xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ พบสื่อเดินหน้าปฏิรูปช่อง 11

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปรับฟังความคิดเห็นขององค์กรวิชาชีพสื่อที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมบรรยายเรื่อง “นโยบายและการผลักดันปฏิรูปสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์” โดยกล่าวว่ารัฐบาลชุดนี้มีแนวคิดที่จะปฏิรูปรูปแบบของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีให้กลับมาเป็นสถานีสาธารณะ พร้อมระบุว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่แทรกแซงการทำงานของสื่อ

วันนี้ (13 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสื่อของรัฐ ได้เดินทางไปรับฟังความคิดเห็นขององค์กรวิชาชีพสื่อที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนองค์กรวิชาชีพทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เข้าร่วมเสนอความคิดเห็น โดยนายอภิสิทธิ์ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายและการผลักดันปฏิรูปสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์” ว่า ความสำคัญของการปฏิรูปสื่อมีความสำคัญ 2 ประการ เพราะ

1.ในเชิงของสภาวะแวดล้อมของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นโลกของข้อมูลข่าวสาร หากย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนเหมือนคนละโลก เพียงแค่ 10 ปี หรือ 20 ปีก็สัมผัสความแตกต่างที่สื่อมีต่อประชาชน ได้ย้ำเสมอว่าบทบาทของสื่อในการหล่อหลอมและสร้างค่านิยมให้กับคนมากกว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหรือครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มเยาวชน เพราะเป็นโลกของคนวัยเหล่านี้ หลายสิ่งเป็นค่านิยมที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมีอิทธิพล

2.สื่อมีบทบาทอย่างสำคัญในการนำสังคมกลับคืนสู่ความเป็นปกติให้มากที่สุด เพราะความขัดแย้งทางสังคมเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศตั้งแต่ต้น อย่างน้อยที่สุดการนำบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ตนเชื่อว่าบทบาทของสื่อมีความสำคัญมาก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพบนหลักการของวิชาชีพและมืออาชีพในการสะท้อนข้อมูลข่าวสาร เสนอความเห็นมุมมองต่างๆ ต่อประชาชน การปฏิรูปสื่อต้องดูโครงสร้าง ถ้าไม่แก้โครงสร้าง ผู้ทำงานหรือผู้ปฏิบัติงานก็ประสบกับความยากลำบาก ในการทำงานให้ตรงไปตรงมาในการเสนอความคิดต่อสังคม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่คุกคามการทำงานของสื่อคืออำนาจรัฐและอำนาจทุน อำนาจรัฐเกิดจากความพยายายามหรือความเชื่อว่าเมื่อยุคสมัยนี้เป็นสงครามข้อมูลข่าวสาร ใครสามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารก็สามารถชนะในการต่อสู้ จึงเอาสื่อมาเป็นเครื่องมือ ทำให้เป็นปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะสื่อของรัฐ ส่วนอำนาจทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ไปอยู่ในที่เดียวกันกับอำนาจรัฐ ยิ่งทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น เกิดการกดดันผ่านทุน แม้สื่อจะมีความคิดเชิงอุดมคติ แต่สื่อสารมวลชนก็คือธุรกิจ หนีความจริงได้ยาก การใช้อำนาจทุนในการกดดันเกิดผลกระทบเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าไปแทรกแซงหรือบิดเบือน

ดังนั้น มาตรการสำคัญๆ เราจะต้องมาดูทั้งอำนาจรัฐ และอำนาจทุน ในส่วนของอำนาจรัฐ คือ กฎหมายบางอย่างที่จะเอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนสิทธิเสรีภาพของสื่อต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เช่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ในฐานะที่เป็นคนเสนอกฎหมายเมื่อสิบสองสิบสามปีที่ผ่านมา ก็พบความจริงว่ากฎหมายไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ วันที่มีการเสนอกฎหมายนั้นฝ่ายตรวจสอบไม่มีทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ฝ่ายค้านทำงานต้องใช้วิธีการแนวทางอื่น ตนไม่เห็นว่ากฎหมายนี้ใช้ได้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายนี้ล้ำหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 เพราะทำไว้ก่อน หากกฎหมายนี้เกิดทีหลังก็จะไม่เป็นปัญหา

ทั้งนี้ ถ้าเริ่มต้นจากการทำให้ข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นสิทธิของประชาชนที่จะต้องรับรู้ ยกเว้นเหตุผลเฉพาะตามกฎหมาย และการปฏิรูปสื่อให้เข้มแข็ง ดีกว่าต้องมาตรวจสอบบนกฎหมายที่คิดว่าเป็นนโยบายที่สำคัญที่ต้องผลักดันคือกฎหมายในแง่โครงสร้างสื่อของรัฐคือกฎหมายว่าด้วยวิทยุและโทรทัศน์และองค์กรกำกับ คือ กสทช.เพราะเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2542-2543 มีปัญหามาตั้งแต่ต้น เพราะสื่อวิทยุและโทรทัศน์ไปพันกับกิจการโทรคมนาคม มีความเห็นเป็นสองฝ่ายว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ แต่สำหรับตนเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน วันข้างหน้ามีความยากมากว่าจะดูเป็นสองเรื่องได้อย่างไร เช่น บริการข้อความสั้นที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถสรุปเรื่องยาวๆ ให้สั้น เวลาอ่านแล้วรู้สึกตกใจและอันตรายมาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า องค์กรกำกับเกิดได้ยาก จะเอาองค์กรไหนมากำกับ ช่วงที่เป็นฝ่ายค้านตนก็ไม่เห็นกับกระทรวงไอซีที เพราะไม่มีหลักประกัน จึงต้องหาความพอดี ที่ผ่านมาจะเห็นว่าถ้าได้เร็วเราก็ได้กรรมการไม่ดี ถ้าจะได้คนดีมาเป็นกรรมการก็มีการร้องเรียนกันไปมา จึงได้มอบโจทย์ให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปหาความพอดีและอิสระ อย่าทำให้เรื่องยุ่งยากหรือเกิดการร้องเรียนจนไม่มีกรรมการทำงานได้ ประการถัดมาก็มีความเป็นห่วงเรื่องหลักประกันของสื่อบางประเภท เช่น สื่อชุมชนหรือสื่อเชิงสาธารณะ ที่ผ่านมากฎหมายของรัฐบาลก่อนไม่ได้กำหนดสัดส่วนเอาไว้ จึงควรจะมีสัดส่วน เพื่อเป็นหลักประกันในการกระจายสื่อ บางเวลาต้องมีสาระสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อของใคร

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราคิดว่าปล่อย ที่สุดคือประชาชนอาจจะไม่ได้มีโอกาสซึมซับบางเรื่อง เพราะประชาชนจะหนีรายการที่มีสาระ แต่อะไรที่เป็นเนื้อหาสาระก็ควรมี แต่ไม่ใช่มีสาระเพียงหนึ่งหรือสองแล้วปล่อยให้เป็นเรื่องธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่จะสนับสนุน แต่สำหรับสื่อของรัฐต้องมีการเปลี่ยนแปลง เดิมเราคิดว่าถ้าให้ไอทีวีเดิมเป็นทีวีเสรีแล้วเปลี่ยนช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์เป็นทีวีสาธารณะ ช่อง 11 จึงอยู่ในฐานะที่ต้องมาคิดกันว่าจะมีรูปแบบใด แต่ความจริงอยากเป็นรูปแบบสาธารณะ อย่างไรก็ตาม พื้นที่สำหรับราชการหรือรัฐต้องมีเพื่อการชี้แจง แต่ไม่ใช่นำไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง
 
แม้เส้นแบ่งอาจจะยาก แต่โดยสำนึกแล้วสามารถแบ่งได้ การทำงานคือการอธิบายชี้แจงถึงมาตรการที่ได้ผลักดันออกไปว่าทำด้วยอะไร ใช้เหตุผลอะไร ใช้เพื่อทำลายคู่แข่งในทางการเมืองไม่ได้ ส่วนเวลาสำหรับฝ่ายค้านก็ควรมี แม้จะเป็นการเมืองมาก เพราะฝ่ายค้านมีหน้าทีตรวจสอบ แต่อยากให้เป็นเชิงแลกเปลี่ยนในมุมมองของนโยบาย ไม่ใช่ตอบโต้กันทางการเมือง เพราะสามารถใช้พื้นที่การนำเสนอข่าวได้ทุกวันอยู่แล้ว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ตนอยากเห็นกฎหมายคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ แต่พบว่ากฎหมายเช่นนี้มักจะถูกแปลงสารไปเป็นกฎหมายควบคุมสื่อ และอยากทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อ อะไรที่คุ้มครองคนทำงานที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เมื่อเจออำนาจรัฐอำนาจทุนรัฐจะดูแลคุ้มครองเขาได้อย่างไร ถือเป็นสัญญาณที่สำคัญเพื่อให้สื่อมีหลักประกันที่ดีมากขึ้นในการเป็นอิสระ แต่รายละเอียดไม่อยากให้การเมืองเข้าไปยุ่ง มีการประเมินเป็นระยะๆ ว่าบทบาทของสื่อควรจะเป็นอย่างไร เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปตามเป้าหมายและอุดมการณ์

และสำหรับข่าวโทรทัศน์วันนี้ที่มีการคุยข่าวไปเรื่อยๆ เป็นอันตราย แม้ข้อดีคนจะได้มีความเพลิดเพลิน แต่อันตรายของการคุยข่าว คือ การชี้นำ เพราะไม่เหมือนกับการอ่านข่าวหรือประกาศข่าวอย่างที่เราเห็นในอดีต “ถ้าคุยอย่างเดียวไม่มีข่าวก็น่าเป็นห่วง เพราะมีการชี้นำตั้งแต่คำพูดไปจนถึงสีหน้าที่เราสัมผัสอยู่ทุกวัน แต่ก็ไม่อยากให้รัฐเข้าไปยุ่ง องค์กรวิชาชีพควรเอาปัญหานี้มาพูดคุยกัน ความพอดีและมาตรฐานควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในสภาวะความขัดแย้งอย่างนี้ ตนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อ แต่เวลาและสถานการณ์ที่ไม่ปกติมีความขัดแย้งสูง ต้องช่วยกันคิดกันทำว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยไม่บิดเบือนความจริง ทำอย่างไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนที่มีวาระในเชิงการเมือง ซึ่งสื่อรู้ดีกว่าถ้าสื่อเสนอข่าวแต่คนกัดหมา คนกัดหมาก็จะเป็นเรื่องปกติ หมากัดคนไม่มี การช่วงชิงพื้นที่สื่อคือยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองก็คือการทำให้ผิดปกติมากที่สุด ถ้าสื่อเสนอแต่ความไม่ปกติ นับวันสังคมก็จะเสพแต่ความไม่ปกติของสังคม ประวัติการทำงาน 17 ปี ตนไม่เคยคุกคามสื่อ อาจจะตอบโต้เวลาไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ใช้น้อยมาก จะพยายามรักษาแนวทางนี้ไว้ การถูกตำหนิวิจารณ์ต้องมีแน่นอน เพราะเข้าใจดีว่าโลกมีความสลับซ้อน

ช่วงท้ายตัวแทนสื่อได้ถามคำถามและเสนอความคิดเห็นต่อนายกรัฐมนตรี โดยนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการอำนวยการเครือมติชน ได้สอบถามถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ต้องดูตามความเป็นจริงว่าจะจัดการอย่างไรโดยไม่เสียหลักการ หน่วยงานราชการได้ประโยชน์หรือไม่ คลื่นที่มีอยู่ใช้เพื่อความมั่นคงหรือไม่ เพราะทุกวันนี้เนื้อหาไม่ใช่ เหมือนกับส่วนราชการต่างๆ นำไปครอบครองมีความเป็นธุรกิจมากขึ้น หากดึงกลับมาอยู่ในกรอบจะมีการชดเชยให้อย่างไร เราไม่ต้องการเห็นผลกระทบ ส่วนวิทยุชุมชนกฎหมายก็ยังมีความสับสน

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา อดีตผู้ประกอบวิชาชีพด้านวิทยุ กล่าวว่า ภายใน 6 เดือนจะมีความชัดเจนเรื่องคลื่นความถี่หรือไม่ และต้องการให้นายกฯไปดูคณะอนุกรรมการจำนวน 22 คนที่มีอำนาจในการจัดการเรื่องเคเบิล ทีวีดาวเทียม รัฐบาลจะทำให้สำเร็จหรือไม่ สถานีเอ็นบีทีและกรมประชาสัมพันธ์ควรจะมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพราะก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดให้ยุบเป็นเพียงหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐเท่านั้น โดยรัฐบาลสามารถปฏิรูปได้โดยการออกพระราชกฤษฎีกาหรือพระราชบัญญัติได้ จึงอยากให้ตั้งคณะกรรมการและทำให้แล้วเสร็จ

ด้านนายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การแพร่ภาพและกระจายสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชีวิตส่วนตัวของนายกฯ เป็นอย่างไรระหว่างเส้นแบ่งความเป็นนายกฯและความเป็นส่วนตัว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เข้าใจธรรมชาติของสังคมและสื่อ จึงพยายามกำหนดเส้นแบ่ง สิ่งแรกที่บ้านตนเล็กมาก ถ้าสื่อมาเฝ้าบ้านตนก็ไม่มีที่อยู่ อย่างไรก็ตาม ความเป็นส่วนตัวทุกวันนี้มีความพอใจ อาจะมีการส่งคนมาดูว่าออกจากบ้านไปหรือยัง ก็ถือว่าไม่กระทบ แต่ครอบครัวภรรยาและลูกๆ ไม่ประสงค์อยากเป็นข่าว หรือเป็นบุคคลสาธารณะไปด้วย แต่บางโอกาสเลี่ยงไม่ได้ เช่น ไปเลือกตั้งก็มีการสัมภาษณ์ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ อยากอยู่แบบนี้

ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้สอบถามเรื่องกฎหมายวิทยุชุมชุมเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม จะสามารถใช้กฎหมายคลี่คลายปัญหาที่เรื้อรังได้หรือไม่ ซึ่งนายกฯกล่าวว่า ให้ทำความเห็นมายังตน เพราะตนก็เป็นนักหมายเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมามีมุมมองที่ผิดพลาดแล้วกลายเป็นบรรทัดฐานขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าหนักใจ ส่วนเรื่องเคเบิลทีวียังค้างอยู่ที่ศาลปกครอง เมื่อตัดสินออกมาก็จะเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่ง

นายกฯ กล่าวด้วยว่า สถานีโทรทัศน์อาจจะมีรายการเฉพาะได้ เช่น กีฬา ดนตรี แต่การมีสื่อที่ชัดเจนว่าใครอยู่ข้างไหนก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้สังคมกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อาจจะอยู่คนละมุมได้ แต่ถ้าอยู่คนละโลกก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องหนักใจ ทั้งนี้เชื่อว่าการเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่ออาจจะทำได้ไม่ทันสมัยประชุมทั่วไป แม้จะเสนอทันแต่ก็ไม่อาจจะพิจารณาทัน จึงคาดว่าสมัยประชุมนิติบัญญัติที่ 2 ที่จะไปสิ้นสุดในเดือนธันวาคมน่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา
ประชาชนเดินทางมามอบดอกไม้ ให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี



คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี














กำลังโหลดความคิดเห็น