xs
xsm
sm
md
lg

วิปรัฐบาลตื่นออกกฎเข้มกันสภาล่มซ้ำแบ่ง 35 ทีมคุม ส.ส.1 ต่อ 5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินวรณ์ บุญเกียรติ
วิปรัฐบาลประชุมมาราธอน หามาตรการรับมือสภาล่ม ตั้ง 35 ทีมจากทุกพรรคคุม ส.ส.1 ต่อ 5 พร้อมตั้งศูนย์บัญชาการประเมินสถานการณ์ทุกระยะ ขณะเดียวกัน ยังใช้เครื่องมือสื่อสารทางโทรศัพท์เรียกประชุมในช่วงฉุกเฉินได้ทันท่วงที ขอความร่วมมือห้ามลงพื้นที่ช่วงประชุมวันพุธ-พฤหัสบดี

วันนี้ (23 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 10.00 น.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นประธานการประชุมวิปรัฐบาลนัดพิเศษ ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อวิเคราะห์และกำหนดมาตรการภายหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สภาล่มกลางคัน เพราะฝ่ายค้านขอนับองค์ประชุมถึง 2 วันติดต่อกัน ทั้งนี้ วิปรัฐบาลใช้เวลาในการประชุมนานถึง 5 ชั่วโมง

นายชินวรณ์ แถลงผลการประชุมว่า เหตุการณ์สภาล่มทางวิปรัฐบาล เห็นว่า เป็นความรับผิดชอบของพวกเรา ในฐานะที่เป็นเสียงข้างมากที่จะต้องมาช่วยกันหามาตรการในการที่จะทำให้องค์ประชุมมีความพร้อมเพรียง เราก็อยากจะขอร้องไปยังเพื่อนสมาชิกฝ่ายค้านบางส่วน ที่เห็นว่า การตรวจสอบองค์ประชุมเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน แต่ถ้ามีการนับองค์ประชุมที่ไม่อยู่ในวาระที่มีความจำเป็นก็อาจจะทำให้ถูกมองได้ว่าเป็นการป่วนสภา ซึ่งวิปรัฐบาลไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น จึงเห็นว่า การประชุมที่ล่มไปอาจจะเป็นความชะล่าใจของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ที่เกือบจะเป็นวาระสุดท้ายแล้ว และเป็นวาะในเรื่องรับทราบ โดยปกติถ้าวาระดังกล่าวก็จะไม่มีการตรวจสอบองค์ประชุม

นายชินวรณ์ กล่าวว่า การตรวจสอบองค์ประชุมจะดำเนินการก็ต่อเมื่อมีการเริ่มเปิดการประชุมหรือไม่ก็ฝ่ายค้านอาจจะไม่เห็นด้วยกับการเสนอกฎหมายหรือพิจารณากฎหมายที่สำคัญของฝ่ายรัฐบาล ก็อาจจะประท้วงด้วยการนับองค์ประชุม

“เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ทางฝ่ายวิปรัฐบาลได้มาตระหนักร่วมกันว่าต่อไปเราต้องร่วมทำงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อที่จะให้องค์ประชุมมีความพร้อมเพรียงและให้งานในสภาเดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นายชินวรณ์ กล่าว

ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมจึงมีมติในการที่จะมอบหมายตัวบุคคลให้ร่วมกันดำเนินการในทางการเมือง หลังจากมิการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แล้ว มาร่วมกันทำงานโดยเฉพาะในเรื่องของการประสานงานทางด้านการเมือง ได้มอบหมายให้รองประธานวิป ซึ่งเป็นตัวแทนของทุกพรรคเป็นคณะทำงานประสานงานทางด้านการเมือง ประกอบด้วย นายวิรัช กัลยาศิริ นายอัศวิน วิภูศิริ นายปัญญา ศรีปัญญา นายแพทย์อลงกต มณีกาศ นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ นายภิรม พลพิเศษ และ นายสุวโรช พะลัง และนายสุธรรม ระหงษ์ เป็นฝ่ายเลขานุการ

นอกจากนี้ ในส่วนของคณะทำงานด้านกฎหมาย จะมี นายทิวา เงินยวง นายธนา ชีรวินิจ นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ฯลฯ ส่วนคณะทำงานด้านการควบคุมเสียง ซึ่งเรามีมาตรการพิเศษที่จะทำให้การควบคุมเสียงในสภา หรือวิปในสภานั้นได้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า เราได้มีการกำหนดคณะทำงานเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่วนที่เรียกว่าประสานงานกลาง ซึ่งจะมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ คือ นายธนิตพล ไชยอานันท์ นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ เป็นผู้ประสานงานกับฝ่ายเลขานุการ เพื่อเตรียมในเรื่องของการสื่อสารข้อมูล ตลอดจนการใช้อิเลกทรอนิกส์ เช่น การใช้โทรศัพท์ การใช้ SMS เพื่อติดตามตัว ส.ส.และติดต่อกับ ส.ส.เพื่อให้รู้สถานการณ์ในทางการเมืองในแต่ละช่วงอย่างชัดเจน

ประธานวิป กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น เราจะมีตัวแทนของวิป เพื่อที่จะควบคุมเสียงในอัตราส่วน 1 คนต่อ 5 คนของทุกพรรค แต่ละคนที่จะควบคุมเสียงนั้น จะต้องมีรายละเอียดของเพื่อน ส.ส.ที่อยู่ในการประสานงานอย่างชัดเจนของทุกพรรคและวันจันทร์นี้ (26 ม.ค.) ให้หัวหน้าผู้ควบคุมเสียงดังกล่าว ซึ่งเราจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ รวมทั้งหมดประมาณ 35 กลุ่มของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยหัวหน้ากลุ่มจะต้องประสานงาน เพื่อให้ ส.ส.ได้มาร่วมร่วมกันทำงานในสภาอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับทราบความเคลื่อนไหวสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อหัวหน้ากลุ่มประสานงานแล้ว ก็ส่งข้อมูลมารวมกันที่ศูนย์ประสานงานกลาง หลังจากนั้น ศูนย์ประสานงานกลางก็จะได้ประสานข้อมูลมายังคณะกรรมการประสานงานด้านการเมือง เพื่อที่จะให้ประธานวิปรัฐบาลได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตัดสินใจในสถานการณ์ทางการเมือง ตลอดจนใช้สำหรับการประสานกับ ครม.และกับสภาผู้แทนฯด้วย

“ผมคิดว่า มาตรการนี้จะเป็นมาตรการเชิงสร้างสรรค์ ที่ทำให้เพื่อนทั้งหลายได้ตระหนักในหน้าที่ว่า ในฐานะเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเราต้องรับผิดชอบในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของรัฐบาลด้วย และผมคิดว่าถ้า ส.ส.ท่านไม่ดำเนินการตามมาตรการหรือไม่ ให้ความร่วมมือตามมาตรการดังกล่าวนี้ ทางวิปก็จะได้ประสานไปทางหัวหน้าพรรค เพื่อติดตามการทำงานของเพื่อน ส.ส.ของเราได้มีประสิทธิภาพต่อไป แต่ผมคิดว่ามาตรการนี้คงไม่เกิดขึ้น ผมยังเชื่อมั่นว่า ส.ส.ทุกคนยังมีศักยภาพที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายชินวรณ์ กล่าว

ประธานวิป กล่าวต่อว่า การประชุมสภาต่อไปจะเน้นเรื่องการเปิดสื่อสาธารณะให้ประชาชนได้รับความชัดเจนดูว่าใครเล่นเกมในสภา ใครขาดประชุมก็จะได้เห็นกัน เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ข่าวสาธารณะ นอกจากนี้ ในทุกวันพุธ-พฤหัสฯ หน้าที่ของ ส.ส.คือ การมาร่วมประชุมในสภา ดังนั้น งานในพื้นที่ไม่ควรจะมี หากใครอยู่ในพื้นที่ถือว่าโดดประชุมสภาไป ตรงนี้ก็อยากจะให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบไว้ด้วย เป็นมาตรการหนึ่งที่จะควบคุมได้

นายชินวรณ์ กล่าวว่า ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 26-27 ม.ค.เพื่อพิจารณากรอบความร่วมมือของอาเซียนได้มีทบทวนเวลาในการอภิปราย โดยแบ่งเป็นรัฐมนตรีเสนอ และชี้แจง 4 ชั่วโมง รัฐบาล 5 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 9 ชั่วโมง และวุฒิสภา 7 ชั่วโมง โดยสำหรับการอภิปรายของฝ่ายรัฐบาลก็ได้วางหลัก ว่า การพิจารณากรอบข้อตกลงอาเซียนนั้น เป็นเรื่องที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญกับประเทศชาติบ้านเมือง เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของต่างชาติ

“และจากการประชุมร่วมกันของวิปทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ได้ข้อสรุปชัดเจนในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยกำหนดกรอบเวลาและกระบวนการพิจารณา โดยให้มีการเลื่อนกรอบพิจารณาการเจรจาข้อตกลงอาเซียนขึ้นมาพิจารณาก่อนตั้งแต่วาระที่ 2-21 หลังจากนั้น จะเสนอให้ที่ประชุมขอให้รวมพิจารณาแต่ละวาระรวมกัน โดยให้นำรวมวาระแต่ละกระทรวงรวมเป็นกลุ่มเพื่อใช้ในการอภิปราย เพื่อสะดวกสำหรับเพื่อนสมาชิกที่จะอภิปราย และเป็นประโยชน์กับ ครม.ที่จะได้ชี้แจง นอกจากนี้ จะขอให้รัฐสภาได้พิจารณาเพื่อให้มีการลงมติเป็นรายมาตราตามข้อบังคับข้อ 47(4)” นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า

ประธานวิปรัฐบาล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมวิปยังได้พิจารณากรอบเวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2552 โดยกำหนดให้มีการอภิปรายวันที่ 28-29 ม.ค.โดยวันที่ 28 จะเริ่มประชุมในเวลา 13.30 น.และวันถัดมาประชุมในเวลา 09.30 น.ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลา 2 วันรวมกัน คือ 24 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกับวิปฝ่ายค้านไว้แล้วในเรื่องของการกำหนดกรอบเวลาการอภิปราย โดยแบ่งให้ ครม.เสนอร่างและชี้แจง 4 ชั่วโมง ส.ส.รัฐบาล 8 ชั่วโมง และ ส.ส.ฝ่ายค้าน 12 ชั่วโมง

เมื่อถามว่าวาระ 1 คือ เรื่องของการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คปพช.เลื่อนออกไปก่อนใช่หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า วาระเรื่องรัฐธรรมนูญของ คปพช.ที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ได้กำหนดไว้เดิม แต่เรามีกรอบเวลาในเรื่องกรอบข้อตกลงอาเซียนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าเพราะต้องนำไปดำเนินการในการประชุม จึงขอเลื่อนกรอบอาเซียนขึ้นมาพิจารณาก่อน

เมื่อถามว่า เมื่อแบ่ง 35 ทีมแล้ว หากสภาล่มอีก ใครจะรับผิดชอบ และมีบทลงโทษที่ชัดเจนอย่างไร นายชินวรณ์ กล่าวว่า ส.ส.ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งองค์ประชุมเป็นความรับผิดชอบของเสียงข้างมาก แต่ ส.ส.ในฐานะเป็นตัวแทนของปวงชน ถือเป็นด่านแรกที่ถูกทดสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งตนเห็นว่า เข้าสภามากันเยอะ แต่เมื่อเข้ามาแล้วแต่ยังอยู่ในสภาไม่ได้ครบ 2 วันก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

เมื่อถามว่า แล้วในส่วนของ ส.ส.ซีกรัฐบาลที่ไม่อยู่ในช่วงขานชื่อจะดำเนินการอย่างไร นายชินวรณ์ กล่าวว่า ได้ประสานกันแล้ว ส่วนใหญ่ ส.ส.ที่ขานชื่อไม่ทัน เพราะชะล่าใจว่าไม่น่าจะมีการตรวจสอบองค์ประชุมในช่วงดังกล่าว ฉะนั้น ไม่มีเจตนาที่จะขาดประชุม ดังนั้น ต้องให้โอกาสครั้งต่อไป และจะมีการประสานงานทำความเข้าใจมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น