xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อแม้ว” เสนอญัตติด่วนถอด 3 รมต.ยกมือผ่านงบ-“อภิวันท์” ปัดรับแนะยื่นศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ
“เพื่อไทย” เดินเกมป่วนรัฐบาลมาร์คทุกทาง เสนอญัตติด่วน ถอดถอน 3 รมต.ฐานโหวตรับร่างงบกลางปี อ้างขัด รธน.มาตรา 177 เพราะมีส่วนได้เสีย “เชาวริน” คลั่งหนัก ด่ากราดคนเขียนรัฐธรรมนูญ 50 ทำการเมืองอ่อนแอ สาปส่งให้ลงนรก ด้าน ปชป.แฉกลับสมัย “หมัก” มี รมต.โหวตเพียบ ขณะที่ “อภิวันท์” ปัดรับเป็นญัตติด่วน แนะให้ยื่นศาล รธน.ดีกว่า

วันที่ 29 ม.ค.นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจากลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า มีรัฐมนตรี 3 คน ลงคะแนนในมติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปีงบประมาณ 2552 คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม และ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม ถือว่า มีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 177 ที่ว่าจะลงมติใดๆ ที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้ จึงขอเสนอญัตติเป็นเรื่องด่วน เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา

ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวสนับสนุนว่า ส.ส.สามารถเข้าชื่อจำนวนหนึ่งในสี่ เพื่อขอให้วุฒิสภาเพื่อถอดถอนรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ออกจากตำแหน่ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนได้พบกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ แล้ว ว่า ขอทำหน้าที่ แต่นายสุเทพ บอกว่า สมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ก็คงทำเหมือนกัน ขอให้กลับไปตรวจสอบได้เลย เพราะสมัยรัฐบาลสมัคร ถูกสั่งห้ามไม่ให้ลงคะแนน โดยเฉพาะประธานสภาขณะนั้น นายชัย ชิดชอบ ก็ได้กำชับรัฐมนตรีทุกคนว่าอย่าลงคะแนน แต่ทำไมตอนนี้ นายชัย จึงไม่อบรมรัฐมนตรีชุดนี้ หรือว่าเป็นไส้ศึกแกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้ ขอให้ นายสุเทพ ไปตรวจสอบย้อนหลังได้เลย แต่ตนจะเดินหน้าฆ่าลูกเดียว ซึ่งรัฐธรรมนูญมีปัญหา จะต้องแก้ไข เพราะมาจากเผด็จการ ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติ เป็นผู้รับสนอง เพื่อทำให้การเมืองอ่อนแอ

“ผมขอส่งคำสาปแช่งคนเขียนรัฐธรรมนูญ ว่า จงใจวางกับดักให้บ้านเมืองวิกฤต สับสน การเมืองถึงทางตัน ใครแสดงความโหดร้ายบรรจุตัวอักษรลงในรัฐธรรมนูญขอสาปส่งให้ลงนรกต่ำกว่าใต้ทุนเทวทัต”

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวแย้งว่า การเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาไม่น่าจะทำได้ในที่ประชุมแห่งนี้ แต่เท่าที่ตรวจสอบในสมัยรัฐบาล นายสมัคร ก็มีรัฐมนตรีหลายคนที่เป็น ส.ส.ได้ลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 เหมือนกัน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายธีรชัย แสนแก้ว พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นต้น และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้กำหนดให้รัฐมนตรีสามารถทำหน้าที่ ส.ส.ในขณะเดียวกันได้ ดังนั้น ตนคิดว่ารัฐมนตรีก็สามารถลงมติในสถานะ ส.ส.ได้เช่นกัน และอยากให้มองอย่างใจกว้าง แต่หากสงสัยว่ารัฐมนตรีทำหน้าที่ส่อว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญหรือส่งให้ตีความได้

ด้าน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้ ก็ไม่มีงบของกระทรวงยุติธรรมเลย ดังนั้น ตนจึงไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงในการลงมติครั้งนี้เลย

ส่วน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า การเสนอของฝ่ายค้านยังไม่ได้รับเป็นญัตติด่วน และสภาไม่มีหน้าที่ในการพิจารณาในเรื่องนี้ แต่ตนได้ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 46(7) เปิดให้สมาชิกหารือเพราะต้องการให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นเพื่อหาบรรทัดฐานในเรื่องนี้ เพราะเท่าที่ดูตนคิดการห้ามรัฐมนตรีลงมติในมาตรา 177 น่าจะเป็นกรณีของญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่า แต่เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของสภา แต่เป็นเรื่องขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากฝ่ายค้านต้องการให้เรื่องนี้มีความชัดเจน และเป็นบรรทัดฐานต่อไปก็ควรจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือยื่นถอดถอนเรื่องต่างๆ จะได้ยุติ

อดีต กมธ.ยกร่างฯ ชี้ ส.ว.เป็นผู้ตีความ-จวกจ้องแต่จะเล่นเกมการเมือง

นายศรีราชา เจริญพานิช อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2551 กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีบางคนลงคะแนนเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 2552 ซึ่งอาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 177 ว่า ทั้งหมดอยู่ที่การตีความของสมาชิกวุฒิสภาที่มีหน้าที่ในการพิจารณา หากตีความเข้าข่ายกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญก็สามารถถอดถอนรัฐมนตรีได้ทันที แต่หากไม่สามารถตีความสรุปได้ก็ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เจตนาของผู้ออกกฎหมายนั้นก็เพื่อไม่ต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่เป็นฝ่ายบริหารร่วมลงคะแนนที่เป็นประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสีย

“วัฒนธรรมของนักการเมืองที่มีมาในอดีต ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครโหวตลงคะแนนเพราะเป็นการตัดปัญหาในข้อกฎหมายว่าจะเข้าข่ายขัดมาตรา 177 เนื่องจากมีโทษถึงขั้นถอดถอนจากตำแหน่ง และไม่ทราบว่าใครจะตีรวน อีกทั้งการไม่ลงคะแนนนั้นยังเป็นการปกป้องตัวเองไม่ให้เสี่ยงกับปัญหาที่จะตามมาด้วย แต่ถ้าใครเผลอลงคะแนนอาจทำให้อีกฝ่ายนำข้อกฎหมายมาเล่นงานได้” นายศรีราชา กล่าว

นายศรีราชา กล่าวด้วยว่า ตนได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมาโดย ตลอดพบว่าขณะนี้เหล่านักการเมืองเล่นเกมการเมืองมากเกินไป อภิปรายก็มุ่งหวังแค่จะเอาชนะ หากทุกฝ่ายต่างหวังจะชนะทุกเรื่องการประชุมรัฐสภาก็ถือว่าเสียเวลาเปล่าและยังทำให้การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่มีความคืบหน้าอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น