xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อแม้ว” อีแอบ อภิปรายแขวะศาลในสภาฯ มันปาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุนัย จุลพงศธร
สภารับทราบรายงานศาลปกครอง “เพื่อแม้ว” ฉวยโอกาสมั่วข้อมูลอภิปรายแขวะศาลมันปาก “พีระพันธุ์ ” ทำซื่อ ไม่เข้าใจคดีเลือกตั้ง มีตัดสินกันหลายศาล ด้าน “สุนัย” เก็บเรื่องเดิมๆ มาจับแพะชนแกะ หาเรื่องด่าศาลซ้ำซาก งอแงเร่งศาลปกครองวินิจฉัยคดีย้ายอดีตปลัด มท.เด็กนายหญิง ให้เร็วเทียบเท่าคดีเขาวิหาร มั่วอีกให้คุ้มครองวิทยุชุมชน-ดีสเตชั่น เหมือนคุ้มครองเอเอสทีวี

ในการประชุมสภาราษฎร เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม วาระรับทราบรายงานการปฏิบัติงานของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองประจำปี 2550 มี ส.ส.อภิปรายเกี่ยวกับการทำงานของฝ่ายศาล อาทิ นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเป็นห่วงเรื่องความเชื่อมั่นของสถาบันฝ่ายยุติธรรม ที่วันนี้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไป ในที่สุดก็จะเกิดปัญหากับศาลเอง วันนี้ตนรู้สึกสับสนกับการทำหน้าที่ของศาล เช่น คดีเลือกตั้ง ตกลงเป็นอำนาจหน้าที่ของใครที่จะตัดสินคดี เพราะมีทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ตกลงใครมีอำนาจอย่างแท้จริง และใครเข้าไปก้าวก่าย

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ จะเกิดอันตรายกับ “ตุลาการภิวัฒน์” ในอนาคต หรือคดีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 7 ต.ค.51 และกรณีแถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลไทย-กัมพูชา กรณีไทยให้การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก ที่มีการยื่นร้องเรียนไปทั้ง 2 ศาล ซึ่งทั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีคำวินิจฉัย เช่นกัน นอกจากนี้กรณีแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ศาลปกครองได้มีคำสั่งระงับ แต่กรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปปา) ซึ่งเป็นองค์คณะเดียวกันกับกรณีแถลงการณ์ร่วม แต่ศาลปกครองมีคำตัดสินว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณา หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปสถาบันตุลาการจะเสื่อมลง และเกิดอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศในที่สุด

ทั้งนี้ คำอภิปรายของนายพีระพันธุ์ถือว่าคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะกรณีเจเทปปานั้น รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ลงนามเมื่อเดือนเมษายน 2550 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่กรณีเขาพระวิหารที่มีการลงนามในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 นั้น มีขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้แล้ว และมีมาตรา 190 ที่กำหนดให้การลงนามกับต่างประเทศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนฯ ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

ด้าน นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายโดยจับเอาเรื่องราวต่างๆ มาเชื่อมโยงกันเพื่อเหน็บแนมศาล โดยได้การกล่าวว่า ตุลาการภิวัฒน์ อยากให้แยกแยะว่าเป็นศาลประเภทอะไร เพราะทำให้สถาบันศาลเสียหายไปหมด ดังนั้นอยากถามมาตรฐานของศาล โดยเฉพาะกรณีอดีตภรรยานายกรัฐมนตรีไปประมูลซื้อที่ดินรัชดาแล้วมีความผิด ขณะที่อดีตนายกฯ อีกคนหนึ่งไปซื้อที่เขายายเที่ยงแต่ไม่มีความผิด อยากถามว่าอย่างนี้เรียกว่าตุลาการภิวิฒน์หรือไม่

เห็นได้ชัดว่าคำอภิปรายของนายสุนัยเข้าขั้นมั่ว เพราะกรณีที่ดินรัชดาฯ นั้นเป็นการซื้อที่ดินจากหน่วยงานของรัฐที่มีสามีของตนเองกำกับดูแลอยู่ แต่กรณีที่ดินเขายายเที่ยงไม่ได้เป็นการซื้อที่ดินจากหน่วยงานของรัฐ หากจะมีความผิดน่าจะเป็นข้อหาบุกรุกมากกว่า

นายสุนัยยังอภิปรายเชื่อมโยงแบบจับแพะชนแกะอีกว่า กรณีที่อดีตนายกฯ ทำกับข้าวมีความผิด แต่คนหนีทหารกลับไม่มีความผิด ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย ส่วนคดีประสาทเขาพระวิหาร ศาลปกครองตัดสินคดีเร็วมาก และตัดสินในเวลาตีสอง ทั้งที่มีคดีอีกมากกลับไม่เร่งดำเนินการ อยากถามว่าเป็นตุลาการภิวัฒน์หรือไม่ สถาบันตุลาการนั้นละเอียดอ่อน อย่าไปเรียกกันเละเทะ ตนรู้จักตุลาการศาลปกครอง ส่วนใหญ่มีความรู้ความสามารถ แต่อ่อนด้อยทางการเมือง ทำให้ถูกตกเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม เป็นเรื่องอันตราย

นายสุนัยยังได้อภิปรายว่า อยากให้ศาลปกครองวินิจฉัยคดีกรณีมีคำสั่งคุ้มครองชั่วการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี มาดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกับวิทยุชุมชน และดีสเตชั่น ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ซึ่งอยากให้ดำเนินการเท่าเทียมกัน และขณะเดียวกันพบว่ามีการแทรกแซงการทำงานของสื่อที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจึงอยากให้กระบวนการยุติธรรมเข้ามามีบทบาทให้เสรีภาพกับสื่อซึ่งจะสามารถเป็นตัวร่วมพัฒนาประชาธิปไตย

คำอภิปรายของนายสุนัยช่วงนี้ก็คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเช่นกัน เพราะขณะนี้ศาลไม่ได้คุ้มครองชั่วคราวเอเอสทีวีแล้ว แต่ได้ตัดสินให้ชนะคดีตั้งแต่ต้นปี 2551 พร้อมกับสั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ชดใช้ค่าเสียหายที่สั่งตัดสัญญาณดาวเทียมรถโอบีของเอเอสทีวี นอกจากนี้ การเรียกร้องให้ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับวิทยุชุมชนและดีทีวี ให้เหมือนกับกรณีเอเอสทีวีนั้น แสดงว่านายสุนัยไม่เข้าใจกระบวนการศาลปกครอง เพราะหากจะให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง ทางสถานีวิทยุหรือดีทีวีต้องถูกสั่งห้ามออกอากาศก่อนแล้วค่อยไปยื่นขอความคุ้มครองจากศาลฯ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ให้ศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองทันที และกรณีที่นายสุนัยอ้างว่ามีการแทรกแซงการทำงานของสื่อที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนั้น ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนก็มีปัญหานี้และหนักกว่ายุครัฐบาลปัจจุบัน แต่นายสุนัยก็ไม่เคยพูดเรื่องนี้ นอกจากนี้โดยข้อเท็จจริงก็ยังเห็นสื่อมวลชนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เป็นปกติ ไม่มีการสั่งห้ามการออกอากาศรายการใด ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้าไปจัดการกับวิทยุชุมชนนั้น เป้าหมายอยู่ที่สถานีที่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น ไม่ใช่สถานที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

นายสุนัย ยังกล่าวอีกว่า ในการตัดสินคดีของคดีเขาพระวิหาร ของศาลปกครองรู้สึกทำเร็วมาก ขนาดกลุ่มพันธมิตรชุมนุมอยู่ยังรู้ก่อนเลย ตนคิดว่าศาลปกครองแยกหน้าที่ของตนเองไม่ออกว่าผลประโยชน์ของมหาชน และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ซึ่งอยากให้การรีบตัดสินคดีโยกย้ายปลัดมหาดไทย(นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์)ที่ไม่มีความเป็นธรรม

ทั้งนี้ กรณีศาลปกครองตัดสินคดีเขาพระวิหารที่ทำอย่างรวดเร็วนั้น นายสุนัยไม่ได้กล่าวถึงเงื่อนไขเวลาที่จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ซึ่งศาลปกครองจะต้องเร่งตัดสินให้เสร็จทันเวลา ขณะที่คดีของอดีตปลัดมหาดไทย เพิ่งจะยื่นไม่กี่วันนี้ และไม่มีเงื่อนเวลาที่จะต้องเร่งรีบ คำอภิปรายของนายสุนัยจึงเป็นการละเลยข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดการเข้าใจผิดว่าศาลปกครองเลือกปฏิบัติ

ต่อมา นายสุชาติ เวโรจน์ เลขาธิการศาลปกครอง ได้ชี้แจงว่า เรื่องที่มีการอภิปรายเรื่องตุลาการภิวัฒน์ และเรื่องที่ศาลเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้น ตนคงไม่ขอไปก้าวล่วง หรือไปวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของศาล ซึ่งการที่ใครจะวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของศาลนั้นทำได้ในเชิงวิชาการ ซึ่งปกติในสังคมประชาธิปไตย เมื่อมีองค์กรใดมีหน้าที่ชี้ขาด ก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนพอใจในคำตัดสิน ซึ่งศาลปกครองก็ยอมรับ ซึ่งคำตัดสินก็มีเหตุและผลในคำพิพากษาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามตนขอยืนยันว่าไม่มีการแทรกแซงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในศาล

ส่วนที่มีการอภิปรายในเรื่องความล่าช้าในการพิจารณาคดีนั้น ระหว่างความรวดเร็วและความเป็นธรรม เรายึดเรื่องความเป็นธรรมมากกว่า แต่ก็แน่นอนว่าถ้าทำได้ทั้งให้ความเป็นธรรมและให้ความรวดเร็วก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ส่วนสาเหตุของความล่าช้าก็มาจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเหตุแห่งคดีที่ซับซ้อน หรือเรื่องความล่าช้าของคู่ความเอง ส่วนปัจจัยภายในซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาลนั้นก็พอที่จะแก้ไขได้ อย่างคนไม่พอก็พยายามทำให้พอ ไม่ว่าจะเป็นคณะตุลาการและนักกฎหมาย โดยในปี 2554 ก็จะมีตุลาการของศาลปกครองมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น