xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบ ร่าง กม.ห้ามยึดสุวรรณภูมิ เจ้ากระทรวงอำนาจล้น แต่โทษเบาหวิว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร
รบ.คลอดร่าง พ.ร.บ.ป้องกันยึดสุวรรณภูมิ ติดดาบ รมว.คมนาคม ใช้อำนาจได้เต็มที่ เปิดช่อง รปภ.ตีม็อบ หรือตั้งหน่วยงานพิเศษดูแล โทษหนักสุดปรับแค่ 1 หมื่นเบาสุด 500 “ปณิธาน” ไฟเขียวสื่อวิจารณ์เต็มที่ ย้ำเป็นหนึ่งในนโยบายเรียกความเชื่อมั่น ชี้ ยังเป็นแค่ต้นร่างปลายทางอาจเป็นคนละเรื่อง ยก พ.ร.บ.ความมั่นคง เป็นตัวอย่าง

วันนี้ (28 ม.ค.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้อนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ... ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนที่จะส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยมีการรับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาด้วย ก่อนที่จะนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป พร้อมกันนี้ ครม.ยังได้รับทราบมาตรการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางกระทรวงคมนาคม เสนอว่า 1.กรณีสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ในระหว่างวันที่ 26 พ.ย.-5 ธ.ค.2551 ทำให้ภาคการขนส่งทางอากาศของประเทศต้องหยุดชะงัก การให้บริการของผู้ประกอบกิจการด้านการขนส่งทางอากาศขาดทุน มีผู้โดยสารและสินค้าจำนวนมากติดค้างอยู่ภายในประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และภาพลักษณ์อันดีของประเทศ จำเป็นต้องกำหนดมาตรการหรือแนวทางการรักษาความปลอดภัยหรือการป้องกัน กรณีที่เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวหรือเหตุอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ของผู้โดยสารและท่าอากาศยาน จึงได้ตรากฎหมายพิเศษขึ้นโดยการเสนอพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อกำหนดมาตรการดำเนินการสำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นการเฉพาะ เพื่อให้อำนาจพนักงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นในเขตท่าอากาศยานได้

2.เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กระทรวงคมนาคม จึงได้เสนอมาตรการการรักษาความปลอดภัยเพื่อใช้กับท่าอากาศยานทุกแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบมา เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวเดียวกัน จึงได้เสนอได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมาตรการรักษาความปลอดภัยดังกล่าว มาเพื่อพิจารณาดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญดังนี้ 1.กำหนดบทนิยาม “ท่าอากาศยาน” “พนักงาน” “ลูกจ้าง” และ “เจ้าพนักงาน” 2.กำหนดให้ รมว.คมนาคม รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดเขตท่าอากาศยานการควบคุม การปรับปรุง และการให้ความสะดวกความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัย แก่กิจการท่าอากาศยาน รวมทั้งออกประกาศเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานแก่กิจการท่าอากาศยาน

3.กำหนดให้ประธานกรรมการและกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าพนักงานและให้เจ้าพนักงานมีอำนาจในการควบคุมผู้กระทำความผิด ตามที่กฎหมายกำหนด ในเขตท่าอากาศยาน ควบคุมและมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมาย อาญา และเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

4.กำหนดให้พนักงานหรือบุคคลที่พนักงานมอบหมายมีอำนาจดำเนินการเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับ คณะกรรมการการบินพลเรือน และ 5.กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือข้อบังคับของคณะกรรมการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยแก่กิจการท่าอากาศยานตามกฎหมายนี้ ต้องระวังโทษปรับ ตั้งแต่ 500-10,000 บาท ความผิดตามมาตรานี้ ให้เจ้าพนักงานที่ทำการควบคุมตัวหรือจับ นำตัวผู้ถูกจับส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจโดยทันทีและไม่เกิน 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ในเรื่องของมาตรการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรภูมิได้กำหนดไว้ 2 ระดับ 1.มาตรการเร่งด่วน จัดตั้งด่าน เพื่อตรวจตรา และป้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องตามเส้นทางเข้าออกท่าอากาศยาน 2.มาตรการต่อเนื่องในระยะยาว จัดตั้งจุดตรวจสอบถาวร สำหรับการตรวจสอบบุคคลที่จะเดินทางก่อนเข้าสู่ท่าอากาศยาน การวางแผน การฝึกซ้อมตามแผนรองรับ ภาวะฉุกเฉินของท่าอากาศยาน และจัดตั้งศูนย์เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม.ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ในเรื่องนี้เป็นการกำหนดมาตรการในการรักษาความปลอดภัยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ครอบคลุมถึงท่าอากาศยานกรุงเทพ และท่าอากาศยานอื่นที่อยู่ในความดูแลของบริษัทการท่าฯ สมควรที่จะบัญญัติในลักษณะให้เป็นกฎหมายกลางเพื่อกำหนดให้ รมว.คมนาคม มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ซึ่งได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เพื่อที่จะให้ร่างกฎหมายนี้สามารถปรับใช้ได้กับมาตรการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานอื่นได้ด้วย

“นี่เป็นหนึ่งในมาตรการเรียกความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ เราจะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีเวลาไปไหนก็จะมีคนถามเสมอว่ามาตรการในการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยานจะเป็นอย่างไร ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.) นายกฯจะเดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็จะมีการเรื่องนี้อีกและหลังจากนั้น ก็จะไปประเทศญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นกังวลมาก เราก็จะไปตอบคำถามเขาว่าขณะนี้มาตรการทางฝ่ายบริหารได้สั่งการให้เตรียมรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งระยะกลางระยะยาวก็อาจจะมีกฎหมายพิเศษออกมาถ้าหากว่าสภาเห็นชอบหลังจากกฤษฎีกาตรวจรายละเอียดแล้ว อันนี้จะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างดี” นายปณิธาน กล่าว

เมื่อถามว่า ในส่วนของท่าอากาศยานหรือสนานบินอื่นจะมีการออกกฎหมายด้วยหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า มีการพูดคุยเหมือนกันว่าจะพิจารณาถึงสนามบินนานาชาติ หรือว่าสนามบินทุกแห่งหรือไม่ ก็มีการตั้งข้อสังเกตุและรับไปพิจารณาดูเพิ่มเติมหลังจากที่รูปแบบของสนามบินสุวรรณภูมิมาแล้ว เมื่อถามว่าทำไมไม่ออกกฎหมายที่ดูแลทุกสนามบินได้ในคราวเดียวจะได้ไม่ต้องเสียเวลา นายปณิธาน กล่าวย้ำว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอาศยานที่สำคัญที่สุดของเรา ฉะนั้น จึงให้น้ำหนักในการดูแลเป็นเรื่องเฉพาะ แต่ก็มีการถกเถียงกันว่าจะให้ครอบคลุมทุกสนามบินหรือไม่ แต่ทั้งนี้แต่ละแห่งมีลักษณะของตัวเองที่มีกฎหมายปกติรองรับอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า พ.ร.บ.ได้มีการร่างหลังจากการปิดสนามบินหรือร่างไว้อยู่แล้ว นายปณิธาน กล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามารับตำแหน่งก็มีการพูดเรื่องนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสร้างความเชื่อมั่นก็คือต้องการรักษาความสงบและความปลอดภัยของสนามบิน

“แต่ว่าในเชิงวิชาการผมเชื่อว่า สนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ เป็นที่กังวลของทุกประเทศอยู่แล้วอย่างที่เราเห็น แต่ว่าของเราเองเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาก็มีการพูดเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรก แต่ทั้งนี้การปิดสนามบินมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนหลายอย่าง อย่างที่เราเห็นก็มีเงื่อนไขทางการเมือง มีเงื่อนไขของการละเมิดกฎหมายบ้านเมืองหลายฉบับ คิดง่ายๆ คือเป็นคดีธรรมดาก็เป็น เป็นคดีการเมืองก็เป็น” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวอีกว่า เบื้องต้นมาตรการทางการบริหารได้สั่งการไปแล้ว คือ ให้มีการกวดขันดูแลความเรียบร้อยปลอดภัยมากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งนายกฯได้สั่ง รมว.คมนาคม ไปแล้ว แต่มาตรการนอกเหนือจากนั้นอย่างเช่น จะต้องให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานในสนามบินแต่ละแห่งมีอำนาจพิเศษในการป้องกันตัวเองโดยมีอำนาจในการปฏิบัติการบางอย่างก็กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าจำเป็นที่จะต้องมีอำนาจพิเศษ เป็นเจ้าหน้าที่พนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ในพื้นที่ของเขาเอง โดยที่ต้องมีศูนย์ประสานงานกับหน่วยงานอื่นนอกสนามบินก่อนที่จะมีการบุกเข้ามายึดสนามบิน

“หมายความในการทำงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสนามบินก็จะมีเครื่องมือทางกฎหมายของตนเองในสนามบินในพื้นที่ที่กำหนด แต่นอกสนามบินก็ต้องขึ้นอยู่กับบ้านเมืองและหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง เพราะถ้าจำได้หลาย พ.ร.บ.รับหลักการ แต่พอออกมาตอนปลายแทบจำไม่ได้เลยว่าต้นร่างกับปลายร่างเป็นอย่างไร อาทิ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่หน้าตาตอนเข้าและตอนออกต่างคนละเรื่องเลย รวมทั้งโทษปรับแค่ 500 บาทนั้นก็สามารถเขียนข่าววิพากษ์วิจารณ์กันได้เผื่อร่างใหม่จะได้ใส่ศูนย์ไปอีกหลายตัว แต่คิดว่านั่นอาจจะเป็นแค่มาตรฐานพื้นฐานเท่านั้น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ตาม พ.ร.บ.อาจจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่เพื่อดูแล เพราะถ้าให้ รปภ.ดูแลคงดูแลไม่ได้เพราะไม่สามารถจับใครได้ ดังนั้น จึงต้องตั้งทีมขึ้นมาใหม่เพื่อมาดูแลโดยเฉพาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น