xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีทียันปิด ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีที
ไอซีทีรับปิด “ASTV” ไม่ได้เพราะมีคำสั่งศาลคุ้มครอง ส่วน “ผู้จัดการออนไลน์” ยังไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากจะปิดจริงต้องรอคำสั่ง ผบ.ทบ.เท่านั้น

นายมั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีที กล่าวว่า การปิดเว็บไซต์หรือสถานีทีวีดาวเทียมนั้นต้องได้รับคำสั่งจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เท่านั้น แต่ในเบื้องต้นยังไม่มีคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น กรณีเว็บไซต์ผู้จัดการ หรือแมเนเจอร์ออนไลน์นั้น ก็ไม่ได้มีการสั่งปิดแต่อย่างใด เพราะไม่ได้ทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และไม่ได้มีเนื้อหาที่รุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนการวิเคราะห์ วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองนั้นก็อยู่ในวิสัยที่สื่อสามารถทำได้ ส่วนสถานี ASTV นั้นไอซีทีไม่มีอำนาจสั่งปิดเนื่องจากยังมีคำสั่งศาลคุ้มครองอยู่

“แม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไอซีทีก็ไม่สามารถดำเนินการปิด ASTV เนื่องจากปัจจุบันมีคำสั่งศาลคุ้มครองอยู่ ประกอบกับไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวง ส่วนผู้จัดการออนไลน์ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่ได้ทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และผบ.ทบ.ยังไม่มีคำสั่ง”

นายศราวุธ เพชรพนมพร เลขานุการ รมว.ไอซีที กล่าวว่า ไอซีทียังไม่ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการตามประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และไอซีทียังไม่รู้ขอบเขตหน้าที่ของกระทรวงตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวโดยกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาวิธีการและหน้าที่อย่างละเอียด

“ตอนนี้เรายังไม่รู้ขอบเขตของกระทรวงว่าจะดำเนินการอย่างไรได้ ประกอบกับรัฐบาลยังไม่ได้มีการสั่งการเกี่ยวกับหน้าที่ของกระทรวง”

นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่าหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากจะมีการใช้อำนาจสั่งปิดสัญญาณดาวเทียมและเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และการถ่ายทอดสดรายการ ASTV นั้นขึ้นอยู่กับคำสั่งของฝ่ายทหาร เนื่องจากฝ่ายทหารจะเข้ามามีอำนาจในการดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการควบคุมแบบกว้างๆ ซึ่งก็ควรที่จะทำตามกฎหมายซึ่งก็จะทำให้ทหารมีอำนาจเต็มโดยขณะนี้กำลังปรึกษาหารือและรอคำสั่งจากการประชุมกทช.

นายสมพล จันทรประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจสื่อสารข้อมูล บริษัท กสท โทรคมนาคมกล่าวว่าขณะนี้ กสท ยังไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ดำเนินการปิดเว็บไซต์ใดๆ และยังไม่อยากแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายหนึ่ง กล่าวว่า กรณีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น รัฐบาลหรือทหารสามารถสั่งการให้ปิดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในบางพื้นที่เช่นเดียวกับมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  

อย่างไรก็ดี การจะปิดกั้นสัญญาณโทรศัพท์มือถือในบางพื้นที่นั้นภาครัฐจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนขาดการติดต่อสื่อสารถึงกันโดยตรงซึ่งอาจจะก่อให้เกิดกระแสข่าวลือและนำไปสู่ความปั่นป่วนมากยิ่งขึ้น

“ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลและทหารย่อมมีอำนาจในการสั่งปิดกั้นสัญญาณโทรศัพท์ในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกับ  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การดำเนินการลักษณะดังกล่าวรัฐบาลควรพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมากที่สุด เพราะการปิดกั้นการสื่อสารโดยตรงผ่านโทรศัพท์อาจจะทำให้เกิดข่าวลือเพิ่มความปั่นป่วนมากยิ่งขึ้น”

นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลสามารถสั่งปิดกั้นสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้ แต่รัฐบาลจะต้องสามารถตอบได้ว่าในพื้นที่ดังกล่าวเกิดความวุ่นวายมากขนาดไหน และการปิดกั้นสัญญาณโทรศัพท์ช่วยให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไรประกอบกับการดำเนินการดังกล่าวน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุมากกว่า

อย่างไรก็ดี การจะตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจซึ่งการติดต่อสื่อสารเป็นสาเหตุที่สำคัญในการทำธุรกิจหากขาดการติดต่อสื่อสารไปเพียงชั่วเวลาหนึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจได้ อีกทั้งหากขาดการติดต่อสื่อสารจริงอาจทำให้ประชาชนเดือดร้อนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ

ประกอบกับปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน หากขาดไปอาจส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน และหากมีการปิดกั้นสัญญาณมือถืออาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลย่ำแย่ลง

“การปิดกั้นสัญญาณมือถือในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ แต่จะต้องสามารถให้คำตอบได้ว่าเหตุใดจึงมีเหตุจำเป็นและความรุนแรงจากการติดต่อสื่อสารผ่านมือถือ เพราะการดำเนินการดังกล่าวในพื้นที่ กทม.อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจได้”นายวิเชียรกล่าว  

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายอมรับว่า เอไอเอสมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการติดต่อสื่อสารผ่านมือถือในช่วงที่มีการชุมนุมของพันธมิตรฯ

นายอนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารการสื่อสาร นักวิชาการด้านสื่อสารโทรคมนาคมกล่าวว่า ตามกฎหมายแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจทหารสามารถปิดกั้นสื่อ อย่างสถานี ASTV หรือเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ได้ แต่ต้องหันกลับมาพิจารณาดูว่าสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลควรจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ เพราะตามกฎหมายแล้วจะต้องประกาศใช้เมื่อเกิดการจลาจล หรือเกิดการก่อการร้าย แต่ไม่ใช่ประกาศใช้สำหรับปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

หากรัฐบาลจะทำการปิดสถานีโทรทัศน์ ASTV หรือเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ก็สามารถดำเนินการได้ แต่จะดำเนินการได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีผลให้ปิดกั้นเพียงชั่วคราว แต่เชื่อว่าการปิดกั้นสื่อทั้ง 2 ประเภทจะไม่สามารถดำเนินการได้โดยง่ายเพราะการปิดกั้นสื่อไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับรัฐบาล

ประกอบกับการใช้อำนาจปิดสื่อนั้นเป็นของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ซึ่งได้ระบุชัดเจนภายหลังจากการหารือร่วมกับทหารทั้ง  3 เหล่าทัพ ว่าการปิดกั้นสื่อเป็นเหมือนดาบสองคม ทหารจะยังไม่ดำเนินการปิดกั้นสื่อหากไม่มีเหตุการณ์ที่จำเป็น และพยายามแสดงจุดยืนไม่ให้รัฐบาลเข้ามาก้าวก่ายและประกาศชัดเจนว่าทหารและตำรวจจะยืนอยู่ตรงกลางไกล่เกลี่ยสถานการณ์ความรุนแรงของทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในสังคมไทยไม่มีนักสื่อสารมวลชนลุกขึ้นมาพูดหรือสร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ ทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองต้องนำไปสู่การปิดกั้นสื่อฉะนั้นหากมีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ทัดเทียมสื่อออกไปยังประชาชนแม้จะไม่ได้ผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องรับสื่อ และใช้วิจารณญาณในการบริโภคสื่อได้ดียิ่งขึ้น

Company Related Links :
MICT
NTC
Cattelecom
กำลังโหลดความคิดเห็น