ามรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกเสียง ลงคะแนนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่ง การปฏิบัติหน้าที่หรือมีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น จึงขอให้ ป.ป.ช.สอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการออกเสียงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 177 วรรค 2 หรือไม่
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า คำกล่าวหาว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 คน มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ซึ่งกล่าวหาในลักษณะนี้จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ หมวด 12 ส่วนที่ 3 การถอนถอดจากตำแหน่ง กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน จะต้องเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ดังนั้น การที่ผู้กล่าวหามายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่มีอำนาจที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะดำเนินการต่อไปได้ ที่ประชุมจึงมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา
นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า ด้วยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือขอหารือเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ของตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่ามีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” มีฐานะเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ป.ป.ช.ได้พิจารณาอำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยรัฐมนตรี ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ.2546 กำหนดไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ในมิติด้านการเมือง ด้านกระทรวง ด้านต่างประเทศ หรือ ด้านข้าราชการ เห็นว่า เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตำแหน่งรัฐมนตรี และเป็นตำแหน่งที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่เอื้ออำนวยหรือแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเองหรือผู้อื่นได้โดยง่าย ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่ง “ผู้ช่วยรัฐมนตรี” เป็นตำแหน่งที่จะต้องแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 40 ให้นำความไปประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับต่อไป
นายกล้านรงค์ ยังกล่าวถึงกรณีบัญชีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2551 จำนวน 22 ราย ว่า ได้ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดจำนวน 21 ราย เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 1 ราย ส่วนด้านรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2551 จำนวน 36 รายว่าได้ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ภายในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนดจำนวน 34 รายเกินกว่าระยะเวลาที่กฏหมายกำหนด 2 ราย ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2551 จำนวน 7 ราย ได้ได้ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดครบแล้ว
อย่างไรก็ตาม กรณีของ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ส.ส.สัดส่วน ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2551 ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว ภายในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนด ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติเปิดเผยแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 12-26 ก.พ. 2552 ณ ห้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินสำนักงาน ป.ป.ช.อาคารธนภูมิ
นายกล้านรงค์ ยังกล่าวถึงกรณีของ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีผู้ยื่นคำกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.ในกรณี นายบุญจง และภรรยา ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกสภาจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ รายจ่ายงบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ไปแจกให้ประชาชนจำนวน 200 คน คนละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 1 แสนบาท โดยในการแจกเงิน นายบุญจง ยังได้แนบนามบัตรของตนเองไปกับสิ่งของและเงินด้วย ซึ่งเป็นการนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปใช้โดยทุจริต เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการกระทำความผิดโดยประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันนี้ เจ้าหน้าที่เจ้าของเรื่องได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบว่า ได้ตรวจพิจารณาคำกล่าวหาในเบื้องต้น เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลสมควรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่สรุปรายละเอียดข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและข้อพิจารณาเรียบร้อยแล้วอยู่ในระหว่างการเสนอให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.จัดเข้าระเบียบวาระการประชุมโดยคาดว่าจะ เรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระในวันอังคารที่ 10 ก.พ.ซึ่งทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็สามารถตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้ภายในวันเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของปลากระป๋องเน่า นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ นายวิฑูรย์ ได้ทำหนังสือให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบในความไม่โปร่งใสในการแจกถุงยังชีพ แต่ ป.ป.ช.เห็นว่า คำร้องดังกล่าวไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีการระบุชื่อของผู้ถูกกล่าวหา และพฤติกรรมการทุจริต โดยนายวิฑูรย์ ต้องทำเรื่องร้องเรียนมาใหม่ โดยระบุพฤติกรรมต่างให้ชัดเจน
เมื่อถามว่า ป.ป.ช.สามารถที่จะหยิบยกเรื่องการทุจริตมาตรวจสอบได้ แต่ทำไมกรณีนี้ถึงไม่ทำ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ป.ป.ช.ได้รอหนังสือของ นายวิฑูรย์ อยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ก็กำลังรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ พม.หรือกระทรวงสาธารณสุข หากพบว่ามีการทุจริตจริงทาง ป.ป.ช.ก็จะรับเรื่องดังกล่าวมาตรวจสอบ