xs
xsm
sm
md
lg

"เพ็ญ"ปิ๊งข้อหารับใช้เผด็จการ รองรับความชอบธรรมสั่งเด้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวการปลดนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พ้นตำแหน่ง ว่า ขณะนี้มีข่าวลือมากเกี่ยวกับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะที่ตนมากำกับดูแลงานด้านนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะต้องมาแสดงอำนาจบาทใหญ่ที่เกี่ยวกับข้าราชการประจำ และไม่ได้คิดว่าการโยกย้ายข้าราชการประจำเป็นการแสดงการทำงานของฝ่ายการเมืองแต่อย่างใดเลย
"แต่ผมจำเป็นจะต้องพิจารณาดูว่า ข้าราชการประจำตำแหน่งใด ไม่เฉพาะท่านอธิบดีเท่านั้นที่สามารถจะวางตัว และทำงานสอดคล้องต่อกรอบนโยบายใหม่ได้หรือไม่ เป็นการปรับคนกับงาน ถ้าหากจะมีเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในขั้นนี้ยังไม่มีดำริ และยังไม่มีการพิจารณาเกี่ยวกับตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลง หรือว่าเป็นการนำคนใน หรือคนนอกเข้ามาก็ตาม เพราะฉะนั้นในตอนนี้ก็ให้สบายใจได้ในขั้นหนึ่งครับ" นายจักรภพ กล่าว
นายจักรภพ กล่าวด้วยว่า ตนจะดำเนินการตามผลการประเมินว่า สามารถทำตามนโยบายได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องอดีต ไม่ใช่เรื่องปัจจุบัน แต่ยอมรับว่าปัจจัยเรื่องการสนับสนุนเผด็จการ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการพิจารณา เพราะนี่คือรัฐบาลประชาธิปไตย ก็มีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคนั้นด้วย เพียงแต่ว่า อะไรคือเกณฑ์อะไรคือผลการประเมินว่าตรงไหนคือเชื้อโรค จะต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งที่จะบอกกล่าวต่อไป
เมื่อถามว่าจะใช้เวลาในการประเมินเท่าใด นายจักรภพ กล่าว "น่าจะไม่เกิน 1 เดือนนี้ครับ ในส่วนของตำแหน่งนี้ และผมจะใช้เกณฑ์ในการพิจารณาทุกตำแหน่งที่ผมดูแล แต่ว่าถ้านำมาสู่การเปลี่ยนแปลงจริงก็จะต้องแจ้งให้ทราบว่า มันเกิดอะไรขึ้น อาจจะไม่ใช่เหตุผลนี้ก็ได้" นายจักรภพ กล่าว ส่วนจะเข้าตาหรือไม่เข้าตานั้น เรื่องนี้ตนเขียนไว้แล้วไม่ต้องใช้เวลาดูเพิ่มเติม เพียงแต่ใช้เวลาในการดูการทำงานในระยะเฉพาะหน้าไปก่อน
นายจักรภพ กล่าวว่า เรื่องของกรมประชาฯ เป็นเรื่องที่ต้องดูแลมาก เพราะหลายประเด็นของกรมประชาฯยังไม่สะเด็ดน้ำ และเป็นเรื่องที่เกิดเป็นประเด็นขึ้นมา และค้างคาอยู่อย่างนั้น เช่น วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม เคเบิลท้องถิ่น ช่อง 11 จะปฎิรูปหรือไม่ อย่างไร เหล่านี้เป็นสิ่งที่คาอยู่ และไม่มีการสานต่อ ตนก็ต้องไปพัฒนาสิ่งเหล่านี้ และการสานต่อก็คือการสานต่อจริงๆ อะไรที่ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ ก็ไม่ต้องเริ่มต้นให้เสียเวลา เรื่องช่อง11 ตนได้ให้สัมภาษณ์ไปบ้างแล้วว่า ตนจะไปดูที่ เอสดียู ว่าที่รัฐบาลชุดก่อนรัฐประหารทำไว้ ตอน รมต. สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ดูแลอยู่ตอนนั้นทำไว้ตรงไหน ค้างไว้อย่างไร หากไปต่อได้ให้ไปสู่ได้ สู่การปฎิรูปช่อง 11 ตามนโยบายของนายกฯ ตนก็อาจจะไปทางนั้นบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะเก็บทางเลือกอย่างอื่นเอาไว้สำหรับการปฎิรูป ความจริงมีงานใหญ่หลายงานที่จะต้องทำเกี่ยวกับวงการสื่อฯแต่ไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการสร้างเวทีใหม่ๆ และพัฒนาเวทีให้มีความทันสมัยและมีความสมบูรณ์สำหรับที่สื่อฯจะไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ
เมื่อถามว่าแสดงว่าคนที่ถูกเปลี่ยนแปลงนั้น หมายถึงคนที่รับใช้เผด็จการมาตลอด ใช่หรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่าไม่จำเป็น แต่หมายความว่า ตนจะใช้เกณฑ์นั้นพิจารณาในทุกตำแหน่ง แต่ว่าถ้านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริง ก็ต้องแจ้งให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น อาจจะไม่ใช่เหตุผลนี้ก็ได้
เมื่อถามถึงการที่พรรคฝ่ายค้านเสนอให้ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กลับมาจัดรายการวิทยุเหมือนเดิมเพื่อลดข้อครหาว่ารัฐบาลแทรกแซงสื่อ นายจักรภพ กล่าวว่า บังเอิญตนไปออกตัวแรงไปหน่อย เลยทำให้คนเกิดการเกรงกัน แล้วก็วิพากษณ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา จริงๆ แล้วมันเป็นการต่อเรื่องกันไปเอง ทั้งนี้เรื่องของการต่อเรื่องกันไปเอง ทั้งเรื่องของอาจารย์เจิมศักดิ์ ซึ่งตนก็ได้ชี้แจงไปแล้ว ก็คงไม่ต้องพูดให้มันยาวขึ้นอีก และเรื่องของการจัดระบบสื่อ แล้วคนไปพูดเพี้ยน เป็นจัดระเบียบ ซึ่งเหมือนจะเข้าไปคุม ซึ่งไม่ใช่เจตนาของตนเลย แล้วก็เลยมาถึงเรื่องของตำแหน่งบางตำแหน่ง เช่น อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
"เหล่านี้ไม่ควรลากมาต่อเป็นเรื่องเดียวกัน ความจริงมันคนละเรื่องเดียวกัน คือ มันเกี่ยวกับสื่อด้วยกัน แต่มันเป็นคนละการพิจารณา คำตอบก็คือว่า ผมไม่ได้มีธงเกี่ยวกับอาจารย์เจิมศักดิ์ หรือใครทั้งสิ้น ว่าจะจัดรายการ หรือไม่จัดรายการ ก็เป็นเรื่องของกลไกการทำงานในเชิงสื่อสารมวลชน ที่จะไปว่ากันเอง ก็ผมบอกไปแล้ว ได้แถลงกับสื่อมวลชนบ้างว่า ผมเองมีทัศนะส่วนตัวเหมือนกับคนทั้งหลาย ผมไม่ได้เห็นว่ารายการอาจารย์เจิมศักดิ์ มีประโยชน์มากกว่าคนอื่น และไม่ได้เห็นว่ามีโทษมากกว่าคนอื่น ที่สำคัญ ก็ไม่ใช่หน้าที่ที่ผมจะเข้าไปตัดสิน สังคมต้องตัดสินเอง เพียงแต่ว่าถ้ามี เจิมศักดิ์ 1 ได้ก็อยากให้มี เจิมศักดิ์ 2 3 4 5 6 ไปเรื่อยเพื่อให้เกิดความสมดุลในแง่ของข้อมูลข่าวสาร" นายจักรภพ กล่าว
เมื่อถามว่าแต่ในส่วนของเจ้าของคลื่นที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเองก็คงจะไม่กล้าจ้างคนมานั่งพิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพราะกลัวว่าจะส่งผลต่อการต่ออายุสัมปทาน นายจักรภพ กล่าวว่า มันไม่มีอย่างนั้นหรอก คือถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นขนาดนั้นไม่รอดสายตาสื่อมวลชนหรอก แล้วก็จะมองเห็นภาพต่อเนื่องกันเลย คือ ขณะนี้ต้องทราบว่าโจทย์มันเปลี่ยน ในวงการสื่อสารมวลชน ในเรื่องของการทำรายการโทรทัศน์ วิทยุ และรับสัมปทานต่างๆ ต่อไปจะมีมากจนกระทั่งไม่มีคนทำ ฉะนั้นเราอย่าห่วงเลยว่า ใครจะได้สิทธิในการทำ แต่ควรเป็นห่วงว่า จะไม่มีคนเพียงพอที่จะมาทำงาน

**TPBSไม่หวั่นการเมืองแทรก
เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (20ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเซีย ได้มีการจัดสัมมนาเรื่อง "TPBS อำนาจแห่งประชาชน: การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน" จัดโดยนักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเซีย
นายเกษม จันทร์น้อย คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ได้กล่าวตอนหนี่งของการเปิดสัมมนาว่า นอกจากจะเชิญ นายขวัญสรวง อติโพธิ และนายเทพชัย หย่อง เป็นผู้ร่วมสัมมนาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังได้เชิญนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาร่วมสัมมนาด้วย แต่ทางรัฐมนตรีแจ้งว่า ถ้ามาเกรงว่าจะทำให้บรรยายเสีย และวิทยากรทั้งสองจะได้พูดได้เต็มที่
จากนั้นเป็นการเข้าสู่การสัมมนา โดยนายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานคณะกรรมการนโยบายไทยบีพีเอส กล่าวว่า หากจะพูดถึงโทรทัศน์สาธารณะกับสังคมไทย ทีวีสาธารณะเหมือนลานสนามเด็กเล่นที่ให้ผู้คนเข้ามาพบปะ ใช้ชีวิตสังคมร่วมกัน เป็นธุรกิจส่วนรวมไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เวลานี้บ้านเมืองกับโลกเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม ที่เราต้องหาคำตอบให้กระจ่างชัด ในส่วนของการจัดทำผังรายการนั้นทางคณะกรรมการฯได้เดินสายไปพบปะกับประชาชนผู้รู้แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุงเป็นรายการ
ด้านนายเทพชัย หย่อง รักษาการผู้อำนวยการสถานีไทยพีบีเอส กล่าวว่า แม้ว่าคณะกรรมการชั่วคราวฯทั้ง 5 คน จะหมดวาระลง แต่หัวใจคือ ทีวีสาธารณะ เรามีหน้าที่ดูแลให้เดินหน้าได้ และส่งไม้ต่อให้กับคณะกรรมการถาวร ซึ่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชนได้ดีที่สุด ว่าสื่อมีจุดยืนหรือหลักการในการทำหน้าที่จริงหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ปกติใครก็สามารถอ้างได้ว่าตัวเองมีจุดยืนในการทำหน้าที่ แต่ถ้าสื่อทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 14 ตุลาอย่างแน่นอน เพราะถ้าสื่อทำหน้าที่เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ประชาชนจะรู้ว่าใครทำอะไร หรือใครไม่ดีอย่างไร แต่เพราะสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนั้น ทำให้ประชาชนเกิดความอึดอัดใจจนสุดท้ายทนไม่ไหว จนต้องออกมาเผชิญหน้า
"หลายคนมีความกังวลว่า รัฐบาลใหม่จะเข้ามาแทรกแซงนั้น ผมมองว่าคนที่มีอำนาจมักเชื่อเสมอว่าการครอบงำข่าวสารจะอยู่ได้นานๆ เช่น ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่ผู้นำไทยพยายามเลียนแบบอยู่เสมอ แต่ผมไม่ห่วงว่าใครจะมาแทรกแซง หากเขาเห็นคุณค่าของการมีทีวีสาธารณะดีๆ สักช่อง ไม่ใช่เพื่อคนที่เข้ามาบริหารหรือเพื่อตัวเอง แต่เพื่อประชาชนทั้งประเทศ จะได้มีรายการหรือสารคดีที่ดี ซึ่งหากจะเข้ามาแทรกแซงในเนื้อหาคงยาก เพราะพวกผมมีจุดยืนที่ชัดเจน เป็นทีวีสาธารณะที่ประชาชนหวังพึ่งพา และคณะกรรมการชั่วคราวฯทั้ง 5 คน คงจะรับการแทรกแซงไม่ได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าไทยพีบีเอส จะเป็นของรัฐ แต่การบริหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐเหมือนกับช่อง 11 ที่การทำงานขึ้นอยู่กับผู้บริหาร" นายเทพชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น